เริ่มแล้ว! อย่างเป็นทางการสำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โครงการ เรือธง ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เปิดให้ประชาชนได้ลงทะเบียนวันแรก 1 สิงหาคม 2567 ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
หลังจากก่อนหน้านี้รัฐบาลต้องฝ่าฟันหลายมรสุมรอบด้าน ทั้งขั้นตอนทางกฎหมาย และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเส้นทางแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาแจกประชาชน หรือเรื่องการได้ไม่คุ้มเสีย หลายฝ่ายหวั่นเรื่องการเพิ่มภาระหนี้ล้น แต่กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไม่ได้ จนถึงขั้นมองกันว่าโครงการอาจจะล่มก็เป็นได้
แต่ทว่ามาถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลแจกแน่ 10,000 บาทเข้ากระเป๋าประชาชนแน่นอน โดยก่อนเริ่มวันแรกให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ นายเศรษฐา ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้พูดคุยกลางดึกกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้กำชับดูแลเรื่องระบบให้ดี และเน้นย้ำเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงว่ามีการเปิดระบบให้ลงทะเบียนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว
และถึงแม้ในวันแรกจะมีความขลุกขลักในเรื่องระบบล่มตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะมีการเซตระบบเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมก่อนแล้วก็ตาม แต่พบว่าวันลงทะเบียนแอปพลิเคชันทางรัฐยังมีปัญหาโหลดช้า ลงทะเบียนไม่สำเร็จ หรือระบบไม่สามารถใช้งานได้ชั่วขณะ เพราะประชาชนแห่ลงทะเบียนพร้อมกัน เพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรก ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ที่เริ่มคิกออฟเปิดให้กลุ่มประชาชนที่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนรับสิทธิ์ พบมีผู้ลงทะเบียนแล้วถึงประมาณ 4 ล้านคน ส่วนยอดลงทะเบียนจนถึงเวลา 14.00 น.ของวันที่ 1 สิงหาคม มียอดลงทะเบียนรวมแล้วกว่า 10.5 ล้านคน
ทั้งนี้ได้รับการยืนยันจากขุนคลังอย่าง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ว่า ที่ประชาชนลงทะเบียนไม่สำเร็จ ระบบไม่ได้ล่ม แอปทางรัฐสามารถเข้าใช้ได้ตลอด แต่เพราะมีคนเข้าลงทะเบียนทำให้มีการโหลดพร้อมๆ กันทำให้มีอาการสะดุด แต่แอปทางรัฐไม่ได้ล่มแน่นอน
โดยในช่วงเปิดลงทะเบียนระหว่าง 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังยังได้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามปัญหาของประชาชน อีกทั้งยังมีศูนย์บริการ ศูนย์ไอทีของชุมชนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทั่วประเทศ และเบอร์สายด่วน 1111 ให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้หากพบปัญหาในการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล
และสำหรับการลงทะเบียนวันแรกของโครงการ ต้องยอมรับว่ารัฐบาลได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด ถือว่าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการลงทะเบียนจะเปิดไปต่อเนื่องรวม 45 วัน จนถึงวันที่ 15 กันยายน เป็นวันสุดท้ายในกลุ่มผู้มีสมาร์ทโฟน
แต่ทว่าระหว่างทางจากนี้ปัญหาและข้อสงสัยต่างๆ ของประชาชนได้เริ่มผุดขึ้นมาเรื่อยๆ โดยอีกปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ การใช้เงินดิจิทัลข้ามจังหวัด หลังรัฐกำหนดให้ใช้จ่ายในรัศมีอำเภอที่ประชาชนมีชื่อในทะเบียนบ้าน
ทำให้เกิดปัญหาในกลุ่มประชาชน เช่น ปัจจุบันพำนักในกรุงเทพฯ แต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต่างจังหวัด ทำให้เมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว ไม่สะดวกไปใช้เงินดิจิทัลจับจ่ายสินค้าที่บ้านเกิดได้ ซึ่งในกรณีนี้รัฐไม่ปิดกั้น เปิดให้ประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิ์เงินดิจิทัลสามารถ “ย้ายทะเบียนบ้าน” ได้
แต่ปัญหายังไม่จบเมื่อมีการตั้งคำถามตามมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองกรุงหรือเมืองใหญ่ๆ หากแห่กันย้ายทะเบียนมาอยู่ในเมืองเพื่อต้องการใช้จ่ายเงินดิจิทัล นั่นจะทำให้การกระจายรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมากระจุกและเงินสะพัดแค่ในเมืองใหญ่ๆ หรือไม่
แล้วในเมืองเล็กๆ ในชนบทจะไม่เกิดการกระจายรายได้ ไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง นั่นจะไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใช่หรือไม่?
ล่าสุดได้รับคำตอบจากนายกฯ ที่มองว่า “อยากให้คนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น หนองบัวลำภูได้ไปใช้จ่ายที่หนองบัวลำภูเลยดีกว่า เพราะโครงการนี้ออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น ไม่เช่นนั้นทุกคนก็จะมากระจุกตัวใช้ในเมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองที่มีแหล่งแรงงานสูง เช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา ก็เป็นเมืองที่ได้รับความเจริญอยู่แล้ว ซึ่งจุดประสงค์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคือจะกระจายความเจริญไปสู่ทุกๆ ภูมิภาค”
เช่นเดียวกับ นายจุลพันธ์ ที่ระบุว่า การย้ายทะเบียนบ้านเป็นสิทธิ์ที่ทำได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่คิดว่าต้องทำ เพราะรัฐบาลจะเปิดให้มีระยะเวลาที่สามารถใช้จ่ายได้ถึง 6 เดือน ซึ่งครอบคลุมช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ประชาชนที่ทำงานอยู่ต่างพื้นที่ทะเบียนบ้าน ก็สามารถกลับมาใช้สิทธิ์ในจังหวัดของตัวเองตามภูมิลำเนาได้
ขณะเดียวกัน หลังจากเปิดลงทะเบียนวันแรกก็เริ่มมีการพูดถึง การนำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสด ซึ่งรัฐบาลออกตัวดักคอแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งในระบบจะถูกบันทึกไว้และสามารถตรวจสอบได้ หากพบจะถูกดำเนินคดีอาญา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเปิดให้ประชาชนกลุ่มแรกที่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนแล้ว จากนั้นในระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2567 รัฐบาลจะเปิดแถลงข่าวรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นครั้งที่ 2 โดยจะเปิดเผยรายละเอียดการลงทะเบียนสำหรับกลุ่มประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ก่อนวันที่ 16 กันยายน จะเปิดให้กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนเริ่มลงทะเบียน
ส่วนจากนี้ไปต้องจับตาในเรื่องฟีดแบ็กหลังเปิดลงทะเบียนในกลุ่มแรกว่าจะถูกใจ หรือจะถูกด่า รวมถึงในระยะต่อไปก่อนจะถึงวันเงินจะเข้ากระเป๋า จะมีการปรับหลักเกณฑ์ใดๆ เพื่อให้โครงการเรือธงของรัฐบาลออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ และสามารถโกยคะแนนจากประชาชนได้มากที่สุดหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.
เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล
หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส
พรรคร่วมยกการ์ดสูง นิรโทษ112 ระแวงพท.-ปชน.ร่วมมือเฉพาะกิจ
จบไปแล้วกับ รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯ ติดขัดไม่ได้ลงมติ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิ่งปิดประชุมไปเสียก่อน