สวมบท ‘หน่วยกล้าตาย’ ออกมาวิพากษ์การทำงานของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา สำหรับ ‘เดอะเงาะ’-นายวรชัย เหมะ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและอดีต สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย
นายวรชัยติงการลงพื้นที่แบบตะบี้ตะบันของนายเศรษฐา ในขณะเดียวกันแนะนำว่าให้กลับมานั่งทำงานที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อตรวจการบ้านกับสิ่งที่ตัวเองลงไปดูเอาไว้
อดีตแกนนำเสื้อแดงรายนี้ยังยอมรับว่า สิ่งที่ตัวเองพูดอาจระคายหูนายกฯ แต่เป็นความเห็นของคนที่เป็นมิตร
“สิ่งที่ผมพูดมานี้ในฐานะคนในบ้าน แม้บางอย่างอาจระคายหู แต่อยากให้รู้ว่าความคิดเห็นของผมคือความเห็นของคนที่เป็นมิตร ไม่มีเจตนามุ่งร้ายแอบแฝง ผมต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าได้ ปากท้องประชาชนจะได้กินอิ่ม ให้พรรคเพื่อไทยของเราจะได้กลับมาเป็นที่นิยมชมชอบ ใครจะว่าอะไรผมไม่สนใจ วันนี้ขอเป็นยาขมบอกปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนให้ถึงนายกฯ เมื่อท่านทราบปัญหาก็ถือว่าผมได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว”
มีการมองไปถึงเจตนาที่แท้จริงในการพลีชีพของนายวรชัยในคราวนี้ว่า เพราะหวังดี หรือมีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่
โดยปัจจุบันนายวรชัยเป็นนักการเมืองในองคาพยพของ นายพิชิต ชื่นบาน อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่คอยดูแลกันในหลายๆ เรื่อง
ขณะที่ ปัจจุบันนายพิชิตไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรในคณะรัฐมนตรีเลยนับตั้งแต่เกิดเรื่องคุณสมบัติ ทำให้นายวรชัยและนักการเมืองหลายๆ คนในพรรคเพื่อไทยขาลอย ไร้ที่ยึดเหนี่ยว
ท่าทีของนายวรชัยถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการออกมาแสดงตัวตน หรือเรียกร้องเพื่อให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือไม่
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเจตนาของนายวรชัยนั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งที่นายวรชัยพูดออกมากลับตรงใจกับหลายคนในพรรคเพื่อไทยในขณะนี้
มีการมองว่า การทำงานการเมืองแบบนายเศรษฐาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาไม่เวิร์ก โดยเฉพาะการลงพื้นที่ ที่แม้จะลงแบบถี่ยิบ แต่ดูจะเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ จนมีการแซวกันว่า นี่ไม่ใช่ ‘ทัวร์นกขมิ้น’ เหมือนสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เป็น ‘ทัวร์ชะโงก’
เพราะนายเศรษฐาใช้เวลาในแต่ละจุด แต่ละจังหวัดค่อนข้างเร็ว จนถูกตั้งคำถามว่าจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนหรือไม่ ในขณะเดียวกัน มีการติดตามการแก้ไขปัญหาหรือไม่ว่าได้ผลสัมฤทธิ์เพียงใดนับตั้งแต่วันที่ก้าวเท้าไปเหยียบ
การสัมผัส การอยู่กับชาวบ้านมีเพียงน้อยนิด ในขณะที่การเตรียมงานเพื่อรอรับนายเศรษฐาแต่ละจุด บางจุดใช้เวลาตั้งหลายวัน
เรื่องการลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อไปรับฟังปัญหาถือเป็นสิ่งที่ดี แต่การลงแบบรวดเร็วที่เน้นปริมาณจะได้ผลเพียงใด นี่คือคำถามที่สังคมถามกันมาสักระยะหนึ่ง
หากสิ่งที่กำลังทำอยู่มันเวิร์กจริง เหตุใดคะแนนนิยมของนายเศรษฐา คะแนนนิยมของรัฐบาล ไม่ว่าจะสำรวจกี่ครั้งกลับถอยร่น หรือน้อยกว่าพรรคก้าวไกลแทบทุกครั้ง ทั้งที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ผลงานของรัฐบาลถึงตรงนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดๆ ว่าอะไรที่พูดได้เต็มปากว่ามาจากกึ๋นของคณะรัฐมนตรีชุดนี้
แน่นอนว่า อาจจะมีหลายอย่างที่สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือ ยังไม่มีอะไรโดนใจประชาชนจนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้แตกต่างหรือดีกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว
นโยบายเรือธงอย่างโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ยังอยู่ในสภาวะ ‘ลูกผีลูกคน’ แม้ล่าสุดนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง จะออกมายืนยันอีกครั้งว่าไตรมาส 4 เงินถึงมือประชาชนแน่นอนก็ตาม
ถึงวันนี้ประชาชนยังต้องลุ้นกันอยู่เลยว่าสุดท้ายจะได้หรือไม่ เพราะมันดูจะมีปัญหาทางข้อกฎหมายเต็มไปหมด ซึ่งสภาวะแบบนี้ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นจากรัฐบาล
ไม่เพียงเท่านั้น ตลอด 1 ปี ตัวผู้นำอย่างนายเศรษฐาเองเริ่มชักจะถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของตัวเอง
นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ที่ออกโดยรัฐบาล ถูกมองไปในเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง ในฐานะที่นายเศรษฐาคือ ‘อดีตพ่อค้าบ้าน’
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดระยะเวลาของทรัพย์อิงสิทธิจากปัจจุบัน 30 ปี ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562 เป็นไม่เกิน 99 ปี หรือการให้คนต่างด้าวสามารถถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด จากเดิมไม่เกิน 49% เป็นไม่เกิน 75%
"ปัจจุบันต่างชาติถือคอนโดฯ ทั้งประเทศแค่ 16% มีเพียงบางโครงการเท่านั้นที่ถือถึง 49% ส่วนใหญ่แล้วถือไม่ถึง เราจะแก้จาก 49% เป็น 75% ทำไม ท่านเอาความเสี่ยงของประเทศไปแลกเพื่อจะช่วยบางโครงการขายโครงการได้มากขึ้นหรือไม่ และคำว่าทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปี ต่างกับการเช่า 99 ปีอย่างไร และทำไมต้อง 99 ปี” นี่คือข้อสังเกตของ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ระหว่างการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร
หรือหากย้อนไปก่อนหน้านี้ที่ ครม.มีมติปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับผู้อยู่อาศัย โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 ที่มีราคาซื้อและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท จากเดิม 3 ล้านบาท
ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็ถูกตั้งข้อสังเกตไปแล้วหนึ่งรอบแล้วว่า เป็นการเอื้อให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาชีพเดิมของผู้นำหรือไม่
จะเห็นว่า 1 ปีของนายเศรษฐา นอกจากจะเบ่งผลงานไม่ออก ตัวผู้นำก็เริ่มโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า