เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ฝ่ายกลุ่มอดีต สว.40 คน ในฐานะผู้ร้อง คาดว่าคงส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีถึงศาล รธน.ในวันที่ 31 ก.ค. และต่อจากนี้ก็เข้าช่วงนับถอยหลัง รอลุ้นผลการตัดสินคดีของศาล รธน.ในวันพุธที่ 14 ส.ค.กันต่อไป
อ่านทิศทางคดีดังกล่าวได้ว่า การที่ศาล รธน.ทำเซอร์ไพรส์ ไม่ให้มีการเปิดห้องพิจารณาคดีเพื่อ ไต่สวนคำร้อง ด้วยการเรียก พยานมาให้ถ้อยคำ ทั้งที่นายกฯ และกลุ่มอดีต สว.มีการยื่น “รายชื่อบัญชีพยาน” ให้ศาล รธน.เรียกมาให้ถ้อยคำแล้ว สิ่งที่เห็นชัดเลยก็คือ มันยิ่งทำให้ เอกสารการสู้คดี ของทั้งสองฝั่ง คือ
เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา-เอกสารคำแถลงปิดคดี
ทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะเมื่อศาล รธน.ไม่เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ-ซักถาม ดังนั้นตุลาการศาล รธน.จะต้องอิงเอกสารทั้งสองส่วนดังกล่าว รวมถึงเอกสาร-ข้อเท็จจริงในคดีที่ศาล รธน.หามาเพิ่มเติมเอง โดยไม่มีใครรู้ แล้วมาเทียบกับรัฐธรรมนูญมาตราที่เกี่ยวข้องตามคำร้อง ที่ประกอบด้วย 4 มาตราหลัก คือ มาตรา 98 (7), 160 (4), 160 (5) และ 170 ว่า เศรษฐาจะหลุดจากนายกฯ ตามคำร้อง หรือจะได้เป็นนายกฯ ต่อไป
ทั้งนี้ หากโฟกัสการสู้คดีไปที่ฝั่ง “เศรษฐา” ที่ได้ วิษณุ เครืองาม มาเป็น “กุนซือ-ที่ปรึกษา” ให้ในการกำหนดประเด็นการสู้คดี และเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและคำแถลงปิดคดีฯ
โดยเมื่อดูจาก เอกสารลับ จำนวน 32 หน้าของเศรษฐาที่เป็น เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ที่นายกฯ ส่งถึงศาล รธน. เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จะเห็น ลายเส้น สำนวนที่ปรากฏ ชัดเจนว่า “วิษณุ” คือผู้กำหนดประเด็นในการสู้คดี
ที่ก็จะพบว่า ข้อต่อสู้ของนายกฯ กำหนดไว้ไม่กี่ประเด็น เช่น การเน้นย้ำถึงการทำงานของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในการตรวจสอบประวัติ-คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ พิชิต ชื่นบาน ตั้งแต่เริ่มต้นมีชื่อว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรกหรือ “เศรษฐา 1” จนเมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเกิดข้อสงสัยว่านายพิชิตอาจมีปัญหาเรื่องลักษณะต้องห้าม จึงทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาฯ
พบว่าในเอกสารดังกล่าว นายกฯ ยืนกรานว่าการเสนอชื่อพิชิตเป็น รมต.ทำโดยถูกต้อง ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด ในการเสนอชื่อพิชิตเป็นรัฐมนตรีทั้งหมดกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้ตำแหน่งหน้าที่การเป็นนายกฯ ของตนเองไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้นจึงไม่ถือว่ามีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
นอกจากนี้ พบว่าในเอกสารลับ-คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว “เศรษฐา” โดยการแนะนำของ “วิษณุ” ที่แนบแน่นเป็น น้องรักของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือ กรธ. ได้ยกประเด็นข้อต่อสู้โดยอ้างถึง บันทึกการประชุมของ กรธ. เพื่อยืนยันว่าปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิชิตกรณีเคยถูกคุมขังเป็นเวลา 6 เดือนในคดีถุงขนม ที่กลุ่มอดีต สว.ที่เป็นผู้ร้องในคดีนี้อ้างว่าทำให้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็น รมต.ตาม รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) นั้น เป็นเรื่องที่แม้แต่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ตีความให้ไม่ได้ ต้องให้ศาล รธน.วินิจฉัย เพราะ กรธ.ได้วางแนวไว้เอง
โดยเอกสารของนายกรัฐมนตรีระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ช่วงที่ กรธ.มีการร่าง รธน.ในส่วนมาตรา 160 (4) และ (5) ทางที่ประชุม กรธ.มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ว่าการที่ กรธ.จะบัญญัติมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์-มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี จะพิสูจน์ได้อย่างไร จนสุดท้ายนายมีชัย ประธาน กรธ. บอกว่า หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยังอ้างอีกว่า จากบันทึกการประชุมดังกล่าว นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ.ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ได้กล่าวในที่ประชุม กรธ.ว่า “ร่างมาตรา 160 (4) และ (5) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาล รธน.จำนวนมาก ทำให้ศาล รธน.กลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย”
เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรีจึงระบุว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของ รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เคยระบุไว้ว่า การวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาล รธน.
นอกจากนี้ ในเอกสารคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรียังได้ระบุถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่อยู่ใน 160 (4) ว่าเป็นเรื่องที่ต้องมีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมของนายพิชิต กรณีละเมิดอำนาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว และเกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จึงควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ประกอบกับตนเอง (นายกรัฐมนตรี) มีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า นายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
สายข่าวบอกว่า ในตอนท้ายของคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ได้ระบุตอนหนึ่งว่า ตนเองได้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริตในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ในการทำงานหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า การได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาให้เป็นนายกฯ ถือเป็นเกียรติยศที่สร้างความภาคภูมิใจสูงสุด
“ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกร้องตามหลักความได้สัดส่วน ความสมเหตุสมผลแห่งเหตุ และสอดคล้องกับความไว้วางใจที่สมาชิกรัฐสภา มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ต่อเนื่องต่อไป โดยมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)” ถ้อยคำตอนท้ายของเอกสารของนายกฯ ระบุไว้
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า คำแถลงปิดคดี ที่นายกฯ ยื่นให้ศาล รธน.ไปเมื่อ 30 ก.ค. เนื้อหาหลักคงจะมีเค้าโครงเหมือนเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 32 หน้าข้างต้น แต่จะสรุปประเด็นให้กระชับมากขึ้น
บนเดิมพันสูงของทั้ง “เศรษฐา-เพื่อไทย-ทักษิณ” เพราะหากเศรษฐาไม่รอด นั่นหมายถึง ครม.-รัฐบาลเพื่อไทย ไปทั้งคณะ ร่วงหมดทันที!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี