แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่คนการเมืองเรียกสองพรรคนี้ว่า “พรรคประชาเพื่อไทย”

ประกาศไม่ดำเนินการต่อโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 2 หมื่นบาท ที่ใช้งบประมาณอุดหนุนปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ซึ่งเป็นโครงการผูกพันจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ขับเคลื่อนโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สาเหตุที่รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย อ้างระงับโครงการแจกไร่ละ 1 พัน นอกจากเหตุผลทางการเมือง เพราะไม่ต้องการสานต่อโครงการนโยบายจากรัฐบาล “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะจากพรรคคู่แค้น พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นศิษย์ก้นกุฏิของ “ชวน หลีกภัย”

ยังมองว่าราคาข้าวในตลาดขณะนี้ดีขึ้น หากเกิดภัยพิบัติและเกิดปัญหาราคาข้าว ก็พร้อมจะปัดฝุ่นนำนโยบายนี้มาใช้ และที่สำคัญยังเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณได้หลายหมื่นล้านบาท เพราะรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ได้นำ โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ที่ใช้งบประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทมาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงปุ๋ยราคาถูก

 “ผมอยากให้ประชาชนและเกษตรกรสบายใจ หากวันใดมีปัญหา อยากให้ช่วยกันพิจารณาและแก้ปัญหาเรื่องการผลิตก่อน ซึ่งหากมีเรื่องที่ยื่นมาเราก็จะพิจารณาให้ ซึ่งอาจจะเหมือนหรือน้อยกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาทั้งหมด ต้องมาวิเคราะห์กัน แต่ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากให้ประชาชนมีความปลอดภัย” “ภูมิธรรม” แกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย กล่าว

เรื่องดังกล่าวไม่เพียงแต่ชาวนาจะไม่เห็นด้วย เพราะต้องการอยากได้ไร่ละ 1 พันมากกว่า ชาวนายังกังวลปุ๋ยไม่มีคุณภาพ ท่ามกลางข้อสังเกตว่าจะเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนและนักธุรกิจ และนักการเมืองบางกลุ่มหรือไม่?

ประเด็นนี้ยังส่งผลไปถึงรัฐมนตรีใน ครม.พรรคเพื่อไทยเอง เช่น “เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย เคยแสดงความเห็นในห้องประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ว่า การยกเลิกโครงการไร่ละ 1,000 บาท “จะทำให้เสียฐานเสียงประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งเปรียบเหมือนกำแพงคอยปกป้องเรา ให้กลับมาโจมตีเราภายหลังได้”

ประเด็นนี้ยังสะท้อนผ่าน สส.พรรคเพื่อไทยและ สส.พรรคร่วมรัฐบาล ผ่านเวทีสภาผู้แทนฯ ในช่วงหารือความเดือดร้อนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา อาทิ นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย นายทินพล ศรีธเรศ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย นายสนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พิจิตร พรรคภูมิใจไทย ประสานเสียงในทิศทางเดียวกันว่า ประชาชนอยากได้ไร่ละ 1 พัน ค้านโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

 “พี่น้องชาวนาฝากให้ผมมาพูดว่าอยากให้รัฐบาลได้ทบทวน และถ้าเป็นไปได้พี่น้องเกษตรกรอยากได้การช่วยเหลือแบบไร่ละพันเหมือนเดิมที่ผ่านมา เอาปุ๋ยคนละครึ่งคืนไป เอาไร่ละพันกลับมา” นายกรวีร์ จากพรรคภูมิใจไทย สะท้อนความต้องการของชาวนา

อย่างไรก็ตาม หากมุมของ สส.ก็ต้องออกตัวเพื่อยืนอยู่ข้างชาวนาเพราะเป็นฐานเสียงของตัวเอง แต่หากวิเคราะห์ในมุมการเมืองเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยและแกนนำรัฐบาลจะต้องรีบแก้ไขและประสานผลประโยชน์ให้ลงตัวหรือไม่

ว่ากันว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ผู้อยู่เบื้องหลัง การผลักดันผ่าน 3 คนหลัก คือ 1.ผู้มีอำนาจนอกรัฐบาล กับ 2 แกนนำในรัฐบาล ซึ่งมี เงินทอน จำนวนมาก เพราะต้นทุนราคาปุ๋ยจากโรงงาน 50% พ่อค้าปุ๋ยได้กำไร 20% ที่เหลือ 30% คือ เงินทอน

ฉะนั้นหากต้องการ ปิดปากผู้แทนฯ จะต้องมีการประสานผลประโยชน์ให้ลงตัว 

ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจให้ชาวนา จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน อาทิ ช่วย ลดต้นทุนการผลิต ยังสามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก และยังลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท-29,980 ล้านบาท)

นอกจากนี้ยังหวังใช้ท่าไม้ตาย คือ การแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต หรือแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในช่วงไตรมาส 4 ปิดปากชาวนา ใช่หรือไม่?

หลังรัฐบาลเพื่อไทยใช้เวลาเกือบปีหาแหล่งเงินในโครงการดังกล่าวได้แล้ว จำนวน 4.5 แสนล้านบาท จากงบประมาณปี 2567 และ 2568 และไม่ใช้งบประมาณจากแบงก์ ธ.ก.ส.

แม้ว่าจะสุ่มเสียงผิดข้อกฎหมายวินัยการเงินการคลัง นโยบายไม่ตรงปกจากที่หาเสียงไว้ และอาจไม่สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจและจีดีพีตามที่ประกาศไว้ ตามที่ สส.พรรคฝ่ายค้านทักท้วงระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 ก่อนรับหลักการเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสรุปว่าเป็นโครงการได้ไม่คุ้มเสีย

แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาหน้าตาตัวเองเอาไว้ หากไม่ทำจะลำบาก เพราะก่อนหน้าก็ถูกมองเป็นรัฐบาลตระบัดสัตย์จากปมร่วมรัฐบาลกับ 2 ลุง พร้อมถีบพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

ส่วนประเทศชาติจะเสียหาย ประชาชนจะเป็นหนี้เพียงใด หรือถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ ชั่วโมงนี้ขอไปตายดาบหน้า ส่วนปัญหาค่อยแก้ไขภายหลัง ใช่หรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ต้อนรับเลขาธิการโออีซีดีย้ำไทยพร้อมเป็นสมาชิก!

รัฐบาล ต้อนรับเลขาธิการ OECD ย้ำไทยพร้อมเข้าเป็นสมาชิก เร่งปรับปรุงกฎระเบียบสู่มาตรฐานสากล ด้าน OECD ชื่นชมบทบาทไทยในอาเซียน พร้อมช่วยผลักดันนโยบายภาครัฐ

นายกฯ อิ๊งค์ใส่ชุดผ้าไหมของคุณหญิงพจมานมอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ

นายกฯ สวมชุดผ้าไหมคุณแม่ มอบรางวัลสุดยอดซีอีโอ บอกสื่อ-รัฐบาลต่างหน้าที่แต่เป้าหมายเดียวกันทำเพื่อปชช.- ประเทศชาติ พร้อมรับฟังข้อมูล นำไปแก้ปัญหาให้ประชาชน

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย

'ภูมิธรรม' ชี้ แม้คดี 'ดิไอคอน กรุ๊ป' อยู่ในมือดีเอสไอ แต่เป็นผลงานร่วม สตช.-ปปง.

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบ