รายงาน กสม.สะเทือน‘ทักษิณ’ จับตาพ้นโทษ แต่ไม่พ้นคดีความ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ขออนุญาตศาลไปดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อพบหมอรักษาโรคประจำตัว และพบบุคคลสำคัญเพื่อพูดคุยธุรกิจส่วนตัว ระหว่างวันที่ 1-16 ส.ค. ไว้ว่า เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ตัวเอง จึงหลบไปตั้งหลัก?

เพราะโรคที่ ทักษิณ เป็นสามารถรักษาได้ในประเทศไทย เหมือนที่ศาลระบุเอาไว้ ขณะที่การพบปะบุคคลสำคัญสามารถนัดในประเทศไทยได้

ทักษิณ ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น และหากจะไปจริงๆ เหตุใดไม่อดทนรอ เพราะอีกไม่กี่วันจะได้พ้นโทษ เป็นอิสระ ในวันที่ 31 ส.ค.นี้

การขออนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตครั้งนี้ จึงถูกมองไปในมิติทางการเมืองมากกว่า

หากเป็นสมมุติฐานที่ว่า "ทักษิณ" ขอหลบไปตั้งหลักที่ดูไบ ย่อมแสดงว่า "ทักษิณ" กำลังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของตัวเอง  

หากดูคดีที่ยังเป็นชนักปักหลัง และสร้างความไม่มั่นใจ น่าจะเป็นกรณีอัยการนัดส่งตัว ทักษิณ คดี ม.112 ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ ซึ่ง "ทักษิณ" ระบุว่า จะกลับมาอย่างแน่นอน

แต่ด้วย "ทักษิณ" เคยหลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วครึ่งหนึ่ง จึงไม่มีใครเชื่อคำพูดนัก 

ในวันที่ 18 ส.ค.นี้ สิ่งที่น่ากลัวสำหรับ "ทักษิณ" คือการไม่ได้ประกันตัว แต่หากดูคดี ม.112 อื่นๆ ในระยะหลัง มักได้ประกันตัวออกมาสู้คดี

ยิ่งเป็น "ทักษิณ" น่าจะได้รับประกันตัวเช่นกัน เพราะมีหลักแหล่งชัดเจน เว้นเสียแต่ว่า "ทักษิณ" กลัวว่าใครบางคนจะกลั่นแกล้งให้นอนคุก

อย่างไรก็ดี นอกจากคดี ม.112 แล้ว อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "ทักษิณ" คือกรณีเข้ารับการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ

โดยเฉพาะผลการตรวจสอบของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่สรุปว่า การที่ ทักษิณ ได้รักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน

 “การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

อีกทั้งยังระบุว่า "การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)"

โดยทราบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

แน่นอนว่า กสม.มีแค่อำนาจตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจลงโทษ เรื่องจึงส่งต่อไปยัง "ป.ป.ช." ขณะที่องค์กรปราบโกงเด้งรับข้อมูลของ กสม.เพื่อจะไปพิจารณากับคำร้องที่มีการกล่าวหาอยู่แล้ว

ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ผิดอย่างเดียว แต่หากผลการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ออกมาว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติจริง ระยะเวลา 181 วันที่ น.ช.ทักษิณ นอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจจะเป็นอย่างไร จะถูกนับหรือไม่ถูกนับว่าเป็นการถูกคุมขังหรือไม่ หรือต้องนับหนึ่งใหม่?

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เคยยื่นต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมาย วิ.อาญา มาตรา 246 โดยเคร่งครัด ในการทุเลาการบังคับโทษจำคุก น.ช.ทักษิณ

โดยสาระสำคัญของข้อกฎหมาย ป.วิ.อาญา ม.246 (2) คือ กรมราชทัณฑ์จะต้องทำรายงานขออนุญาตต่อศาล รวมทั้งต้องทำเรื่องขอให้ศาลทุเลาโทษจำคุก โดยให้รักษาตัวให้หายจากอาการป่วยเสียก่อนแล้วค่อยกลับมารับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลต่อไป

เท่ากับ น.ช.ทักษิณไม่เคยรับโทษจริง ต้องกลับเข้าไปนอนในคุกให้ครบ 1 ปี  ซึ่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ เคยพูดตอกย้ำเสมอว่า ทักษิณขัดพระบรมราชโองการ!

เรื่องนี้อาจมองได้ว่ามาจากฝ่ายตรงข้ามที่พยายามจะเล่นงาน "ทักษิณ" ต่อ แต่หากผลการไต่สวนของ ป.ป.ช.ออกมาเป็นไปตามที่ กสม.สรุป ประเด็นชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จะไม่จบทันที

 หาก "น.ช.ทักษิณ" ไม่ได้ป่วยจริง และได้รับอภิสิทธิ์ โดยมีหลักฐานยืนยันหลายอย่าง จะถือเป็นเรื่องสั่นสะเทือนทางการเมืองไทยอีกครั้ง

ยิ่งในระยะหลังมีข่าวฝ่าย อนุรักษนิยม ไม่พอใจการเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ที่ล้ำเส้น โดยเฉพาะการไปพูดในวงภายในหลายแห่งในลักษณะที่มิบังควร! 

อีกทั้งยังมองว่า ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถต่อกรกับ ก๊วนปฏิปักษ์สถาบัน-พรรคก้าวไกล ได้แล้ว จึงจะเปลี่ยนตัวละครเล่นมาเป็น ค่ายสีน้ำเงิน-พรรคภูมิใจไทย แทน จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อ "ทักษิณ’ ได้ 

วันนี้โจทก์และศัตรูของ ทักษิณ ยังดำรงอยู่ แม้จะไม่มีพละกำลังมากมายก็ตาม แต่ตราบใดที่ "ทักษิณ" ยังอยู่ในประเทศไทย และมีคดีความ ก็ไม่มีวันไหนที่จะรู้สึกปลอดภัยได้เช่นกัน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เทพไท' กระจ่าง! ขอบคุณกรมคุก แจงวิธีนับวันพักโทษ 'ทักษิณ'

ภายหลังกรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสารชี้แจงการคำนวณวันพักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช

'ราชทัณฑ์' ร่อนเอกสารแจง นับวันพ้นโทษ 'ทักษิณ' 31 ส.ค. 67 ถูกกม.เป๊ะ

'กรมราชทัณฑ์' แจงปมนับวันพ้นโทษ 'ทักษิณ' 31 ส.ค. 67 ยันคำนวณถูกตามกฎหมาย เหตุเริ่มนับจากวันที่ได้อภัยลดโทษ พร้อมเคลียร์วันพักโทษ หลัง 'เทพไท' ทวงถามความรับผิดชอบ

ก้าวไกลยุบ-ไม่ยุบ โดมิโนการเมืองที่ตามมา ศิริกัญญา-ณัฐพงษ์เสี่ยงถูกสกัด!

นับถอยหลัง อีกแค่ไม่กี่อึดใจก็ได้รู้ผลกันแล้วว่า “พรรคก้าวไกล” จะเป็นฝายกำชัยชนะหรือจะตกเป็นผู้แพ้คดี ในคำร้องคดียุบพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกลาง ในวันพุธที่ 7 ส.ค.นี้

เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14 

เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

วุ่นๆก่อนชี้ชะตา ‘เศรษฐา’ ‘เสี่ย’ พอได้ ‘ลุง’ พอแล้ว ‘นายใหญ่’ ไม่ยอม

นโยบายเรือธงเพื่อไทย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เริ่มนับหนึ่งกันไปแล้ว หลังเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และลงทะเบียนกันไปวันแรกเมื่อ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา