ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน มีคิวต้องส่งรายงานผลการศึกษาของคณะ กมธ.ที่ปิดจ๊อบประชุมนัดสุดท้ายอย่างเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจาก กมธ.ขอตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดอีกครั้ง ทำให้จึงเลื่อนการส่งรายงานออกไป

 โดยมีการแจ้งในไลน์กลุ่มของ กมธ.เมื่อตอนช่วง 5 ทุ่มของคืนวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เอกสารยังไม่เรียบร้อย

คาดว่าจะมีการยื่นต่อสภาฯ ในสัปดาห์นี้ และคาดว่า กมธ.ที่มาจากหลายพรรคการเมืองจะประสานไปยังวิปรัฐบาล เพื่อขอให้นำรายงานดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ภายในสมัยประชุมรอบนี้ เพื่อที่สภาฯ จะได้ต่อยอดในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ตอนนี้มีเสนอเข้าสภาฯ ไปแล้วอย่างน้อย 3 ร่างคือ ร่างของพรรคก้าวไกล-ร่างของพรรครวมไทยสร้างชาติ และร่างของภาคประชาชน

สำหรับข้อสรุปอย่างเป็นทางการของคณะ กมธ.ศึกษาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังใช้เวลาหลายเดือนในการพิจารณาศึกษา โดยมีการเชิญตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมชี้แจง-ให้ข้อมูล ได้ข้อสรุปหลักๆ คือ

1.ให้นิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงวันที่กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้ 

โดยในรายงานคณะ กมธ.เสนอให้มีคณะกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมที่มี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน และมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่คณะกรรมการสามารถใช้อำนาจพิจารณาได้ว่าเป็นฐานความผิดที่สามารถนิรโทษกรรมได้หรือไม่ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ ภายใต้หลักสำคัญคือ คดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมต้องเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง 

2.คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ข้อสำคัญคือคดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตมาตรา 288 และมาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรม

 สำหรับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และ 289 คือ คดีอาญาร้ายแรง ที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต มีโทษขั้นต่ำคือ จำคุก 15-20 ปี โดยมาตรา 288 บัญญัติว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี” ส่วนมาตรา 289 ก็เป็นเรื่องของการทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เช่น ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ เป็นต้น

3.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ทาง กมธ.ไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นมติของ กมธ.ได้

จากสาเหตุ กรรมาธิการเสียงแตก หลังจากคุยประเด็นนี้หลายสัปดาห์ เพราะ กมธ.จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน เช่น ภูมิใจไทย-รวมไทยสร้างชาติ-ชาติไทยพัฒนา-ประชาธิปัตย์ รวมถึงจากเพื่อไทยบางคน เช่น นพดล ปัทมะ อดีตทนายความส่วนตัวของทักษิณ ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษคดี 112

 ขณะที่ กมธ.จากพรรคก้าวไกล-สายนักวิชาการ รวมถึง กมธ.เพื่อไทยสายเสื้อแดง เห็นด้วยให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112 แต่ในกลุ่มนี้ก็ยังเห็นต่างกัน เป็นนิรโทษแบบมีเงื่อนไขกับนิรโทษแบบไม่มีเงื่อนไข

จนสุดท้ายเมื่อหาข้อสรุปไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีให้มีการ บันทึกความเห็นของกรรมาธิการแต่ละคนไว้ในรายงานของ กมธ.ที่เสนอต่อสภาฯ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐาน-เอกสารว่า กมธ.แต่ละคนจากพรรคการเมืองใด หรือ กมธ.คนนอกที่ไม่ได้เป็นนักการเมือง ใครสนับสนุนให้นิรโทษกรรม 112 และใครคัดค้าน ตลอดจนบุคคลใดเสนอให้นิรโทษกรรม แต่ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข เช่น เสนอให้มีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

ซึ่งความเห็นจากฝ่ายที่เห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข ที่สำคัญคงไม่พ้นความคิด-แนวทางของผู้นำพรรคก้าวไกลที่เป็นหัวหอกในเรื่องนิรโทษกรรม 112 จนเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ

จาก เอกสารบันทึกการประชุม ของคณะกรรมาธิการที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ข้อมูลไว้ว่า ชัยธวัช-หัวหน้าพรรคก้าวไกล-กรรมาธิการและที่ปรึกษากรรมาธิการ ให้ความเห็นกลางที่ประชุม กมธ. เมื่อ 18 ก.ค. สรุปประเด็นสำคัญ ไว้บางส่วนดังนี้

 “ผมเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข โดยให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมในการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกดำเนินคดียอมรับเงื่อนไขก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณานิรโทษกรรม และกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หากไม่ยอมรับเงื่อนไขก็ถือว่าเสียสิทธิ์ในการพิจารณา

สำหรับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่การพิจารณานิรโทษกรรมที่เป็นรูปธรรมควรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

 1.การเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการสนทนาระหว่างผู้ที่กระทำผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกับคู่กรณีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือผู้ที่กระทำความผิดได้แถลงข้อเท็จจริงว่าเรื่องใดที่เป็นเหตุหรือเป็นแรงจูงใจให้กระทำการเช่นนั้น...

2.ให้มีกระบวนการหรือเงื่อนไขอื่นที่เป็นไปตามความเห็นของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เช่น การเข้าสู่กระบวนการรับข้อเท็จจริง หรือเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง ส่วนมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยหลักการไม่สามารถกำหนดมาตรการให้กับผู้กระทำความผิดเหมือนกันทั้งหมดได้ แต่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี เช่น หากเป็นการกระทำความผิดโดยการแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การพ่นสีกำแพงหรือพฤติการณ์อื่น อาจกำหนดห้ามกระทำการเช่นนั้นในช่วงระยะเวลาที่กำหนด หรือในช่วงระยะเวลา 3 ปีหรือ 5 ปี เพื่อให้มีเวลาในการคลี่คลายความขัดแย้งให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ไม่ควรห้ามกระทำการตลอดชีวิต เพราะเป็นการกระทำความผิดที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมือง”

“ชัยธวัช” ระบุว่า การกำหนดเงื่อนไขในการนิรโทษกรรมและมาตรการลักษณะดังกล่าว มีข้อดีคือ แม้การนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอาจมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก แต่กระบวนการเช่นนี้จะทำให้เกิดการยอมรับและรับฟังได้มากขึ้น เป็นต้น

และแน่นอนว่าเมื่อสภาฯ มีการประชุมพิจารณารายงานดังกล่าว คงมี สส.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน อภิปรายกันหลากหลาย จากนั้นก็ต้องรอดูว่าเสียงส่วนใหญ่จะลงมติรับทราบรายงาน-ข้อสังเกตของ กมธ.ด้วยคะแนนเสียงอย่างไร?

 โดยเฉพาะท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อการนิรโทษกรรมคดี 112

 หลัง ทักษิณ ชินวัตร ที่เพิ่งจัดงานวันเกิดครบรอบ 75 ปีไป ตกเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญา ที่หากสุดท้าย สภาฯ เอาด้วยกับการให้นิรโทษคดี 112  ทักษิณก็ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทียบหมัดต่อหมัด 3 ผู้มีบารมีนอกพรรค ‘ทักษิณ-เนวิน-ธนาธร’

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผู้มีบารมีนอกพรรค” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 กรกฎาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ

ครบ 75 ปีขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลใจ 'ทักษิณ' คิดดีต่อบ้านเมือง!

เมื่อวานที่นายทักษิณ ครบรอบวันเกิด 75 ปี ลำพังถ้านายทักษิณ เป็นนักธุรกิจ มีเงินมีทอง จะโดยสุจริตหรือทุจริต ผมคงไม่ต้องเอ่ยถึง แต่นายทักษิณคือบุคคลสาธารณะ และมีอิทธิพลต่อ ความสงบสุข

'ทักษิณ' ปัดปฏิญญาเขาใหญ่ บอกได้พบปะกินข้าวกันก็จะสามัคคีมากขึ้น ไม่มีเรื่องเข้าใจผิด

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อกรณีหลังจากวันที่ 22 ส.ค.หากพ้นมลทินแล้ว จะวางบทบาทตัวเองอย่างไรว่า ไม่มีอะไร ตนห่วงบ้านเมือง คนเคยเป็นอดีตนายกฯ มา

'ทักษิณ' เมิน 'เฉลิม' ท้าดีเบต บอกสงสารเขาอายุเยอะแล้ว อย่าไปพูดถึงเลย

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงข่าวโดยท้าดีเบตด้วย ได้ติดตามหรือไม่ ว่า "อย่าไปพูดถึงเขาเลย

'ทักษิณ' เปิดใจมีความสุขมาก จัดงานวันเกิดในไทยครั้งแรกในช่วงเวลา 17 ปี

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเปิดใจการจัดงานวันเกิดในประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ว่า ทุกคนอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขเท่าอยู่บ้าน อยู่บ้านมีครอบครัว มี

'ทักษิณ' เป่าเค้กวันเกิด บอกคนที่มาวันนี้ไม่เคยทอดทิ้งกัน ปัญหาบ้านเมืองต้องให้เพื่อไทยแก้ไข

นายทักษิณ​ ได้เป่าเค้กวันเกิดพร้อมกับคนในครอบครัว​และบรรดารัฐมนตรี​ รวมถึงผู้ร่วมงาน​อย่างชื่นมื่น โดยในเวลาดังกล่าว ​นางมนพร​ เจริญศรี รมช.คมนาคม ที่ได้ร่วมติดตามนายเศรษฐา​