ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง จับเป็นก๊กก๊วนต่อรองเจรจา เสนอคนในมุ้งของตนเองชิงตำแหน่งสำคัญในวุฒิสภา
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา “นภาภรณ์ ใจสัจจะ” ในฐานะเป็นเลขาธิการวุฒิสภา แถลงซักซ้อมทำความเข้าใจข้อสงสัยต่างๆ สรุปสาระสำคัญคือ จะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก ในวันอังคารที่ 23 ก.ค.ที่จะถึงนี้
มีวาระรับทราบประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา อีกทั้งรับทราบประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (บัญชีสำรอง)
จากนั้นจะให้ สว.ป้ายแดงกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญ แล้วจึงเข้าสู่ระเบียบวาระไฮไลต์สำคัญ เลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา
โดยประธานการประชุมชั่วคราวที่จะขึ้นมาดำเนินการวาระทั้งหลายข้างต้น ตามธรรมเนียมจะต้องเป็น สว.ที่มีความอาวุโสสูงสุด ซึ่งเลขาธิการวุฒิสภาเปิดเผยว่า ผู้มีอายุสูงสุดเรียงตามลำดับ 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อายุ 78 ปี 2.นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อายุ 77 ปี และ 3.นายบุญส่ง น้อยโสภณ อายุ 75 ปี
สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยื้อแย่งเก้าอี้สำคัญในขณะนี้ กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ของ “นันทนา นันทวโรภาส” ประกาศตัวชิงตำแหน่งทั้งหมด แต่ยังคงอุบชื่อว่าจะส่งใคร แต่มีแนวโน้มว่า “นันทนา” จะลงสนามชิงตำแหน่งรองประธาน และมีชื่อของ “บุญส่ง น้อยโสภณ” อดีต กกต. และเคยเป็นที่ปรึกษาของ “ศุภชัย สมเจริญ” อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ชิงรองประธานอีกเก้าอี้หนึ่ง โดยมีรายงานว่า “บุญส่ง” เดินสายขอเสียงจากทุกก๊กใน สว. ทั้งกลุ่มบ้านใหญ่สีน้ำเงิน กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ กลุ่มสีขาวของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ กลุ่มสีเขียวบ้านป่ารอยต่อฯ
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “บุญส่ง” มีชื่อในกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่มาตั้งแต่ต้น แต่ไม่เคยโผล่หน้าไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มดังกล่าว สอดรับกับที่ “นันทนา” ให้สัมภาษณ์ครั้งหลังสุดก่อนที่จะรายงานตัวว่า “บุญส่ง” คือพันธมิตรของกลุ่มเท่านั้น อีกทั้งพูดก้ำกึ่งคล้ายว่า “บุญส่ง” คือกลุ่มสารตั้งต้น แต่ถ้าจะเข้ากลุ่มพันธุ์ใหม่ต้องมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ไปกันได้
ภารกิจแรกๆ ที่สะท้อนจุดยืนของกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี คือ แก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดการได้มาซึ่ง สว. ปัญหาเรื่องทับลาน ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เยาวชนถูกจองจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว คอการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดเช่นนั้นคล้ายกับกลุ่มของพรรคก้าวไกล จึงเชื่อได้ว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ก็คือตัวแทนของกลุ่มสีส้มนั่นเอง
สำหรับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเก้าอี้ “ประธานวุฒิสภา” นั้น ตอนนี้เริ่มมีการปล่อยข่าวลือว่าอาจไม่ใช่ “มงคล สุระสัจจะ” สายตรงบ้านใหญ่แห่งบุรีรัมย์นอนมา เพราะดูเหมือนเจ้าตัวจะสะเงาะสะแงะ จึงมีความเป็นไปได้ที่ “พี่ใหญ่” จะเปลี่ยนตัว
หากลองย้อนติดตามการให้สัมภาษณ์ของ “สว.นันทนา” จะเรียกว่าหัวหน้ากลุ่มพันธุ์ใหม่ก็คงได้ มีการสอบถามถึงไม้เด็ดที่จะใช้งัดข้อกับ สว.ส่วนใหญ่ที่อยู่ในเงื้อมมือของบ้านใหญ่สายน้ำเงิน แต่เมื่อดูท่าที นันทนา-หัวหน้ากลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ก็ยอมรับว่าเสียงของตนเองสู้ไม่ได้ในสภาสูงอย่างแน่นอน แต่จะขอสู้ผ่านสื่อ แสดงให้ประชาชนเห็นถึงคุณภาพ ศักยภาพ
หรืออีกนัยหนึ่ง ความเป็นไปได้ที่ “กลุ่มของนันทนา” จะได้เก้าอี้ใดเก้าอี้มาครองมีโอกาสน้อยมาก หากนายใหญ่แห่ง สว.สายน้ำเงินไม่กดปุ่ม ส่งอาณัติอนุมัติให้ยกมือโหวตสนับสนุน ฉะนั้น นาทีนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า “กลุ่มน้ำเงิน” จะกินรวบหรือเล่นแนวประนีประนอม และต่างฝ่ายต่างสะดวกใจเปิดโต๊ะเจรจากันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องจับตาไปที่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดที่มีความสำคัญๆ แล้วนั้น สิ่งต้องพึงตระหนักและทำสภาสูงมีคุณค่าน่าลงทุนจับจองเก้าอี้ เพราะมีอำนาจในการเลือกคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งสามารถชี้ขาดชะตาทางการเมืองของเหล่าเสนาบดี รัฐมนตรี สส. สว. ที่ผ่านมาก็ได้เห็นฤทธิ์เดชขององค์กรอิสระมาแล้วว่าได้ประหารชีวิตการเมืองของใครไปแล้วบ้าง
ฉะนั้น เก้าอี้ สว.จึงเป็นสิ่งที่หวานหอมของนักการเมือง ทว่า สว.ชุดที่ 13 ที่ส่วนใหญ่อยู่ในมือบ้านใหญ่สายน้ำเงิน มีวาระจ่ออยู่แล้ว โดยจะต้องให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ
อาทิ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คนในเดือนเม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.2567 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้ จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี
นอกจากนี้ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คนเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์
ส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คน ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ
ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับนายปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67
ด้วยทั้งหมดทั้งมวล ในจังหวะเปลี่ยนตัวเช่นนี้ คือโอกาสทองของพรรคการเมือง ลงทุนเพื่อขจัดภัยตนเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'สว.พันธุ์ใหม่' พร้อมโหวตแก้รธน. มาตรา 256 หักอำนาจวุฒิสภา เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภากลางเดือนมกราคมนี้
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร