ปัญหาเรื่องประชาชนอยู่มาก่อนประกาศพื้นที่อุทยาน เป็นปัญหายาวนานที่รัฐบาลทุกยุคพยายามแก้ไข โดยเฉพาะการจัดทำวันแมป
แต่มันไม่ได้แก้ง่ายๆ เพราะแม้พยายามมาหลายยุค แต่จนทุกวันนี้เพิ่งจะสำเร็จไม่กี่พื้นที่ และมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ หรือการเพิกถอนพื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกิน อยู่อาศัย โดยไม่ผิดกฎหมาย
แล้วยังมีปัญหาแทรกซ้อน เรื่องที่ ‘นายทุน’ ไปซื้อที่ต่อจากชาวบ้าน เอามาทำโรงแรม รีสอร์ตหรู กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเองอีก
จึงไม่แปลกที่กรณี ‘เซฟทับลาน’ จะสนั่นโซเชียลมีเดีย หลังรับรู้ว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเพิกถอนพื้นที่ ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ ร่วม 2.6 แสนไร่
เป็นพลังคัดค้านจากทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกันไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วประชาชนทั่วประเทศเข้าใจถึงปัญหาของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก่อนจะประกาศเป็นอุทยาน แต่แรงคัดค้านที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ไว้วางใจในภาครัฐ
โดยเฉพาะเรื่องการช่วย หรือการเอื้อประโยชน์ต่อ ‘นายทุน-เจ้าของรีสอร์ต’ ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าว
หากการเพิกถอนออกมาแล้ว คนที่ได้ประโยชน์จริงๆ จะไม่ใช่ชาวบ้าน แต่เป็นพวก ‘นายทุน’ ที่จ้องจะกว้านเอาไปทำรีสอร์ต โรงแรม บ้านพักตากอากาศ
ชาวบ้านจะไม่ได้ประโยชน์จริงๆ!
ลำพังเรื่องการหั่นพื้นที่ป่าในประเทศนี้ถือเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้แล้ว การหั่นออกไปโดยมีช่องโหว่ให้ ‘นายทุน’ เข้าไปใช้ประโยชน์ ยิ่งทำให้กระแสคัดค้านทวีคูณ
เห็นได้จากช่องทางที่กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรณีการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.2567 ปรากฏว่า ตลอดทั้งวันมีประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน จนทำให้ระบบรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯ ล่มเป็นช่วงๆ และช่วงครึ่งวันของวันที่ 9 ก.ค.ที่กระแสกำลังร้อนแรง มีประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นแล้วกว่า 1 แสนราย
‘เซฟทับลาน’ ไม่ใช่เรื่องของคนในพื้นที่ แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศไปแล้ว
ขณะที่ภาครัฐเองก็สัมผัสถึงความร้อนแรงได้ พยายามออกมาชี้แจงว่ายังอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น และยังไม่ได้บทสรุป
และกระแส ‘เซฟทับลาน’ ใหญ่มากพอที่จะทำให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี ต้องรีบ ‘เซฟตัวเอง’ ว่า จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นรัฐบาลชุดที่แล้ว
‘เศรษฐา’ ถึงขั้นกับเอ่ยชื่อว่า มันมาจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติให้กันพื้นที่ชุมชนออกไปอยู่ในความดูแลสำนักการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน มี.ค.2566 ได้ให้ความเห็นชอบตามที่ คทช.เสนอ
‘เศรษฐา’ จำเป็นต้องเอ่ยชื่อ ‘บิ๊กป้อม’ เพื่อเป็นการเซฟตัวเองว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และดูแล้วรัฐบาลชุดนี้จะไม่กล้าเดินลุยประเด็นอุทยานแห่งชาติทับลานแบบสุ่มสี่สุ่มห้าแน่
‘เศรษฐา’ มองเห็นบทเรียนมาแล้วจากกรณี ‘หมุดเขาใหญ่’ ที่ ส.ป.ก.เอาไปปัก จนมีปัญหากับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ไม่มีใครเข้าข้างรัฐบาล ไม่มีใครเข้าข้าง ส.ป.ก. มีแต่คนเข้าข้างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะ ‘ตัวแทน’ ของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผืนป่าในประเทศนี้
แผลเรื่องความสุ่มเสี่ยงที่จะเอื้อประโยชน์ ‘นายทุน’ จากกรณี ‘หมุด ส.ป.ก.’ ที่เขาใหญ่ ยังคงเป็นความหวาดระแวงที่ประชาชนมีแต่รัฐบาลชุดนี้
กว่า ‘เศรษฐา’ และรัฐบาลจะผ่านเรื่องนั้นมาได้แทบจะหัวหมุน
เรื่อง ‘ที่ดิน-ผืนป่า’ กลายเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว ไม่ว่าจะดำเนินการเรื่องใดๆ จะถูกระแวงเสมอ
ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวผู้นำเองเป็น ‘ซีอีโอบริษัทอสังหาริมทรัพย์’ มาก่อนด้วย
ดูแล้วเรื่องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานบางส่วนน่าจะยืดเยื้อต่อ เพราะรัฐบาลคงไม่กล้าเดินลุยไฟ เพราะในประเทศนี้ เรื่อง ‘ป่า-สัตว์’ ถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และสร้างอารมณ์ร่วมของคนในประเทศได้ง่าย โดยไม่ต้องมีการจัดตั้งใดๆ
การดำเนินการท่ามกลางความสงสัยในเรื่องนี้ สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อภาพรวมได้
บทเรียนเรื่องจุดจบของรัฐบาลที่พยายามทำใน 2 สิ่งนี้ โดยไม่สนอารมณ์คนในสังคม ลงเอยไม่ดีสักราย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
อึ้ง! ปชช. 57% ไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้าน 'ไหม' โดดเด่นสุด 'เท้ง' รั้งอันดับ 9 'ป้อม' บ๊วย
โพลชี้ 'ศิริกัญญา' โดดเด่นสุด สส.ฝ่ายค้าน แซง 'หัวหน้าเท้ง' อยู่อันดับ 9 ตามคาด 'ลุงป้อม' รั้งท้าย อึ้ง! ประชาชนไม่เชื่อมั่นการทำงานฝ่ายค้านกว่า 57%
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.
เฝ้าระวังพื้นที่3จ.ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยทำคดีตากใบ หมดอายุความ จำเลยลอยนวล
หลัง คดีตากใบ หมดอายุความไปเมื่อเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส
พรรคร่วมยกการ์ดสูง นิรโทษ112 ระแวงพท.-ปชน.ร่วมมือเฉพาะกิจ
จบไปแล้วกับ รายงานศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กมธ. ภายหลังสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาฯ ติดขัดไม่ได้ลงมติ เนื่องจาก “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ชิ่งปิดประชุมไปเสียก่อน