สว. 2567 สารพัดขั้วสี รุกชิงเก้าอี้ใหญ่สภาสูง หึ่งล็อบบี้จัดโปรดูแลรายเดือน!

วันจันทร์ที่ 15 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดห้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน เข้ารายงานตัวก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และในช่วงเย็นวันเดียวกัน ข่าวว่าเลขาธิการวุฒิสภาจะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เพื่อแจ้งถึงกระบวนการในการเปิดประชุมวุฒิสภานัดแรก ที่มีวาระสำคัญคือการลงมติเลือก-เห็นชอบ

"ประธานวุฒิสภา" และ "รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งและสอง"

ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะมีการนัดประชุมวุฒิสภานัดแรกในช่วงปลายๆ สัปดาห์หน้า ซึ่งถือว่าทุกอย่างพร้อม เพราะ สว.ส่วนใหญ่เข้ารายงานตัวเกือบหมดแล้ว เหลือหลักๆ แค่กลุ่ม สว.ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ที่นำโดย นันทนา นันทวโรภาส อดีตนักวิชาการสายสื่อสารมวลชน ที่นัดหมาย สว.ในกลุ่มเข้ารายงานตัวต่อสำนักงานเลขาฯ วุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.

และมีข่าวว่าหลังรายงานตัวเสร็จ กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ก็จะนัดหารือ สว.ในกลุ่มทันที ถึงเรื่องการโหวตออกเสียงเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สว.ในกลุ่มบางส่วน ที่คนในกลุ่มพยายามปั่นข่าวอ้างตัวว่ามีมากกว่า 20 คน แต่ข้อมูลอีกด้านบอกว่าเช็กเสียง-สแกนขุมกำลังกันแล้ว สว.กลุ่มนี้ไม่น่ามีเกิน 15 คน ข่าวก่อนหน้านี้บอกว่า สว.ในกลุ่มเห็นว่าควรส่งคนชิงเก้าอี้ใหญ่ในสภาสูงด้วย ซึ่งแม้เก้าอี้ประธานวุฒิสภาอาจไม่ได้ลุ้น แต่ไม่แน่ รองประธานวุฒิสภา อาจแชร์มาได้สักหนึ่งเก้าอี้ รวมถึงจะมีการหารือถึงโควตาตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ของวุฒิสภาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีเสียงสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวของ สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ที่พยายามสร้างภาพ เรียกตัวเองว่าเป็น สว.ประชาธิปไตย ว่า แค่เริ่มต้นนับหนึ่งเตรียมเข้าไปทำงาน ก็เคลื่อนไหวการเมืองไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ หรือการเมืองแบบเดิมๆ คือพยายามตั้งกลุ่ม สว.ขึ้นมาเพื่อ ต่อรองตำแหน่งทางการเมือง ให้กับ สว.ในกลุ่มตัวเองที่ต้องการมีตำแหน่งเป็นรองประธานวุฒิสภา-ประธานคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ

ซึ่งการเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นนี้ มันก็คือการเมืองแบบเก่า ที่ไม่ได้สร้างมิติการเมืองใหม่อะไรอย่างที่พยายาม สร้างภาพ-สว.พันธุ์ใหม่ ให้ตัวเองดูดีกว่า สว.กลุ่มอื่นๆ 

ทำให้บางฝ่ายที่พยายามเชียร์ สว.กลุ่มนี้ เพื่อให้เข้าไปเป็น หัวหอกในสภาสูง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจหลายอย่าง เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หากการทำประชามติผ่านจะต้องมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมรัฐสภา และการโหวตตั้งแต่วาระแรก จะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการสร้างมิติการเมืองใหม่ๆ ในสภาสูง

ทว่าเมื่อดูจังหวะการก้าวเดินทางการเมืองของ สว.กลุ่มดังกล่าว ที่ยังไม่ทันนับหนึ่งเริ่มต้นทำงาน ก็ตั้งกลุ่มต่อรองทางการเมืองเพื่อเอาโควตา-เก้าอี้ในวุฒิสภา ทำให้คนที่เคยคิดจะเชียร์ สว.กลุ่มดังกล่าวเริ่มส่งเสียงผิดหวังออกมา 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ สว.กลุ่มสีอื่นๆ มีรายงานว่า ถึงตอนนี้ กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน มีจำนวนเสียงในกลุ่มเพิ่มขึ้น โดยจากเดิมหลังมีการ แกะลายแทงการเมือง กันแล้ว พบว่า สว.สีน้ำเงินน่าจะมีเสียงในมือประมาณ 130 ที่นั่ง ที่ก็คือมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง สว. 200 คน ที่สามารถ "กำหนดทิศทางการลงมติของวุฒิสภาให้ไปทางใดทางหนึ่งได้" แต่ข่าวล่าสุดอ้างว่ากลุ่มสีน้ำเงินตอนนี้มีเสียงเพิ่มขึ้นมาร่วมๆ 144 เสียงเข้าไปแล้ว หลังช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่า มือดีล สว.สีน้ำเงิน ต่อสาย-ชักชวน สว.คนอื่นๆ ให้มาอยู่เป็น ขั้วสีน้ำเงิน ได้เพิ่มร่วม 12-15 คน ทำให้ตัวเลข สว.สีน้ำเงินเพิ่มขึ้นมา

ขณะที่ สว.สีแดง ที่ถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม น่าจะมีไม่เกิน 10 คน ส่วน สว.สีเขียว-ป่ารอยต่อฯ น่าจะมีประมาณ 15-20 เสียง

นอกจากนี้ พบว่ามี สว.บางรายต้องการสร้างกลุ่ม สว.โดยมีตัวเองเป็นแกนนำหรือมือประสาน เสมือนกับต้องการสร้างราคาการเมืองให้กับตัวเอง ด้วยการเล่นบทเป็นผู้ประสานงานกับ สว.คนอื่นๆ เพื่อตั้งกลุ่มขึ้นมา เช่น สว.กลุ่มสีขาว ที่ข่าวว่า นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.ขอนแก่น พยายามเซตกลุ่มขึ้นมา โดยมีรายงานว่ามีการต่อสายหา สว.ที่เป็นอดีต สส.หลายคนให้มาร่วมกลุ่ม สว.สีขาว

ข่าวจาก สว.ด้วยกันเองให้ข้อมูลว่า ความพยายามตั้งกลุ่ม สว.ลักษณะแบบนี้ เป้าหมายไม่ได้มีอะไรมาก เพียงแค่หวังเป็นกลุ่ม สว.ไว้ต่อรองเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น มีข่าวว่าหมอเปรมศักดิ์แสดงความสนใจอยากจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดใดชุดหนึ่ง เช่น คณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา หลังจากว่างเว้นการเมืองในสภามาร่วม 20 ปี แต่ดูแล้วหากไม่มีการไปดีลกับ สว.กลุ่มอื่นให้มาช่วยหนุน คงยากที่จะได้โควตา

ขณะที่ 3 เก้าอี้สำคัญในสภาสูงคือ ประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน ถึงตอนนี้ยังไม่นิ่งเสียทีเดียว อาจมีพลิกได้ในช่วงโค้งสุดท้าย มีการเปลี่ยนตัวกันแบบพลิกโผก็ได้

แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า มงคล สุระสัจจะ อดีต ผวจ.บุรีรัมย์-อดีตอธิบดีกรมการปกครอง คือเต็งหนึ่งจะเป็นประธานวุฒิสภา ส่วนพลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ จะไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา

กระนั้น สุดท้ายต้องรอดูว่าผู้มีบารมีตัวจริงของ สว.สีน้ำเงิน โดยเฉพาะบ้านใหญ่บุรีรัมย์ จะเคาะออกมาอย่างไร จะเอาตามโผดังกล่าว หรือเปลี่ยนโผถ้าเห็นว่ามีคนเหมาะสมมากกว่า 2 คนนี้ เพราะจะพบว่าในกลุ่ม สว.สีน้ำเงินก็มีหลายคนที่มีความใกล้ชิดกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เพียงแต่ชื่อชั้น โปรไฟล์ ดูแล้วยังไม่เด่นเท่า "มงคล-พลเอกเกรียงไกร” นั่นเอง

ขณะที่คนที่รอลุ้นชิงเก้าอี้ รองประธานวุฒิสภา ก็เริ่มมีหลายชื่อปรากฏออกมาตามหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็น ดร.นันทนา นันทวโรภาส สว.สายสื่อ-บุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต.และอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7-ดร.นพดล อินนา อดีต สส.บัญชีรายชื่อ ไทยรักไทย-นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อดีตทีมงานการเมืองหน้าห้องอนุทิน ชาญวีรกูล สมัยเป็น รมว.สาธารณสุข-พรเพิ่ม ทองศรี พี่ชายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ญาติห่างๆ กับเนวิน ชิดชอบ เป็นต้น

อีกทั้งมีข่าวว่าสายบ้านป่าฯ อาจดัน สว.ในกลุ่มชิงรองประธานวุฒิสภาเช่นกัน โดยมีชื่อบางคนเริ่มถูกจับตามอง เช่น อภินันท์ เผือกผ่อง อดีต ผวจ.นครศรีธรรมราช-พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ อดีตจเรตำรวจ แต่ข่าวว่าสายบ้านป่าฯ ยังไม่เคาะว่าจะดันใคร เพราะมีตัวเลือกหลายชื่อ แต่ที่สำคัญคือ สว.ในกลุ่มบ้านป่าฯ ต่างกำลังรอสัญญาณว่าบ้านป่าฯ มีการดีลกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เพื่อขอโควตารองประธานวุฒิสภาสำเร็จหรือไม่ ซึ่งหากดีลไม่ลงตัว กลุ่มบ้านป่าฯ ก็คงไปต่อรองโควตาประธานคณะกรรมาธิการสำคัญๆ ของวุฒิสภาแทน 

ท่ามกลางกระแสข่าว สว.บ้านป่าฯ เล็งโควตาไว้หลายคณะ เช่น คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ประธาน กมธ.คือ พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จากบ้านป่าฯ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีการเก็งกันว่า กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่น่าจะพยายามส่งคนในกลุ่มไปนั่งเป็นประธาน กมธ.ชุดที่ตรงกับแนวทางของกลุ่ม เช่น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาจจะดันอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปลุ้นเป็นประธาน กมธ. รวมถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

               สำหรับเรื่องการตั้งกลุ่มการเมืองในสภาสูง มีการให้ข้อมูลที่น่าสนใจจากหนึ่งใน สว.ชุดปัจจุบัน นั่นก็คือ อังคณา นีละไพจิตร สว.จากกลุ่มภาคประชาสังคม-อดีตกรรมการสิทธิฯ

โดย สว.อังคณา ให้ข้อมูลหลังถูกถามว่า ตั้งแต่หลังมีการประกาศรายชื่อคนที่ผ่านเข้ารอบได้เป็น สว. 200 รายชื่อ ก็เริ่มมีข่าวเรื่องการล็อบบี้อะไรต่างๆ เช่น การล็อบบี้เลือกประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ส่วนตัวมีใครมาติดต่อล็อบบี้อะไรหรือไม่

เรื่องนี้ อังคณา เล่าว่า ส่วนตัวไม่เคยได้รับการติดต่อล็อบบี้ใดๆ แต่ว่าได้คุยกับบางคนที่อายุยังไม่มาก เขาก็เล่าให้ฟังว่า มีคนโทรศัพท์มา ก็มีแบบสัญญาว่าจะให้อะไรแบบนี้ ตัวเลขอาจจะเป็นแบบเงินเดือนเพิ่มเติม มีอะไรแบบนี้ เขาก็มีพูดให้ฟัง อันนี้เท็จจริงก็แล้วแต่ แต่เราก็รับฟัง

"ที่เข้าใจก็คือ ก็จะมีคนที่แบบพยายามจะรวมกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เพื่อที่จะไปต่อรองขอรับตำแหน่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะมาเอาชื่อเราไปรวมอยู่ด้วย เพราะรู้สึกมีความพยายามรวบรวม และเท่าที่ทราบก็มีบางคนที่เขาติดเข้าไปอยู่ในหลายกลุ่ม แล้วบอกว่ากลุ่มตัวเองมีอยู่ 30 คน เพราะฉะนั้นต้องได้ 1 ตำแหน่ง อะไรแบบนี้ ตรงนี้ก็ได้ยินอยู่ แต่ว่าจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบ แต่ที่ได้ยินกับตัวเองก็คือ ก็มีคนมาพูดว่า มีคนที่อยากจะมาอยู่กลุ่มกับเรา แล้วเราจะเสนอเขาเป็นรองประธานวุฒิสภา พอได้ยิน เราก็คิดว่าเขาเป็นใครหรือ ไม่เคยเห็นหน้าเลย ไม่เคยได้ยินเสียง แล้วอยู่ดีๆ จะมาอะไรได้ยังไง ก็มีอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีใครมาคุยกับเรา เพราะคิดว่าทุกคนก็ระมัดระวัง" สว.อังคณาระบุ

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ สว. 2567 ต่อการวางแผนจัดสรรต่อรองอำนาจในวุฒิสภา ซึ่งหากแต่ละกลุ่มคุยกันไม่ลงตัว ไม่มีใครยอมใคร

ผลที่ตามมาก็คือ จบศึกชิงเก้าอี้ ปธ.วุฒิสภา-รอง ปธ.วุฒิสภาเสร็จ รอยร้าวในวุฒิสภาคงตามมาอย่างรุนแรง!!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดรามา วุฒิการศึกษา 'หมอเกศ' เปิดข้อกม.เอาผิด-พ้นสภาพสว.?

นับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อปลายเดือนมิ.ย. สิ้นสุดลง หัวกระไดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่แห้งอีกเลย เพราะหลังจากนั้นมีกลุ่มคนเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกที่ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือเรียกว่า ฮั้ว หรือการตรวจคุณสมบัติสว.

ถูกกระทำมาก่อน! 'ธรรมนัส' แนะ 'หมอเกศ' อย่าตอบโต้ปมวุฒิ ป.เอก ลั่นต้องให้อาจารย์รับผิดชอบ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวุฒิการศึกษาปริญญาเอกของ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียยูนิเวอร์ซิตี้ (California University)

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะแหล่งที่มาเงิน 4.5 แสนล้าน ไม่ง้อ ธ.ก.ส. ชง ครม. 23 ก.ค.

'บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต' เคาะงบ 4.5 แสนล้าน แจก 45 ล้านคน ตัดงบ ธ.ก.ส. ชง ครม. สัปดาห์หน้า แถลงใหญ่ 24 ก.ค. ยันลงทะเบียนไตรมาส 3 โอนเงินไตรมาส 4

'สว.พันธุ์ใหม่' ท้าชนบ้านใหญ่ ชิงเก้าอี้สภาสูง หนุนโควตาสตรี

'นันทนา' ฟุ้ง 'สว.พันธุ์ใหม่' มี 30 คน ลั่นพร้อมส่งชิง 3 เก้าอี้สภาสูง อึกอัก 'บุญส่ง' อยู่ในกลุ่มหรือไม่ เฉไฉตอบสู้บ้านใหญ่สายสีน้ำเงิน ย้ำหนุนโควตาสตรี งานแรกแก้รธน. ที่มาวุฒิสภา

เคาะแล้ว! ประชุม สว. นัดแรก 23 ก.ค. เลือก 3 เก้าอี้สภาสูง วางตัว 'ปธ.ชั่วคราว'

น.ส.นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มาแสดงตนแล้ว 198 คน ซึ่งคาดว่าอีก 2คน จะมาแสดงตนในช่วงบ่ายของวันนี้

'รัฐสภา' ไม่มีอำนาจรับรองวุฒิการศึกษา ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.

'อาพัทธ์' โต้ 'สมชัย' รัฐสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบ-รับรองวุฒิการศึกษา เผยต้องคุยฝ่ายกฎหมายก่อนเอาผิดได้หรือไม่ ปัดก้าวล่วงคุณสมบัติ สว.