หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ประกาศรับรองรายชื่อสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศยืนยันว่าไม่เกิน 3 ก.ค. ประกาศรับรองแน่ ดังนั้นก็ต้องมาลุ้นกันต่อในสัปดาห์นี้ ช่วง 8-12 ก.ค. ว่า กกต.จะประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่หรือไม่ หรือจะต้อง เลื่อน-ขยับ ออกไปอีก
ท่ามกลางข่าวหลายกระแสที่ออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งกระแสข่าวในช่วงเย็นๆ ค่ำๆ วันจันทร์ที่ 8 ก.ค.อาจมีการประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่ในราชกิจจานุเบกษา หลังการประชุมวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่นัดประชุมกันวันที่ 8 ก.ค.เสร็จสิ้นลง หรือไม่ก็อาจเป็นวันอังคารที่ 9 ก.ค. แต่ช้าสุดหลายคนมองว่าไม่น่าจะเกินวันพุธที่ 10 ก.ค. และเมื่อกระบวนการรายงานตัวของ สว.ชุดใหม่กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเรียบร้อย จนทุกอย่างพร้อม อาจมีการนัดประชุมวุฒิสภานัดแรกในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค.เพื่อเลือก ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา หรือไม่ก็อย่างช้าไม่เกินช่วงจันทร์-อังคารที่ 15-16 ก.ค. แต่ถ้าสัปดาห์นี้ยังไม่มีการรับรอง สว.อีก การเลือกประธานวุฒิสภาก็ต้องขยับออกไป
ขณะที่ข่าวอีกบางกระแสก็ลือว่า สัปดาห์นี้ กกต.รับรองแน่ แต่อาจจะประกาศรับรองรายชื่อไม่ครบ 200 คน เพราะอาจมีว่าที่ สว.บางคนถูก กกต. แขวน-จับแช่แข็ง ไม่รับรองรายชื่อ บ้างก็ลือถึงว่า อาจเสี่ยงจะถูก กกต.สอยเอาเลยเพราะพบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติไม่ครบตามสเปกที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยเหตุที่ กกต.มีการแขวนหรือสอย เพราะต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง ฝ่าย กกต.ไม่มีการตรวจสอบคัดกรองผู้สมัคร สว.อย่างเข้มข้นพอ จนทำให้ว่าที่ สว.บางคนถูกตั้งคำถามว่าอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการลงสมัคร แล้วจากนั้น กกต.ก็ประกาศรับรองรายชื่อว่าที่ สว.ที่เหลือทั้งหมด
ส่วนเรื่องการตรวจสอบการ บล็อกโหวต-ฮั้ว-ซื้อเสียงผู้สมัคร สว.ด้วยกันเอง เป็นเรื่องที่การตรวจสอบต้องมีพยานหลักฐานค่อนข้างชัด เพราะต้องส่งคำร้องให้ศาลฎีกาฯ พิจารณา ทำให้ กกต.ต้องใช้เวลาพอสมควร จะเอาพยานหลักฐานจากโซเชียลมีเดียหรือคำให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้สมัคร สว.ที่สอบตกมาพิจารณาอย่างเดียวไม่ได้ การพิจารณาในส่วนนี้จึงต้องรอไปก่อนหลังจากรับรองรายชื่อ สว.ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข่าวบางกระแสให้ข้อมูลอีกด้านว่า มีแนวโน้ม กกต.น่าจะรับรองรายชื่อทั้งหมด ไม่น่าจะมีการแขวนหรือสอยบางคนก่อนประกาศ เพราะเวลา 1 สัปดาห์เศษที่ผ่านมาหลังการคัดเลือก สว.เสร็จสิ้นเมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 มิ.ย. การที่ กกต.จะแขวนว่าที่ สว.บางคน ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ พอสมควร เช่น หลักฐานวุฒิการศึกษา ที่ว่าที่ สว.บางคนถูกวิจารณ์อยู่ในขณะนี้ เพราะเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ต้องทำหนังสือสอบถาม-ขอเอกสารไปยังสถาบันการศึกษา ให้ยืนยันมาอย่างเป็นทางการ โดยเรื่อง สว.คนไหนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติการลงสมัคร กฎหมายเขียนไว้อยู่แล้วว่า ให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ดังนั้น กกต.จึงไม่น่าจะแขวน สว.บางส่วนในสัปดาห์นี้
ทั้งหมดคือการจับกระแสทิศทาง ความน่าจะเป็นของ กกต.ในการประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่ที่เกิดขึ้น แต่คำตอบสุดท้าย อยู่ที่ กกต.จะชี้ขาด-ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร?
ขณะที่เรื่องการวางตัวบุคคลให้ไปรับตำแหน่งใหญ่ในวุฒิสภา ข่าวยังมีออกมาเป็นระยะ พลิกไปพลิกมา อย่างข่าวก่อนหน้านี้ก็ลือกันว่า เก้าอี้ประธานวุฒิสภา เต็ง 1 เปลี่ยนจาก "บิ๊กเกรียง" พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีต ผช.ผบ.ทบ.-อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ไปเป็น "มงคล สุระสัจจะ" อดีต ผวจ.บุรีรัมย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ซึ่งโผล่าสุดข่าวว่า สว.สีน้ำเงินจะดันบิ๊กเกรียงไปเป็น ประธานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา ที่น่าจะตรงกับบุคลิก-ประสบการณ์การทำงานของพลเอกเกรียงไกรมากกว่า อีกทั้งก็สมน้ำสมเนื้อ เพราะอย่าง ประธาน กมธ.ทหารฯ วุฒิสภา คนล่าสุด ก็ไม่ธรรมดา ระดับ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด นั่นก็คือ "บิ๊กสร้าง" พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส.-อดีตรองประธานคมช.
ทว่าข่าวอีกบางกระแสอ้างว่า สว.สีน้ำเงินไม่น่าจะดันมงคลนั่งประธานวุฒิสภา เพราะนายมงคลใกล้ชิดกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์มากเกินไป ที่อาจทำให้บ้านใหญ่บุรีรัมย์และพรรคขั้วสีน้ำเงินตกเป็นเป้ามากเกินไป ดังนั้นต้องรอดูกันว่า สุดท้ายโผจะพลิกอีกหรือไม่ หรือจะมีชื่ออื่นที่ไม่ใช่พลเอกเกรียงไกร-มงคล โผล่เข้ามาเป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ ในช่วงโค้งสุดท้าย
นอกจากนี้ สำหรับเก้าอี้ รองประธานวุฒิสภา อีก 2 คน ลือกันหนาหูว่า กำลังจะมีการเจรจาพูดคุยกันอยู่ เพราะขั้ว สีน้ำเงิน อาจเปิดทางให้ บิ๊กบ้านป่าฯ ดัน สว.ในเครือข่ายมาเป็นรองประธานวุฒิสภาได้ 1 คน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์การเมืองที่ดีต่อกันไว้ต่อไป หลังมีกระแสข่าวว่า “บ้านป่าฯ” กำลังจะมีฐานอำนาจการเมืองในวุฒิสภาชุดใหม่ แทน สว.ชุดปี 2562 ที่เคยคุมไว้ได้ 60-70 คน ช่วงพีกๆ แต่ตอนนี้ขุมกำลังนี้กำลังจะไม่มีแล้ว จึงต้องสร้างฐานขึ้นมาใหม่ จนมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า สว.สายบ้านป่าฯ บางคน ต่อสายชักชวนให้ว่าที่ สว.หลายคนเข้าไปกินกาแฟตอนเช้า จิบชายามบ่าย ที่บ้านป่าฯ เพื่อสร้าง กลุ่ม สว.บ้านป่าฯ ขึ้นมาในสภาสูง จนเกิดข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีว่าที่ สว.ชุดใหม่ร่วม 20 คน ถูกชักชวนให้เข้าบ้านป่าฯ
เป็นไปได้ไม่น้อย ที่หากมีการเซตกลุ่ม สว.บ้านป่าฯ ได้ ในช่วงแรกสัก 30 เสียงอย่างต่ำ ก็คาดว่า สว.สีน้ำเงินก็พร้อมจะให้ สว.บ้านป่าฯ ได้แชร์โควตาเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาได้ 1 เก้าอี้ รวมถึงเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา เพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่ในสภาสูง สีน้ำเงิน-สีเขียว บ้านป่าฯ ที่ถ้าคุมเสียงข้างมากไว้ได้ ก็จะมีผลไปถึงการโหวต เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บุคคลไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระและองค์กรอื่นๆ เช่น กสทช.-ประธานศาลปกครองสูงสุด-ตุลาการศาลปกครองสูงสุด-เลขาธิการ ปปง. เป็นต้น
ที่น่าสนใจมีข่าวว่ากำลังมีว่าที่ สว.อีกบางส่วน ที่ไม่ได้อยู่ในขั้ว สีน้ำเงิน-สีเขียว บ้านป่าฯ-สีส้ม ก็กำลังเคลื่อนไหว จะตั้งกลุ่ม สว.ขึ้นมา โดยตอนนี้ กำลังรวมเสียงกันอยู่ เบื้องต้นข่าวว่าได้ประมาณเกือบ 10 คน และใช้ชื่อในการเคลื่อนไหวว่าเป็น สว.สีขาว เพื่อตั้งกลุ่ม สว.อิสระขึ้น โดยมีว่าที่ สว.จากภาคอีสานคนหนึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว เพื่อไว้ต่อรอง-เคลื่อนไหวทางการเมืองกับ สว.กลุ่มอื่นๆ
ทุกความเคลื่อนไหวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ขนาดวุฒิสภาชุดใหม่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง กกต.ยังไม่รับรอง ก็มีการเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ แต่เดินแรง ให้เห็นกันแล้ว แบบนี้ถ้า สว.ชุดใหม่เริ่มทำงานเมื่อไหร่ การเมืองในสภาสูงคงเข้มข้นเป็นแน่แท้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
เลขาฯกกต. ลั่นสนามเลือกตั้ง อบจ. ไม่มีเจ้าพ่อ กติกาไม่ดีอย่าโทษกรรมการ ต้องไปแก้กฎหมาย
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวตอนหนึ่งของการเสวนา “ความสำคัญของการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด” ว่า กกต.มีหน้าที่ในการจัดการเลือดตั้งให้ออกมาดี
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ