วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แวดวงการเมือง-สว.จำนวนมากในสภาสูงต่างเชื่อว่า ทุกตำแหน่งจะเป็นไปตามโผ ที่ บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ซึ่งคุมเสียง “สว.สีน้ำเงิน” ที่มีร่วมๆ 144-150 เสียงเคาะออกมา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. หลัง สว.สีน้ำเงินไปรวมตัวกันที่ เซฟเฮาส์โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ซึ่งมีการแจ้งให้ สว.สีน้ำเงินโหวตตามชื่อที่เคาะออกมา คือ
มงคล สุระสัจจะ หรือ “บิ๊กหมง-พี่จ้อนของบรรดาสิงห์คลองหลอด-มหาดไทย” ดีกรีอดีต ผวจ.บุรีรัมย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน สายตรง บ้านใหญ่บุรีรัมย์-เนวิน ชิดชอบ เป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งพบว่าวันที่ สว.สีน้ำเงินไปรวมตัวเช็กชื่อ-รับโผที่โรงแรมพูลแมนฯ วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ตัวมงคลก็ไปปรากฏตัวเพื่อเช็กเสียงเล่นบทพี่ใหญ่ สว.สีน้ำเงินด้วยตัวเอง
และให้โหวตสนับสนุน บิ๊กเกรียง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.คอนเนกชัน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 จากเดิมที่ก่อนหน้านี้เคยมีชื่อคั่วเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ต่อมาก็มีข่าวจะสไลด์ไปเป็นประธาน กมธ.ทหารฯ แต่โผสุดท้ายมาจบที่รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง
ส่วนตำแหน่งสุดท้าย รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง สัญญาณส่งมาก็คือ ให้โหวตหนุน บุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต.-อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง
ซึ่งด้วยจำนวนเสียงของ สว.สีน้ำเงินที่มีมากร่วมๆ 140 เสียง และยังมีเสียง สว.จากแนวร่วม เช่น สว.บ้านป่ารอยต่อฯ อีกประมาณ 10 เสียง รวมถึง สว.อิสระที่เคยไปนัดหารือเปิดตัวกันที่ตึก CS ทาวเวอร์ รัชดาฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. อีกจำนวนหนึ่ง
ลำพังแค่ สว.สามกลุ่มนี้จับมือแพ็กกันแน่น มันก็ยากที่ สว.กลุ่มอื่นๆ เช่น สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ที่จะส่ง ดร.นันทนา นันทวโรภาส-ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์-อังคณา นีละไพจิตร ที่กลุ่มพันธุ์ใหม่ส่งลงชิงประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา ตามลำดับ ดูแล้วโอกาสยากมากที่จะเบียดแชร์เก้าอี้ไปได้
เพราะอย่างกระแสเรียกร้องของกลุ่มพันธุ์ใหม่ที่ต้องการให้มีการให้โควตา สว.ผู้หญิงได้เป็นรองประธานวุฒิสภาสักหนึ่งคน
ปรากฏว่า ไม่ได้รับการขานรับมากนักจาก สว.กลุ่มอื่น ขนาด สว.ผู้หญิงด้วยกันเองแต่อยู่กลุ่มอื่นก็ไม่ขานรับ
ทำให้แกนนำ สว.กลุ่มสีน้ำเงิน ที่เดิมที ก็คิดจะดัน สว.สีน้ำเงินไปเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง แต่หาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ผนวกกับไม่ต้องการให้เกิดภาพว่า สว.สีน้ำเงิน “กินรวบ-ยึดหมด” ทั้งสามเก้าอี้จึงให้โควตารองประธานวุฒิสภากับนายบุญส่ง ที่เคยไปเปิดตัวกับกลุ่ม สว.อิสระที่ตึกรัชดาฯ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง สว.สีน้ำเงินกับ สว.กลุ่มอิสระ และที่สำคัญทำให้ลดแรงต้านจาก สว.ด้วยกันเองที่ไม่ต้องการให้ สว.สีน้ำเงินกินรวบทุกเก้าอี้ ทำให้เกิดภาพประนีประนอมระหว่าง สว.สีน้ำเงินกับกลุ่มอื่นๆ
แม้จะมีเสียงซุบซิบการเมืองตามมา โดยมีการให้ข้อมูลอีกด้านว่า จริงๆ แล้ว นายบุญส่งก็เป็น สว.ในเครือข่ายสีน้ำเงินเช่นกัน แต่ไม่ใช่ “น้ำเงินเข้ม-เป็นพวกน้ำเงินอ่อน”
ลือกันว่า ที่ผ่านมาบุญส่งและ สว.ใกล้ชิดมีการติดต่อเชื่อมคอนเนกชันกับกลุ่มสีน้ำเงินมาตลอด เพียงแต่ไม่ไปเปิดตัวหรือไปทำกิจกรรมร่วมกับ สว.สีน้ำเงิน แต่มีการคอนแทรกต์กับระดับเฮดๆ ของกลุ่มสีน้ำเงินไว้นานแล้ว จึงทำให้นายบุญส่งก็ถือเป็นคนในเครือข่ายสีน้ำเงินเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ ศึกชิงอำนาจสภาสูง กับสามเก้าอี้สำคัญ ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา จะจบในวันที่ 23 ก.ค. แต่ดูจากสถานการณ์ต่างๆ ในสภาสูงต่อจากนี้ที่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊กแบ่งสีกันชัดเจน โดยมี สว.สีน้ำเงินคุมเสียงเกือบเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังมี “สว.เสียงข้างน้อย” ที่พร้อมจะตรวจสอบ-ตั้งป้อมสู้กับ สว.สีน้ำเงินทุกกระบวนท่า โดยเฉพาะในจังหวะสำคัญๆ ทางการเมือง
สภาพการณ์เช่นนี้ ทำให้แม้จบศึกชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา แต่ศึกภายใน-ความขัดแย้งระหว่าง สว. 200 คนอาจไม่จบ ยังอาจมีให้เห็นเรื่อยๆ
ที่น่าจับตาก็คือ มีกระแสข่าวว่าแผนคุมสภาสูงของบ้านใหญ่บุรีรัมย์-สว.สีน้ำเงินยังไม่หมดแค่ส่งคนของตัวเองไปเป็นประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา
เพราะ “แผนสอง-คุมสภาสูง” กำลังจะออกมาต่อจากนี้ นั่นก็คือ การส่ง สว.สีน้ำเงินเข้าไปคุมกลไกในคณะกรรมาธิการสามัญฯ ทุกชุดของวุฒิสภา ด้วยการดัน สว.สีน้ำเงินไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการให้มากที่สุด หรืออาจยึดคุมหมดยกแผงทุกคณะเลยก็ได้!
ร่ำลือกันไปทั่วในกลุ่ม สว. 200 คนว่า สว.กลุ่มสีน้ำเงินมีการทำโผประธานคณะกรรมาธิการสามัญวุฒิสภาไว้เกือบหมดแล้ว โดยมีวิธีการคือ ส่ง สว.ในกลุ่มคนไปนั่งเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ จากนั้น ตอนโหวตเลือกประธาน กมธ.ฯ ก็จะใช้เสียงข้างมากในกรรมาธิการที่ส่วนใหญ่เป็น สว.สีน้ำเงิน โหวตให้ สว.สีน้ำเงินได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการสามัญเกือบทั้งหมดของวุฒิสภา
ข่าวบอกว่า กลุ่มสีน้ำเงินจะให้โควตาประธาน กมธ.ชุดสำคัญเกรดเอกับ สว.ในกลุ่มประมาณ 3-4 คน ที่ไม่พอใจ ที่ไม่ได้ลุ้นลงชิงเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและคนที่สอง เพราะบางคนเดินเกมเงียบ ซุ่มขอคะแนนเสียง สว.สีน้ำเงินด้วยกันเองและสว.กลุ่มอื่นๆ มาร่วมสองอาทิตย์ แต่สุดท้าย บ้านใหญ่บุรีรัมย์ไม่สนับสนุนจนผิดหวัง-ไม่พอใจ ดังนั้นกลุ่มสีน้ำเงินก็จะปลอบใจด้วยการให้เป็นประธาน กมธ.ฯ
จับกระแสในตึกวุฒิสภาพบว่า เริ่มมี สว.หลายคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ชักไม่พอใจที่กลุ่มสีน้ำเงินวางแผนจะส่ง สว.ในกลุ่มตัวเองมากินรวบเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการเกือบทั้งหมดของวุฒิสภา ชนิดไม่แบ่งให้กลุ่มอื่น
เมื่อเป็นแบบนี้ ถึงต่อให้การเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภาจบไปแล้ว แต่ปัญหาความขัดแย้งในการทำงานร่วมกันของ สว.ก็จะมีให้เห็นต่อไป หาก สว.สีน้ำเงินยึดหมดทุกตำแหน่ง รวบหมดทั้งกระดานอย่างที่วางแผนไว้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1