จับตา กกต.เลื่อนรับรอง สว. เตรียมปล่อยผีสอยทีหลัง

นับได้ว่าขณะนี้ ถนนการเมืองได้คลอดว่าที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน และสำรอง 100 คน ที่เตรียมพร้อมจะเข้าทำงานในสภาเพื่อประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรอง สว.ดังกล่าวเลย จากที่คิดว่าจะจบเร็วก็ทำท่าจะกลายเป็นหนังชีวิต สว. ทั้งที่ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ประกาศว่า คาดว่าจะประกาศรับรอง สว.ได้ใน 3 ก.ค. ซึ่งเป็นไทม์ไลน์เดิมที่ได้ตั้งเป้าไว้

นั่นเป็นเพราะภายหลังการเลือก สว.จบลงไป มีผู้สมัคร สว.หลายรายทยอยเดินทางไปยื่นร้องเรียนที่ กกต. พร้อมทั้งนำเอกสาร หลักฐานไปยื่นประกอบ เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร สว.บางคนที่ไม่ตรงปก

โดยมีการตั้งข้อสังเกต ไม่ว่าจะเป็น พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ผู้ที่ได้รับคะแนนเลือก สว.มากที่สุดในทุกกลุ่ม  ที่ถูกเพ่งเล็งว่าจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยห้องแถวหรือไม่

หรือว่า สมชาย เล่งหลัก ว่าที่ สว. กลุ่ม 19 อดีตผู้สมัคร สส.พรรคภูมิใจไทย ที่ กกต.มีมติแจก "ใบดำ" เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีเตรียมเงินซื้อเสียง

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว. มีการฮั้ว บล็อกโหวตหรือไม่ ขณะเดียวกันมีผู้สมัคร สว.อีกจำนวนหนึ่ง ได้ไปยื่นต่อศาลปกครอง ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อระงับการประกาศผลการเลือก สว.ในวันที่ 3 ก.ค.ออกไปก่อน

โดยหยิบยกเหตุผล ความไม่โปร่งใส โดยมีการเดินเกมจ้างให้คนลงสมัครเพื่อเป็นโหวตเตอร์ คือสมัครเพื่อไปเลือกเป้าหมายที่ตัวเองต้องการอยากจะผลักดันเพื่อให้ได้เป็น สว.

โดยเรื่องที่สังคมให้ความสนใจที่สุดคือ ความเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายนักการเมืองกับบ้านใหญ่ ของว่าที่ สว.ชุดใหม่ที่ส่วนใหญ่มาจากค่ายสีน้ำเงิน

เพราะหากสืบสาว ไล่เลียง ก็ค่อนข้างชัดแจ้งในทางสาธารณะ อาทิ คนขับรถของบิดาเนวิน ชิดชอบ ที่ระบุประวัติเป็นนักฟุตบอลอาวุโส และได้เป็นว่าที่ สว.ตัวจริงแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีคนที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น น.ส.คอดียะฮ์ ทรงงาม ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าจาก จ.อ่างทอง ในใบแนะนำตัวระบุว่ามีประสบการณ์เป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายหมู่บ้าน และสุดท้ายได้เป็นว่าที่ สว.จากกลุ่มสื่อสารมวลชน  ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม (กลุ่ม 18) โดยพบข้อมูลว่าเป็นที่ปรึกษา สุรเชษ นิ่มกุล ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.อ่างทอง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับเครือข่ายบ้านใหญ่สีน้ำเงินใน จ.พระนครศรีอยุธยา

ขณะที่ในทางข้อมูลร้องเรียนนั้น สำนักงาน กกต.ระบุไว้ก่อนหน้านี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มียอด 614 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อคิดเป็น 65% คำร้องเกี่ยวกับเรื่องไม่สุจริตอยู่ที่ 14% เช่นประเด็นการให้ทรัพย์สิน และจ้างลงสมัครเรียกรับให้ลงคะแนน

ขณะที่การร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือมีอยู่ 3% โดยมีการคาดการณ์ว่าในสัปดาห์นี้และต่อๆไป จะมีเรื่องร้องเรียนเพิ่มพุ่งขึ้นเรื่อยๆ อาจจะถึงประมาณร้อยเรื่อง ซึ่งมีข้อมูลว่าแม้จะมีเรื่องร้องเรียนตามมาเป็นหางว่า แต่ กกต.จะเดินหน้าประกาศรับรองผลได้ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของประธาน กกต. ที่ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสข่าวการเลื่อนประกาศรับรองผล สว.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ว่า

"อย่าใช้คำว่าเลื่อน แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการประกาศรับรอง สว. ซึ่งตามแผนการที่จะประกาศรับรองวันที่ 3 ก.ค.  จะประกาศก็ต่อเมื่อ กกต.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะตรวจสอบในสิ่งที่ได้รับร้องเรียนเบื้องต้น จากนั้นก็จะประกาศได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการเลื่อน แต่ยังไม่เสร็จ จึงเป็นการทำให้เสร็จแล้วจะประกาศ"

ทั้งนี้แม้จะโดนบ่นรอบทิศ ในการดำเนินการตรวจสอบของ กกต. ว่าเหตุใดการเอาผิดใครสักคนหนึ่งถึงได้ล่าช้า ปล่อยให้ลอยนวลไปทำงานในสภาก่อนค่อยสอยทีหลัง แต่ในทางรูปธรรม และเดินตามเนื้องานกฎหมาย

ก็ต้องยึดตามกฎ ระเบียบ ว่าใครทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตการเลือก สว.นั้น ต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนว่าผิดจริงๆ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดมากพอจะสั่งเอาผิด หรือลบชื่อออกได้ในทันที

ถึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล หลักฐาน การหาหลักฐานเพิ่มเติม การประสานหน่วยงานนอกที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

ดังนั้น ขณะนี้จึงต้องจัดหมวดหมู่คำร้องเกี่ยวกับการเลือก สว.ว่าเป็นเรื่องอะไร ซึ่งไม่ได้มีกฎหมายระบุชัดว่าต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลากี่วันกี่เดือน แต่โดยส่วนใหญ่ กกต.จะดำเนินการราวๆ 1 ปี

โดยเคสนี้คล้ายกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่ประกาศรับรองไปก่อน เพราะอย่างไรก็ตามการสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานให้มัดแน่นเพื่อเอาผิดคนใดคนหนึ่งนั้นจะต้องทำอย่างละเอียด ไม่สามารถพิจารณาได้ทันตามไทม์ไลน์

กลับกันก็มีสังคมบางส่วนมองว่า แม้จะปล่อยผีไปแล้วก็สอยใครไม่ได้ เพราะเมื่อครบ 1 ปีแล้ว กกต.ก็ทำได้แค่ให้ใบแดงผู้ได้รับการเลือกตั้งเพียง 2 คน ทั้งที่การซื้อเสียงเกิดขึ้นในหลายเขต

ขณะที่ช่องทางออก ก็ยังมีวิธีการที่จะทำให้เรื่องร้องเรียนที่คงค้างเบาบางลงคือ การตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่ สว. 200 คน และสำรอง 100 คนก่อน เพราะบางรายมีการปลอมวุฒิการศึกษา โดยแค่ขอวุฒิการศึกษา ถ้าเขาไม่มีนั่นแสดงว่ามีการปลอมวุฒิ หรือแม้แต่การตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัคร สว.ก็สามารถทำได้เลยซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบฐานข้อมูลประวัติอาชญากรรม หรือคำพิพากษาของศาลกรณีถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าการตรวจสอบเรื่องทุจริตหรือฮั้ว ที่จะต้องใช้เวลารวบรวมหลักฐานเป็นระยะเวลานาน ซึ่งค่อยตามไปเก็บสอยทีหลังได้

โดยสรุป ช่วงสถานการณ์นี้สิ่งสำคัญคือ ต้องช่วยกันจับตามองการทำงานของ กกต. ว่าหลังจากประกาศรับรองผลแล้ว กกต.จะเดินหน้าอย่างไรในการตรวจสอบเอาผิดผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. รวมถึงพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมในการทำให้การเลือก สว.ไม่เป็นไปโดยสุจริต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ

กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ

เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล

'แก้วสรร' แนะ 'ธีรยุทธ' ปรับยุทธวิธี เสริมความแกร่งของสำนวนมุ่งไปที่ กกต.-ปปช.

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ