“เป็นจังหวะเวลาการเลือกตัวบุคคลในองค์กรอิสระที่เคยถูกกลุ่มลุงควบคุม เปลี่ยนมือไปสู่อำนาจของนักการเมืองอาชีพ ลดทอนการต่อรองเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต"
การเมืองประเด็นร้อนที่จะทำให้สถานการณ์ระอุคงต้องพักยกในเดือนมหามงคลไปก่อน สอดคล้องกับที่ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คาดการณ์จะตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล และคดีสถานะนายกรัฐมนตรีของ “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน ก่อนเดือน ก.ย.นี้
ส่วนประเด็นที่ไม่ได้มีผลในเชิงสร้างแรงเสียดทานมากนักก็คงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการรับรอง 200 ผู้ได้รับเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อไปทำหน้าที่หลังจาก สว.ชุดที่แล้วหมดวาระ
แม้จะเลื่อนประกาศผลการรับรองจากวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาตามกำหนดเดิมไว้ เพราะยังมีคำร้อง 614 เรื่องที่ยื่นคัดค้านกระบวนการเลือก สว.ไม่โปร่งใส ทั้งร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ การร้องเฉพาะรายกรณี หรือร้องให้รับรองก่อนแล้วไปสอยที่หลัง เพราะลำดับสำรองต่างรอเข้าคิวเข้ามาเป็นแทน
จากกติกาเลือก สว.ของ กกต. ที่ไม่รู้ว่าเสียรู้นักการเมืองอาชีพที่คำนวณสูตรคณิตศาสตร์ วางทีม วางคนมาอย่างดี จนเห็นร่องรอยผู้สมัครไม่ตรงปก และการจัดตั้งผู้สมัครไปเป็นโหวตเตอร์อย่างเดียว รวมถึงการจัดทัพในรอบไขว้ต่างๆ จนเป็นผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์
หรือจะเป็นเพราะเกมหลังม่านที่ร่วมกันยักคิ้ว หลิ่วตา ปล่อยให้การไขว้ถูกใช้มาเป็นกลไกไปสู่เป้าหมาย แต่ในที่สุดก็ต้องบอกว่า สภาชุดนี้แม้จะมีค่ายสีน้ำเงิน คุมได้ 120 เสียง ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมาก แต่ที่เหลือก็มีความกระจัดกระจาย เกินจะจัดประเภทได้เป็น 2 กลุ่มเหมือนยุค 2 ลุง
กระนั้นยังไม่มีสัญญาณว่า กกต.จะ เตะถ่วง หรือ ล้างไพ่ ผลการเลือกที่ออกมา และคาดว่าจะเดินหน้ารับรอง สว.ในช่วงสัปดาห์หน้า
เพราะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับการเข้ารายงานตัวของ 200 สว.ชุดใหม่แล้ว ที่อาคารวุฒิสภา เพื่อพร้อมรับการรายงานตัวได้ในวันถัดไปจาก กกต.ประกาศรับรอง
โดยปกติแล้วสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะเปิดรับรายงานตัวประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าที่ สว.จะเข้ารายงานตัวจนครบ 200 คน จากนั้นจะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อให้ สว. 200 คนกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ และจะเป็นวาระการเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา
โดยมีกระแสข่าวการวางตัวประธานวุฒิสภาไว้คือ นายมงคล สุระสัจจะ ว่าที่ สว.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ซึ่งถูกมองว่าเป็น สว.สายสีน้ำเงิน ในก๊วนของ บุรีรัมย์ ที่จัดเป็นกลุ่มก้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดหลังประกาศผลการเลือกออกมา
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุไว้ว่า หน้าที่ สว.คือพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ ให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ยังกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดจำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี เป็นได้วาระเดียว
อีกภารกิจสำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ
โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะมีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.2567 เหตุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี
นอกจากนี้ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์
ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ
ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับนายปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67
เป็นจังหวะเลือก ตัวบุคคล ในองค์กรอิสระที่เคยถูกกลุ่มลุงควบคุม เปลี่ยนมือไปสู่อำนาจของนักการเมืองอาชีพ ลดทอนการต่อรองเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในอดีต
อาจนับได้ว่าเป็นช่วงแห่งการหมดยุคของ 2 ลุงไปโดยปริยาย โดยลุงคนแรกส่งต่อให้ "ขั้วน้ำเงิน” สานต่อภารกิจที่ค้างอยู่ในการสกัดขั้วสีส้ม ส่วนอีกหนึ่งลุงที่ยังอยู่ในวังวนการเมือง ยังคงเดิมเกมต่อ ไม่ปล่อยอำนาจที่เคยมีให้หลุดมือไปได้ง่ายๆ
ว่ากันว่ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มว่าที่ สว.ชุดใหม่ คอยทำหน้าที่ประสานติดต่อว่าที่ สว.อีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็น สว.สีน้ำเงินหรือ สว.สีส้ม ให้มาร่วมพบปะพูดคุยกัน โดยว่าที่ สว.บางส่วนได้รับการติดต่อว่ามีผู้ใหญ่ใน "บ้านป่าฯ" ต้องการพบปะว่าที่ สว.ชุดใหม่บางคน มีการนัดหมายว่าจะพากันเข้าไปกินข้าวที่บ้านป่าฯ ซึ่งฝ่ายประสานงานอ้างว่าได้ประสานนัดว่าที่ สว.ชุดใหม่ได้แล้วประมาณ 20 คน
ยังไม่นับการนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ เนื่องจากมองว่าขณะนี้ กกต.ยังไม่มีกำหนดการประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ จึงถือว่า สว.ปัจจุบันยังต้องปฏิบัติหน้าที่ โดยการหารือได้แจ้งถึงการกำหนดวาระการประชุมวุฒิสภา โดยมีรายละเอียดสำคัญคือ พิจารณาญัตติของนายสมชาย แสวงการ สว. ที่เสนอให้วุฒิสภาตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงการเลือกกันเองของ สว.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 107
"การศึกษาคือ เกิดอะไรกับการเลือก สว.ปี 2567 ที่พบปัญหามาก ขณะที่การเลือกกันเองของ สว.ปี 2562 นั้น ไม่มีการร้องและไม่มีปัญหา สิ่งสำคัญคือระเบียบของ กกต.อาจมีปัญหา โดยเฉพาะการรับรองคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการเลือก ที่ปี 2567 มีข้อแตกต่างจากปี 2562 ที่กำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานลงนามรับรอง แทนให้ประชาชนรับรองกันเอง ทั้งนี้ จะมีข้อเสนอที่เป็นแนวทางแก้ไขประเด็นที่ไม่ถูกต้องในอนาคตด้วย รวมถึงประเด็นการฮั้วหรือจัดตั้งด้วย" นายสมชาย แสวงการ ระบุ
คงต้องติดตามต่อไปว่าการขับเคลื่อนของ สว.ค่ายสีน้ำเงินจะมีทิศทางอย่างไรในวุฒิสภา หลังจาก “ดีล” ในการจัดตั้งรัฐบาลทำให้ “ค่ายสีแดง” เป็นฝ่ายกำหนดเกมภายใต้การรวบรวมเสียง สส.ที่เป็นขั้วเดียวกันไว้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับความร่วมมือในเรื่องการผลักดันนโยบายเรือธง และตกม้าตายในหลายกรณี โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง
“สภาสูง” จึงเป็นสมการเขย่าอำนาจให้เกิดความสมดุลในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ภายใต้เป้าหมายในการสกัดพรรคสีส้มให้อยู่หมัด เรียกได้ว่าเครือข่าย “แม่สี” แบ่งพื้นที่กันยึดหัวหาด ไม่ให้ค่ายใดค่ายหนึ่งคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ หลังจากทำสงครามในสนามเสร็จสิ้นกันไปแล้วในการเลือกตั้ง
แต่อย่าลืมว่า สังคมยังจับตามองการทำงานของ สว.ชุดใหม่ต่อไปอย่างไม่ละสายตา จากที่ไม่เห็นด้วยเรื่องสภาฝักถั่ว-ท็อปบูตสามัคคี ช่วง สนช.หลังการรัฐประหาร จนมายุค 3 ป. ที่ล้วนถูกมองว่าเป็น สว.ของ 2 ลุง
จึงเป็นเรื่องของผู้ที่ได้รับเลือกจะทำงานอย่างไร ระหว่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชน หรือแค่ตอบโจทย์คนที่จัดตั้งให้ลงสมัครเท่านั้น!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครม. ไฟเขียว 'กม.กาสิโน' สั่งกฤษฎีกาดูข้อห่วงใย ก่อนส่งสภา
ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
'นายกฯอิ๊งค์' ขอเคลียร์ปม 'พ.ร.บ.กาสิโน' หลังถก ครม.
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมผู้สื่อข่าวสอบถามว่าจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
‘เลขาฯกฤษฎีกา’ ปัดขวาง กม.กาสิโน แค่แนะรบ.ต้องชัด ไม่ใช่สร้างสถานบันเทิงครบวงจร
เลขาฯ กฤษฎีกา แจง ไม่ได้ โดดขวาง กม.กาสิโน แค่แนะรบ.เอาให้ชัด ดึงดูดท่องเที่ยว หรือแก้พนัน ชี้ หากแก้ผีพนันต้องแก้นิสัย ไม่ใช่สร้างสถานบันเทิงครบวงจร ยัน เดินหน้าตามนโยบายได้
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ