ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา
จากครั้งนั้นนำไปสู่การ "วิดีโอคอล” ระหว่างคณะทำงานของไทยและจีนหลายครั้ง จนทีมงานของ โบมีเทค (The Bureau of Military Equipment and Technology Cooperation (BOMETEC) หน่วยงานกลางของรัฐบาลในเรื่องยุทโธปกรณ์ มาหารือกับ “สุทิน” และทีมที่กรุงเทพฯ จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ฝ่ายไทยยอมรับ CHD620 ที่ผลิตในจีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T โดยจีนพร้อมสนับสนุนรายการเพิ่มเติมประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อชดเชยเรื่องเครื่องยนต์ที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ภายใต้หลักการเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ทุกอย่างเหมือนจะเดินหน้าไปด้วยดี เพราะ “รัฐบาล” ส่งคนมาเป็น “ตัวช่วย” รอเพียงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อ ปลดล็อก เรื่องการแก้ไขสัญญาใน 2 ประเด็นคือ การเปลี่ยนเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี มาเป็น CHD620 ที่จีนผลิตเอง และระยะเวลาของการสร้างทำที่เดิม 1,217 วัน จากเดิมระยะเวลาส่งมอบครบกำหนดวันที่ 30 ธ.ค.2566 แล้ว และหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ หลังจากนี้ ขอให้มอบอำนาจให้กับทางกองทัพเรือสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้
ซึ่งการนำเข้า ครม.นั้น ทาง ทร.ได้เคยส่งหนังสือไปสอบถามฝ่ายกฎหมายของรัฐในเรื่องการเปลี่ยนเครื่องยนต์ถือเป็น สาระสำคัญ หรือไม่ เพราะถ้าเป็นสาระสำคัญต้องนำเข้าสู่ความเห็นชอบของ ครม. ในขณะที่กระทรวงกลาโหมเองได้ถามย้ำไปอีกครั้ง ป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะ “ฝ่ายการเมือง” จะต้องรับแรงกระแทกจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย
โดยทางอัยการสูงสุดยืนยันว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ และการขยายเวลาการเสร็จสิ้นโครงการถือเป็น สาระสำคัญ ต้องให้ ครม.เห็นชอบก่อน ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายแบบกว้าง กล่าวคือ ในเรื่องของเครื่องยนต์จะเป็นสาระสำคัญหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ทร.จะพิจารณา เพราะถือเป็นเรื่องทางเทคนิค
เมื่อยัง “ไม่ฟันธง” ออกมา ทำให้นายกฯ ชี้ว่าเรื่องอยู่ที่กระทรวงกลาโหม ทางด้าน รมว.กลาโหมยืนยันว่าเรื่องอยู่ที่ คณะทำงานนายกฯ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า “นายกฯ" สั่งให้เจรจาเพิ่มเพื่อชดเชยที่มากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการค้าต่างตอบแทน เพราะฝ่ายจีนทำให้ ทร.ไทยเสียโอกาสจากปัญหาเรื่องเครื่องยนต์
แต่ดูเหมือนว่า “จีน” นิ่งและยืนยันให้การชดเชยได้เท่านั้น เพราะมองว่า “มากพอแล้ว” ในมูลค่าความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่เสนอให้มา
โดยระหว่างนี้ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดา "เสือหิว” วิ่งวุ่นฝุ่นตลบในการดันโครงการอื่นมาต่อรอง จนถูกมองว่าอาจกลายเป็นสาเหตุให้รัฐบาลยังดึงจังหวะเรื่องนี้ไว้ก่อน เพื่อรอดู “ดีล” ที่วิน-วินทั้ง 3 ฝ่าย คือ ทร.ไทย-ฝ่ายการเมืองไทย-ฝ่ายจีน
สรุปได้ว่ามีอยู่ 3-4 ประเด็นที่เป็นเหตุผลให้ “เรือดำน้ำ” ยังไม่ได้ไปต่อ โดยเรื่องอยู่ที่ “คณะทำงานนายกฯ” ขอติดเบรก “กระทรวงกลาโหม ยังไม่ต้องส่งเรื่องอย่างเป็นทางการให้สำนักงานเลขาธิการ ครม.บรรจุเป็นระเบียบวาระ กล่าวคือ
1.การให้ดูข้อกฎหมาย ที่ต้องชัดเจนระหว่างการถูกซักถามจาก รมต.พรรคร่วมรัฐบาลที่นั่งในที่ประชุม ว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องเข้า ครม.หรือไม่ ดังนั้น การได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษาใน ครม. ว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญจริงๆ จึงจะมั่นใจได้ว่าไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการ Notery หรือการสอบทานเอกสารจากจีนที่ส่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาในเรื่องรายละเอียด รวมถึงลายเซ็นผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น จึงเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลหยิบยกมาอธิบาย
2.การต่อรองของ “คณะทำงานนายกฯ” ที่ต้องใช้ช่องทางในการเจรจาเกี่ยวกับเรื่องการค้าต่างตอบแทนเพิ่มเติม ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงอื่น ที่อาจจะเป็นการเปิดดีลไว้เพื่อการเจรจาต่อไปในอนาคต ซึ่งผูกโยงไปยังปรากฏการณ์เปิดข้อเสนอของ CSSC ในการเสนอขายเรือดำน้ำ Type เดียวกับไทยให้อินโดนีเซีย ผ่านสื่อระดับโลกที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ที่เหมือนเป็นการ “ขู่” กลายๆ ในการสื่อสารมายังคณะทำงานหรือไม่
3.“ไทม์ไลน์” ทางการเมืองที่ยังต้องรอให้ “นิ่ง” กว่านี้ในเดือน ก.ค. เลยไปถึงต้น ส.ค. ทั้งคดีของนายกฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกข้อมูลเพิ่มเติม และรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ กำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไปในวันพุธที่ 24 ก.ค.2567, นโยบาย “เรือธง” อย่างดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องชัดเจนในระดับหนึ่ง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.2567 เป็นต้น
4.“ดีลอาวุธ” ที่ต้องเริ่ม “ผูกปิ่นโต” ในเรื่องการค้าระหว่างสองชาติ เริ่มจากการตั้งงบผูกพันเรือดำน้ำ S26T ในงบฯ ปี 2569 เพื่อจ่ายเงินงวดต่อ จากทั้งหมด 18 งวด ได้จ่ายไปแล้ว 10 งวด หรือคิดเป็น 60% เป็นจำนวนเงิน 7,700 ล้านบาท และยังคงค้างจ่าย 40% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 5,500 ล้านบาท และการเข้าชิงโครงการตั้งต้นอย่างเช่น เรือฟริเกต ที่ “สุทิน” เคยเปิดหัวไว้ในสภาว่าจะให้ ทร.2 ลำ ในงบฯ ปี 2569 เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากโครงการเรือดำน้ำผ่าน “เรือฟริเกตจีน” ก็มีพลังเพิ่มในการลงสู้กับบริษัทชั้นนำที่ “ทร.” มองไว้ และการันตีไว้แล้วว่าเป็น “ของดี” แถมยังเป็นบริษัทที่จับมือกับอู่ต่อเรือไทยด้วย
5.สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างมหาอำนาจ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ต้องวัดว่ามีพลังพอจะเข้ามาสร้างแรงกระเพื่อม ติดเบรกให้เรือดำน้ำไทยดับสนิทหรือไม่
นอกจากนั้นยังต้องดูแนวทางการตั้ง ผบ.ทร.คนใหม่ ที่จะมารับไม้ต่อ ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ “คาบเกี่ยว” ในการรอมติ ครม. และการได้รับมอบอำนาจในการลงนามแก้ไขสัญญา ซึ่งมีสัญญาณเบาๆ ว่า “การเมือง” อาจต้องขอดูตัวด้วย
แต่หากปลดล็อกทั้งหมดได้ เรือดำน้ำได้ไปต่อ ก็ยังต้องลุ้นเรื่องการดำรงความต่อเนื่องของการมีเรือดำน้ำไว้ได้แค่ไหน หรือต้องตกกระไดพลอยโจนไปตามทิศทางการเมืองจนขยับตัวลำบากในอนาคตอีกระลอก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.
เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล
หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส
พรรคร่วมยกการ์ดสูง นิรโทษ112 ระแวงพท.-ปชน.ร่วมมือเฉพาะกิจ
จบไปแล้วกับ รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯ ติดขัดไม่ได้ลงมติ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิ่งปิดประชุมไปเสียก่อน
นับถอยหลังคดีตากใบหมดอายุความ รัฐล้มเหลว จำเลยลอยนวล
นับถอยหลังจากวันพฤหัสบดีที่ 24 ต.ค. ก็เหลือเวลาอีกแค่ 2 วันเท่านั้น “คดีสลายการชุมนุมตากใบ” ซึ่งเกิดเหตุเมื่อ 25 ต.ค.2547 ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะ "หมดอายุความ" แล้วในเวลาเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.นี้