หลังการรายงานตัวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เสร็จสิ้นลงในสัปดาห์หน้า วันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ได้มีการคาดหมายกันว่า ไม่แน่อาจจะมีการนัดประชุม สว.นัดแรกกลางสัปดาห์หน้าเลย ในช่วงพฤหัสบดี-ศุกร์ที่ 18-19 ก.ค. หรือช้าสุดคงไม่เกินวันจันทร์ที่ 22 ก.ค. เพื่อเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 รวมทั้งหมด 3 ตำแหน่งสำคัญในสภาสูง
ท่ามกลางกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของ สว.ชุดใหม่ที่มีการนัดพบปะพูดคุย-เจรจาทางการเมือง-ล็อบบี้ตั้งกลุ่ม สว.เป็นไปอย่างคึกคัก
โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเย็นพฤหัสบดีที่ 11 ก.ค. ก็มีกระแสข่าวว่า หลัง สว.ทยอยไปรายงานตัวกันร่วมกว่า 100 คนเสร็จสิ้น ก็มีการนัดหมายไปกินข้าวพบปะเลี้ยงฉลองการได้เป็น สว. และเพื่อแนะนำตัวทำความรู้จักกันที่ร้านอาหาร-คอฟฟี่ช็อปหลายแห่ง
ข่าวว่า “ดีลสภาสูง” ที่เริ่มฝุ่นตลบ-จัดโผ วางขุมกำลังในสภาสูงครั้งนี้ มี “ผู้ประสานดีล” ในการนัดหมาย ที่เป็นทั้ง สว.และตัวแทนของกลุ่มอำนาจการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง สว.กลุ่มต่างๆ เช่น ตัวแทน-คนใกล้ชิดของผู้มีอำนาจจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์-กลุ่มบ้านป่ารอยต่อฯ-กลุ่ม สว.อิสระที่ถูกมองว่าเป็น สว.สีส้ม หรือ สว.สีแดง ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายเพื่อไทย คอยประสานงานเพื่อเซตกลุ่ม สว.ขึ้นมาเพื่อไว้เป็นฐานการเมืองในสภาสูง โดยมีฉากวัดขุมกำลังกันนัดแรกก็คือ การเลือก ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา และคาดว่าจะมีการนัดหมาย สว.ด้วยกันเอง เพื่อเจรจาพูดคุย-ล็อบบี้กันทางการเมืองเพื่อวางตัว-เชตขุมกำลังไปนั่งตำแหน่งสำคัญๆ ในวุฒิสภากันมากขึ้นตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 12 นี้เป็นต้นไป หลัง สว.ส่วนใหญ่ทยอยรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
กระนั้น โผสุดท้าย ว่าใครจะเป็นประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา รวมถึงตำแหน่งสำคัญๆ ในวุฒิสภา กลุ่ม สว.สีไหนจะได้เก้าอี้อะไรบ้าง และใครจะได้ไปนั่ง คาดว่า สว.แต่ละกลุ่มจะรอฟังสัญญาณสุดท้ายจากคนที่คอยสนับสนุน สว.แต่ละกลุ่ม ที่จะเคาะออกมาในช่วงต้นสัปดาห์หน้าไม่เกินวันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเข้ารายงานตัวของ สว.
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกระแสข่าวบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เคาะแล้วว่าประธานวุฒิสภาจะเป็นโควตา สว.สีน้ำเงิน แต่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 กลุ่มสีน้ำเงิน พร้อมแชร์เก้าอี้ให้ สว.กลุ่มอื่น โดยเฉพาะ สว.ที่อยู่ในปีกรัฐบาลด้วยกันเอง ภายใต้เงื่อนไขคือ คนที่ส่งมาเป็นรองประธานวุฒิสภาต้องเป็นคนที่ประสานงานกับขั้วสีน้ำเงินได้ทุกเรื่อง ขออะไรแล้วต้องได้
ซึ่งดีลล่าสุดข่าวว่า สว.สีน้ำเงิน-บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ยอมเปิดทางแชร์เก้าอี้รองประธานวุฒิสภาหนึ่งเก้าอี้ให้เป็นโควตาของบ้านป่ารอยต่อฯ ที่ถึงตอนนี้ข่าวว่ารวมเสียง สว.ได้แล้วร่วมๆ 20-25 เสียง
กระนั้น ข่าวว่าบ้านป่าฯ เองยังหาตัว สว.ที่จะส่งไปนั่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ไม่ได้ เพราะแผนเดิมที่เคยวางตัว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร. อดีตบิ๊กสีกากีสายตรงบ้านป่าฯ ไว้ว่าจะให้เป็นรองประธานวุฒิสภา ก็ปรากฏว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ดันไม่เข้ารอบ 200 คนสุดท้าย ติดแค่ชื่อสำรอง
ทำให้ลือกันว่าอาจจะดัน สว.กลางๆ บางคนมาชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เช่น ดร.นพดล อินนา อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ที่หวนกลับการเมืองอีกครั้งหลังเป็น สส.ครั้งล่าสุดตอนเลือกตั้งปี 2544
รวมถึงยังมีข่าวอีกว่า เก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็มี สว.บางกลุ่มรอเสนอคนชิง เช่น มีข่าวว่ากลุ่ม สว.อิสระ-สีส้มจะดัน ดร.นันทนา นันทวโรภาส สว.สายสื่อฯ ชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แต่ประเมินแล้วคาดว่าเสียงหนุนสู้ สว.สีน้ำเงิน-บ้านป่ารอยต่อฯ ไม่ได้ จนมีข่าวว่ากลุ่มอิสระ-สว.สีส้มอาจเปลี่ยนแผน คือไปดัน บุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต.-อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ขึ้นชิงแทน ข่าวหลายสายให้ข้อมูลตรงกันว่า บุญส่ง อดีต กกต. ก็แสดงความสนใจอยากจะชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้ 5 ปีที่ผ่านมาก็ทำงานเป็นที่ปรึกษา-หน้าห้องของศุภชัย สมเจริญ อดีตรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มาตลอด โดยสูตรนี้ สว.กลุ่มอิสระจะเปลี่ยนไปดัน ดร.นันทนาชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 แทน เพราะสูตรรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ที่จะให้ สว.ผู้หญิงได้เป็นนั้น เริ่มมี สว.หลายคนเอาด้วย แต่สูตรนี้จะลงตัวหรือไม่ก็อยู่ที่ สว.สีน้ำเงินว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เพราะตอนนี้ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงินข่าวว่าก็เริ่มขัดกันแล้ว เพราะหลายคนก็อยากเป็นรองประธานวุฒิสภา เลยแย่งเก้าอี้กัน จนอาจไม่ยอมให้เป็นโควตา สว.หญิงก็ได้ หรือถ้ายอมก็จะดัน สว.สีน้ำเงินที่เป็นผู้หญิงลงชิง ไม่ยอมให้โควตากลุ่มอื่น
ส่วนเต็งหนึ่งประธานวุฒิสภา ข่าวหลายกระแสบอกว่ายังคงเป็น "มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง-อดีต ผวจ.บุรีรัมย์" สายตรงบ้านใหญ่ตระกูลชิดชอบ ส่วน "บิ๊กเกรียง พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีต ผช.ผบ.ทบ." ที่เดิมเป็นแคนดิเดตชิงประธานวุฒิสภา ข่าวว่าอาจจะสไลด์ไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา เป็นต้น
ซึ่งจริงๆ การเคลื่อนไหวตั้งกลุ่ม สว.ในวุฒิสภา พบว่ามีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว หลังได้รายชื่อ 200 คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็น สว.
สายข่าวในสภาสูงเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ผ่านมามี สว.หลายคน รวมถึง "ตัวกลาง-มือดีล" ที่อยู่ในพรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองต่างๆ พยายามรวมเสียง สว.ให้มาอยู่ในกลุ่มตัวเองให้มากที่สุด โดย สว.คนไหน ที่ไม่ชัดเจนว่าอยู่ขั้วไหน-สีไหน ก็จะได้รับการติดต่อจาก สว.ที่มีกลุ่มแล้ว ว่าขอให้มาเจอ มากินข้าวกัน จะชวนมาอยู่กลุ่ม สว.เดียวกัน และจะพาไปพบผู้ใหญ่ในวงการเมืองที่สนับสนุนกลุ่ม สว.ให้จัดตั้งกลุ่มในสภาสูง เพื่อใส่ชื่อว่าเป็น สว.ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อรู้จำนวนที่แน่นอนว่า สว.กลุ่มตัวเองมีกี่คน จะได้เคลื่อนไหวต่อรองทางการเมืองในวุฒิสภาได้ โดยเฉพาะเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา-ประธานคณะกรรมาธิการชุดสำคัญๆ ของวุฒิสภา
“ก็มี สว.บางคน เมื่อได้เบอร์โทรศัพท์ของ สว.ด้วยกันเองแล้ว เขาก็มีการโทรศัพท์ไปหา สว.คนนั้นๆ แล้วก็แนะนำตัวเองว่าเป็น สว.ด้วยกัน แล้วขอไลน์กันไว้ จากนั้นก็มีการตั้งไลน์กลุ่ม โดยในไลน์กลุ่มดังกล่าวแต่ละวันก็จะมี สว.เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีการคุยกันในไลน์กลุ่ม มีการนัดเจอกันตามที่ต่างๆ โดยก็มีการคุยกันในไลน์กลุ่มว่า ตอนนี้กลุ่มเรามี สว.ในกลุ่มแล้วกี่คน และจะไปดึง สว.คนอื่นมาเข้ากลุ่มได้อีกหรือไม่ จะชวนใครดี ใครรู้จัก สว.คนไหนบ้าง ก็ขอให้ไปชวนมาเข้ากลุ่ม
แล้วก็มีบางช่วง มี สว.บางคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้งไลน์กลุ่ม สว. พิมพ์ข้อความเข้ามาว่า ควรจะผลักดัน สว.บางคนในกลุ่มให้เป็นรองประธานวุฒิสภา เพื่อนๆ ในกลุ่มเห็นด้วยหรือไม่ และจะเสนอบางคนให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ บางคณะในวุฒิสภา โดยเอาจำนวน สว.ในกลุ่มไปต่อรองว่า กลุ่มเรามี สว.อยู่กี่เสียง จะขอโควตารองประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการฯ กี่ชุด โดยมีการระบุชื่อมาเลยว่าจะดันคนนี้เป็นรองประธานวุฒิสภา คนนี้เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งก็ปรากฏว่าทำให้ สว.บางคนที่ถูกดึงเข้ากลุ่มไลน์ดังกล่าว รู้สึกอึดอัด เพราะเห็นว่าเป็นการตั้งกลุ่ม สว.เพื่อต่อรองเก้าอี้ แย่งตำแหน่งกัน แล้วเคลมเขาว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มด้วย ทั้งที่บางคนที่เข้ากลุ่มไลน์ สว.ด้วย ไม่ได้คิดเรื่องแบบนี้ แต่ที่เข้ากลุ่มเพราะเห็นว่าเป็น สว.ด้วยกัน และอยากทำความรู้จักกัน พอเห็นแบบนี้ก็มี สว.บางคน ก็รับไม่ได้ที่ตัวเองถูกเอาชื่อไปเคลมว่าเป็น สว.ในกลุ่มนั้น จนสุดท้ายก็เลยออกจากกลุ่มไลน์ สว.กลุ่มดังกล่าวไป และพบว่าก็มีการตั้งกลุ่มไลน์ สว.ลักษณะแบบนี้อีกหลายกลุ่มเช่นกัน เพื่อต้องการบอกว่าตัวเองมี สว.อยู่ในกลุ่มกี่คนเพื่อเอาไปต่อรอง การจัดสรรตำแหน่งในวุฒิสภา” แหล่งข่าวที่เป็น 1 ใน สว. 200 คนชุดใหม่ เล่ารายละเอียดเบื้องหลังการตั้งกลุ่ม สว.ในช่วงนี้เพื่อต่อรองเก้าอี้สำคัญในวุฒิสภาให้ฟัง
ที่แสดงให้เห็นว่า สภาสูงตอนนี้ฝุ่นตลบพอสมควร กับการจัดทัพ ตั้งกลุ่ม ล็อบบี้ ชิงเก้าอี้สำคัญในวุฒิสภา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ