กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีข้อเสนอแนะจากกระทรวงการคลัง ในการผลักดันนโยบาย 2 ข้อ คือ 1.เรื่องการถือครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดของต่างชาติ จากเดิม 49% เป็น 75% และ 2.เรื่องการเช่าที่ดินระยะยาว หรือการถือครองที่ดิน เพิ่มจาก 50 ปี เป็น 99 ปี
จึงเป็นข้อสั่งการของนายกฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่ง ครม.เห็นชอบและสั่งการไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมีเจ้ากระทรวงอย่าง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับไปดำเนินการ ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อให้กลุ่มนายทุนหรือไม่ เนื่องจากตัว “นายกฯ เศรษฐา” ก็มาจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกข้อครหานี้
ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าว ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลต้องยอมถอย เพราะถูกกระแสต่อต้าน เนื่องจากเส้นบางๆ ระหว่างคำว่าเป็นการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” กับ “ข้อหาขายชาติ” และนโยบายนี้ได้มีความพยายามปรับแก้มาแล้วหลายรัฐบาล โดยในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งแต่รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ในปี 2545 รัฐบาลนายทักษิณ ได้ออกกฎกระทรวงมหาดไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ พ.ศ.2545 กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2542 กำหนดคุณสมบัติของผู้ลงทุนในประเทศไทย ซึ่งคล้อยตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2542 ที่กำหนดชาวต่างชาติผู้มีการลงทุนในประเทศไทยและลักษณะพื้นที่ ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครอง ตลอดจนอำนาจในการเพิกถอนสิทธิรัฐ
ทั้งนี้ ชาวต่างชาติผู้มาลงทุนจะต้องลงทุนในประเทศไทย เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และไม่น้อยกว่า 5 ปี และที่ดินที่ถือครองจะมีขนาดไม่เกิน 1 ไร่ และต้องอยู่ในเขตที่อยู่อาศัยเท่านั้น
ส่วนในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการผลักดันกฎกระทรวงดังกล่าวเช่นกัน และก็ถูกวิจารณ์หนักจนต้องถอยไปตั้งหลักอีกครั้ง โดยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ.….ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
สาระสำคัญของกฎกระทรวง เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มคนต่างชาติที่มีสิทธิขอได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยกำหนดวิธีการนำเงินมาลงทุนตามประเภทของธุรกิจหรือกิจการว่า กลุ่มคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย คือ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดจำนวนเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ซึ่งเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง อีกทั้งมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
สำหรับร่างกฎหมายนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้แจ้งวัตถุประสงค์ว่าดำเนินไปเพื่อการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยมากขึ้น ในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด และสภาวะเศรษฐกิจโลก และร่างกฎกระทรวงจะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
และต่อมาในรัฐบาลปัจจุบันได้มีความพยายามปรับแก้อีกครั้ง โดยยกเหตุผลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2567 นายเศรษฐาได้เคยเกริ่นเรื่องดังกล่าวในเวทีปาฐกถากับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ช่วงหนึ่งถึงการให้คนต่างชาติถือครองที่ดิน จำนวน 1 ไร่ ว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำให้คนไทยเข้าถึงที่อยู่ลำบากขึ้น นั่นเป็นอุปสรรคใหญ่ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามคำว่าขายชาติได้ และคิดว่าไม่มีทางที่จะเอาต่างชาติมาถือที่ดิน ยังไงก็ไม่ผ่าน เพราะจิตใจคนไทย สังคมไทย รับไม่ได้ ส่วนเรื่องสิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวเป็น 90 ปี เป็นไปได้เพราะมีตัวอย่างจากหลายประเทศ จึงคิดว่าถ้า 99 ปีซื้อได้ เพราะยังเป็นของคนไทยอยู่ แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องดูอีกหลายเรื่อง
ทั้งนี้ แม้จะผ่านมาหลายรัฐบาล และมักจะถูกสกัดด้วยคำว่า “เอื้อนายทุน” หรือ “ขายชาติ” จนต้องสะดุดมาทุกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยล่าสุดนายเศรษฐาได้ชี้แจงย้ำชัดถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ ว่า
“เป็นข้อเสนอแนะจากกระทรวงการคลังเพื่อเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการขายขาด และในทุกๆ ประเทศก็มีลักษณะเช่นนี้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการถือครองคอนโดฯ ที่ให้ต่างชาติถือครองเพิ่มจาก 49% เป็น 75% แต่ยังมีสิทธิ์โหวตได้แค่ร้อยละ 49 เท่ากับคนไทยก็ยังเป็นใหญ่อยู่คือ 51% ตรงนี้ต่างชาติที่เกินมาจะไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงโหวตอะไร ได้แต่เข้าอยู่อาศัยเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าเป็นวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เอื้อนายทุนใดๆ ทั้งสิ้น และเสนอให้ไปศึกษาเรื่องของการเช่าที่ดินระยะยาว ไม่ได้เป็นการขายที่ดิน จึงไม่เกี่ยวอะไรกับการขายชาติ”
สอดคล้องกับนายอนุทิน เจ้ากระทรวงมหาดไทย ที่ออกมายืนยันว่า การดำเนินการต้องมีการวิเคราะห์ทั้งผลบวกและผลลบ ข้อกังวลของประชาชนต้องนำมาพิจารณาและต้องปกป้องประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ส่วนที่กลัวจะไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดไม่มีอยู่แล้ว ขอรับรองว่าตัวนายกฯ ไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับธุรกิจของท่านอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการตอนนี้อยู่ในขั้นตอน “กรมที่ดิน” พิจารณาร่างฯ ตามมติ ครม.ที่ได้สั่งการ จากนี้คงต้องจับตาว่าหลังมีกระแสวิจารณ์หนัก จะทำให้ “รัฐบาลนายเศรษฐา” ยอมถอยร่นเพื่อตั้งหลักก่อน หรือจะฝ่าแรงต้านเดินหน้าต่อไปหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่