ไทม์ไลน์เคาะเครื่องบินรบ แง้มเส้นทางเรือดำน้ำเข้าครม.

เป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนที่กองทัพอากาศจะคัดเลือกแบบเครื่องบินรบฝูงใหม่ทดแทน เพื่อนำเข้าประจำการแทนเครื่องที่กำลังปลดประจำการ

หากเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เข้ารับตำแหน่งเดือน ต.ค.2566 ได้ตั้งคณะกรรมการฯ รวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตเครื่องบินรบที่เข้าตามเงื่อนไขที่กองทัพอากาศต้องการ ซึ่งมี พล.อ.อ.เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ เป็นประธาน รวมระยะเวลาทำงานแล้ว 9 เดือน

สรุปแล้วเหลือเพียง 2 แบบที่เข้าตามเงื่อนไขความต้องการ คือ gripen E/F ของบริษัท SABB สวีเดน และ F-16 block70 ของบริษัท Lockheed Martin สหรัฐ ซึ่งเป็นรุ่นที่สหรัฐเสนอว่าเหมาะกับศักยภาพของ ทอ.ไทย หลังจากสหรัฐปฏิเสธขายเครื่องบิน F-35 เครื่องบินรบเจเนอเรชันที่ 5 ให้ไทยในตอนนี้ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและองค์ประกอบอื่น

หลายเดือนที่ผ่านมา คณะทำงานได้พูดคุยลงในรายละเอียดกับทั้งสองชาติที่ ทอ.ดูเรื่องผลตอบแทนทางด้านยุทธการเป็นหลัก พร้อมรับข้อเสนอผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือ offset policy เป็นส่วนประกอบ จนเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผบ.ทอ.ได้เดินทางไปคุยกับผู้บริหาร SABB ที่สวีเดน และ Lockheed Martin ที่สหรัฐ เพื่อนำมาเวิร์กช็อป และขณะนี้ทั้งสองบริษัทได้ส่งข้อเสนอเป็นเอกสารเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งให้คณะกรรมการคัดเลือกแบบ ที่มี พล.อ.ท.วชิรพล เมืองน้อย เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ เป็นประธาน พิจารณา

โดยมีรายงานว่า ก่อนที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม จะนำทีมปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ ไปชี้แจงงบประมาณให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาฯ งบประมาณ ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 หรือที่ 3 ของเดือน ก.ค.นี้ ซึ่ง ทอ.ตั้งเป้าไว้ว่าจะตัดสินใจเคาะแบบเครื่องบินให้ได้ก่อนไปชี้แจงให้คณะกรรมาธิการฯ ได้รับทราบ เพราะจะได้ลงรายละเอียดในงบฯ ตั้งต้นปี 2568 และงบผูกพันให้ชัดเจน

เนื่องจากในตารางงบฯ ที่สำนักงบประมาณส่งให้สภา ได้กำหนดไว้กว้างๆ ว่า วงเงินผูกพันงบฯ 4 โครงการตั้งไว้ประมาณ 3,500 ล้านบาท จึงเป็นไฟลต์บังคับที่ต้องสรุปจบในเรื่องแบบให้ได้

แต่ในเรื่องของ “ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ” หรือ “การค้าต่างตอบแทน” หรือ “การลงทุนแบบแลกเปลี่ยน” เป็นหัวข้อในระดับรัฐบาลที่ต้องหารือในขั้นสุดท้าย ซึ่งในเบื้องต้นมีทั้งส่วนที่กระทรวงกลาโหมรวบรวมส่งขึ้นไป และมีการส่งข้อมูลโดยตรงถึงนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีของทูตสหรัฐที่ได้ส่งจดหมายไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หรือแม้กระทั่งในระดับรัฐมนตรีของสวีเดนก็เคยหยิบยกขึ้นมาหารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยมาแล้ว

เมื่อดูจากข้อมูลและขั้นตอนการทำงานของ ทอ.ที่เตรียมมาดี คาดว่าโครงการคงไม่ถูก “แช่แข็ง” อีก ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพอากาศกับรัฐบาลในยุคนี้ถือว่า “ไม่ได้ติดลบ” ท่าทีในการตอบรับนโยบายของรัฐบาล และการสนับสนุนภารกิจทุกด้านก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้าน ขณะที่การปรับเปลี่ยนกองทัพให้สอดคล้องกับกระแสการเมืองก็เป็นไปอย่างราบรื่น

อีกทั้ง พล.อ.อ.พันธ์ภักดียังมี “ตัวเชื่อม” อย่าง พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เพื่อน ตท.24 ร่วมเป็นแรงผลักดันข้อมูลให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย

แต่บทสรุปสุดท้ายก็อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2568 ถึงจะรู้ได้ว่า “รัฐบาล” ไฟเขียวหรือติดเบรกกันแน่ แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีสัญญาณลบว่า กมธ.เสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงของรัฐบาลจะโหวตคว่ำงบฯ รายการนี้เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเรือฟริเกตของกองทัพเรือในงบปี 2567 มาแล้ว

หันมาดูโครงการ “เรือดำน้ำจีน S26T” หลังจากที่คณะทำงานที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ได้หารือกับ SEMITECH หน่วยงานกลางด้านอาวุธของจีน จนได้ข้อสรุปยอมรับเครื่องยนต์จีนเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T พร้อมทั้งรายการชดเชยเพิ่มเติมที่ไม่สามารถหาเครื่องยนต์เยอรมันมาได้ตามสัญญาฯ

ช่วงที่ผ่านมา นายกฯ ได้ให้ทีมกฎหมายดูเรื่องข้อกฎหมายอีกครั้งเพื่อความรอบคอบ และได้ส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงกลาโหม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมเพิ่งส่งเรื่องไปที่รัฐบาลเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ระหว่างนี้ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องส่งหนังสือไปสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา

โดยวาระที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาคือ การแก้ไขสัญญา การมอบอำนาจให้ ผบ.ทร. การขยายเวลาของสัญญาออกไป เป็นต้น ตามแนวทางที่กระทรวงกลาโหมของไทย และ SEMITEC ได้ตกลงกันไว้ ก่อนเดินหน้าในเรื่องข้อเสนอเรื่องการค้าต่างตอบแทน ซึ่งเป็นส่วนที่กระทรวงพาณิชย์จะรับไม้ต่อเพื่อไปหารือกับทางการจีนอีกครั้ง

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้เรียก รมว.กลาโหมมาคุยเป็นการส่วนตัวแล้ว ทั้งเรื่องเครื่องบินและเรือดำน้ำ พร้อมทั้งแสวงหาข้อมูลทางวิชาการอย่างรอบด้าน เพื่อต้องการให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ และเป็นไปตามข้อกฎหมาย พร้อมกำชับให้ดูเรื่องข้อดี-ข้อเสีย ความคุ้มค่าที่ประเทศจะได้รับ หลังจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปซื้ออาวุธ

หากไม่มีอะไรผิดพลาดก็คาดว่าจังหวะเวลาที่จะได้ข้อสรุปอาจจะทันก่อนที่ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการ ซึ่งเจ้าตัวก็มีความหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้จบในยุคของตัวเอง เพื่อให้ผู้บัญชาการทหารเรือคนต่อไปจะเดินหน้าในโครงการอื่นต่อไป ไม่ต้องมามัวแต่แก้ปัญหาเดิมๆ

ที่สำคัญคือ สังคมต้องยอมรับเหตุผลในการใช้งบฯ เพื่อซื้ออาวุธในภารกิจป้องกันประเทศ ภายใต้กระบวนการจัดซื้อที่โปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย คุ้มค่า ตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดือนมหามงคล ทร.จัดพิธีบวงสรวงใหญ่ เรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค

พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ พิธีสงฆ์ และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระราชพิธี จำนวน 14 ลำ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย

'เศรษฐา' สั่งล้อมคอก! แก้ไขปัญหาเด็ก 1.02 ล้านคนหลุดระบบการศึกษา

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่ออนาคตของเยา

พท.ไม่สิ้นมนตร์ขลังแต่ชนะแค่1.8พัน ปิดตำนาน"บิ๊กแจ๊ส-มีวันนี้เพราะพี่ให้”

เสร็จศึกแล้วสำหรับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกฯ อบจ.ปทุมธานี ที่ล่าสุดผลคะแนนออกมาแล้วเป็นทางการ ผลปรากฏว่า “นายชาญ พวงเพ็ชร์” ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย มีดีกรีเป็นอดีตนายกฯ อบจ.ปทุมธานี 3 สมัย ได้คะแนนทั้งสิ้น 203,032 คะแนน

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยคดียุบพรรคก้าวไกล-ถอดถอนเศรษฐา เสร็จสิ้นก่อน ก.ย.

ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 ก.ค.นี้ ว่ามีหลายเรื่องอาทิเรื่องกฎหมายเช็คขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่อง MOU