วันพุธที่ 26 มิถุนายน ก็มาถึงแล้วสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน รอบสุดท้าย เพราะเป็นการเลือก สว.ระดับประเทศ มีการคาดหมายกันว่า ช่วงเย็นวันที่ 26 มิ.ย. คนทั้งประเทศจะได้เห็นรายชื่อว่าที่ สว.ชุดใหม่ 200 รายชื่อ
อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการด้วย ซึ่งถึงตอนนี้ กกต.ยังคงยืนยันว่า จะประกาศรับรองรายชื่อว่าที่ สว.ทั้งหมด 200 คน ในวันที่ 2 ก.ค. เพื่อให้เตรียมเข้าปฏิบัติหน้าที่การเป็น สว.ชุดใหม่ต่อไป หลังเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ จัดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรัม เมืองทองธานี โดยมีขั้นตอนคือ ผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบร่วม 3,080 คน จะต้องรายงานตัวตั้งแต่เวลา 08.00-09.00 น. เมื่อรายงานตัวต่อคณะกรรมการประจำสถานที่เลือกแล้ว ให้รออยู่ในสถานที่เลือก
โดยการเลือกรอบแรก จะเป็นการเลือกกันเองของผู้สมัครในกลุ่มสาขาอาชีพ 20 อาชีพ โดยผู้สมัครสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันได้ ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่จะไม่สามารถให้คะแนนบุคคล 1 บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 40 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นและเข้าสู่การเลือกรอบสอง จับสลากแบ่งสายเลือกไขว้ ซึ่งจากรอบแรกผู้สมัครที่ได้รับเลือก 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 40 คน จะ จะมีจำนวนผู้สมัคร 800 คนที่เข้าสู่ในรอบที่ 2
สำหรับการเลือกในรอบที่ 2 หรือรอบไขว้ หลังจากที่มีการจับสลากแบ่งสายเรียบร้อยแล้ว โดยจะแบ่งเป็น 4 สาย สายละ 5 กลุ่มอาชีพ ซึ่งรายการลงคะแนนผู้สมัครจะต้องเลือกบุคคลที่อยู่กลุ่มอาชีพอื่นในสายเดียวกัน โดยจะไม่สามารถเลือกตัวเองหรือผู้สมัครในกลุ่มอาชีพเดียวกัน
ซึ่งผู้สมัครแต่ละคนจะมี 5 คะแนน โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรกจะได้รับเลือกเป็น สว.
ส่วนผู้ที่ได้คะแนนในลำดับที่ 11-15 ของกลุ่มนั้นๆ จะอยู่ในบัญชีสำรอง ซึ่งจะได้ สว. 200 คน และบัญชีสำรอง 100 คน
เมื่อ กกต.ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศแล้ว จะต้องรอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน เมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว กกต.เห็นว่าการเลือกไปโดยสุจริต ถูกต้อง เที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกในราชกิจจานุเบกษา หรือเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นทุกกระบวนการแล้ว และเมื่อประกาศรายชื่อเสร็จ กกต.จะส่งรายชื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อให้ สว.ชุดใหม่ไปรายงานตัวต่อไป
ซึ่งรายชื่อผู้สมัครหลายคนที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัดเข้ามาก็มีหลายคน มองข้ามช็อตไปแล้วว่า อาจมีลุ้น เก้าอี้ใหญ่ในสภาสูง
หลังพบว่ามีแคนดิเดต สว.ที่ผ่านมาเข้ารอบสุดท้าย หลายคนถูกมองว่าเป็น สายตรงทักษิณ-คนเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และน้องเขย ทักษิณ ชินวัตร ที่เพียงแค่ไปยื่นสมัคร สว.ที่อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ก็มีชื่อเป็นตัวเต็งนั่งเก้าอี้ประมุขสภาสูงเสียแล้ว
และยังมี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ-อดีต รมว.พาณิชย์ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตประธาน บมจ.ไอทีวี และอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ชินคอร์ปฯ ตั้งแต่ยุคทักษิณ ยงทำธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ผ่านเข้ารอบ สว.จากจังหวัดสมุทรสงคราม รวมถึงยังมี ศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการยุครัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งรู้กันดีว่าสมัยเป็น สว.มหาสารคาม ปี 2543 เขาคือ มือประสาน-ตัวกลาง ในการประสานทางการเมืองระหว่างทักษิณกับวุฒิสภาช่วงปี 2543 จนทำให้วุฒิสภายุคดังกล่าวถูกตั้งฉายา สภาชิน
เดิมทีก่อนหน้านี้ ศรีเมืองเปิดตัวลงสมัครชิงนายกฯ อบจ.มหาสารคาม โดยมีการเดินสายหาเสียง-ขึ้นป้ายในจังหวัดแล้ว แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแผน เพราะเพื่อไทยหันไปดัน พลพัฒน์ จรัสเสถียร น้องชายของ เดอะโจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีต สส.มหาสารคามหลายสมัย ทำให้ศรีเมืองเปลี่ยนรันเวย์ไปลงสนามวุฒิสภา ท่ามกลางกระแสข่าว หากศรีเมืองฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้าย ได้เป็น สว.ก็จะได้รับการผลักดันให้มีตำแหน่งใหญ่ในวุฒิสภา
ขณะเดียวกันก็ต้องรอดูกันว่า กลุ่มผู้สมัครเครือข่าย สว.สีส้ม จะฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้ายได้กี่คน แม้จะมีการประเมินกันว่า น่าจะเข้ามาได้ไม่ถึง 1 ใน 3 อย่างที่ทางกลุ่มตั้งเป้าไว้ แต่ของแบบนี้ก็ไม่แน่ อาจพลิกโผได้ในช่วงโค้งสุดท้าย หากมีการแก้เกมมาดีในการโหวตรอบสุดท้าย 26 มิ.ย.นี้
ด้านมุมมองต่อ โฉมหน้าสภาสูง 2567 รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา นักวิชาการ-นักวิเคราะห์การเมือง วิเคราะห์ว่า สว. 200 คน จะมาจาก 4 กลุ่มหลักๆ
“สำหรับภาพรวมของ สว.ชุดใหม่หลังจากนี้ เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่า สว.ที่จะเข้าไป ก็จะมีกลุ่มหลักๆ คือ หนึ่ง ตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า มีเข้าไปแน่นอน สอง ตัวแทนกลุ่มทุนที่มีอิทธิพลเหนือรัฐ สาม กลุ่มตัวแทนของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองก็จะแบ่งเป็นพรรคแดง กับพรรคส้ม สี่ คือสัดส่วนของ สว.สายประชาชน ที่อาจจะเป็นสัดส่วนที่น้อย ซึ่งหากถามว่าทำไมต้องมีส่วนนี้ด้วย ก็เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เห็นว่า ยังมี สว.จากประชาชน แต่จะมีสักประมาณ 10-20 คน เพื่อที่จะได้ไม่ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้”
นอกจากนี้ ดร.โอฬาร ยอมรับว่า หากสุดท้าย ถ้านายสมชายเข้ารอบสุดท้ายได้เป็น สว.ขึ้นมา ก็มีความเป็นไปได้ที่ "ประธานวุฒิสภาคนใหม่" จะเป็นน้องเขยทักษิณ เพราะโดยคุณสมบัติ และโดยลักษณะจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณ นายกฯ ตัวจริง และสมชาย ก็อยู่ในสถานะน้องเขย และยังเคยเป็นอดีตนายกฯ มีพรรคการเมืองสนับสนุน ที่ก็ทำให้มีโอกาสมากที่จะเป็นประธานวุฒิสภา ที่ก็เป็นวิธีการในสไตล์การเดินจังหวะทางการเมืองของนายทักษิณ ที่ต้องการกุมสภาพต่างๆ ให้ได้ คือบางคนไปมอง สว.ชุดใหม่เพียงแค่ว่าจะเข้าไปโหวตเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไปเลือกผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะแม้ สว.ชุดใหม่จะโหวตเลือกนายกฯ ไม่ได้ แต่สามารถปลดนายกฯ ได้ ผ่านองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.หรืออย่างตัวอย่างกรณีกลุ่ม 40 สว.ที่ยื่นคำร้องคดีนายเศรษฐา ทวีสิน ในเวลานี้นายทักษิณเขาฉลาด คือเขาเห็นแล้วว่าตอนนี้พื้นที่การเมือง ไม่ว่าอย่างไรเสีย ดูจากผลโพลต่างๆ ก่อนหน้านี้ พื้นที่ซึ่งยึดครองการเมืองคือพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย เพียงแต่หลายคนไปมองว่า เพื่อไทยกับก้าวไกล เวลานี้คือฝ่ายตรงข้ามกัน แต่ถามว่าในอนาคตหากก้าวไกลได้ สส.มาอันดับหนึ่งหลังเลือกตั้ง ใครจะจับมือกับก้าวไกล ถ้าไม่ใช่เพื่อไทย เพราะก้าวไกลไม่มีทางได้ สส. 300 เสียงขึ้นไป และหาก 2 พรรคคุม สว.ได้มันก็จบ
อย่างไรก็ตาม แม้ กกต.จะประกาศรับรองรายชื่อ สว.ชุดใหม่ ในวันที่ 2 ก.ค. แต่ กกต.ก็สามารถ
"รับรองไปก่อน-สอยทีหลัง"
ได้ เพราะ กกต.มีดาบในมือหลายเล่ม ที่ให้อำนาจกับ กกต.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 สำหรับจัดการกับ สว.ที่ได้รับการรับรองไปแล้ว ให้ต้องหลุดจากตำแหน่งได้
ไม่ว่าจะเป็น มาตรา 62 ที่บัญญัติว่า เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือก สว.ระดับประเทศแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้น
โดยเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
หรือในมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือก สว.ไปแล้ว หากต่อมา ความปรากฏต่อคณะกรรมการว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า เป็นต้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิถี ‘ผู้นำ’ ตระกูลชินวัตร คำร้องเยอะ ตรวจสอบเข้ม
หากถอดรหัสคำพูดของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีที่ถูกร้องเรียนจาก "นักร้อง" เห็นชัดว่า หากเป็นไปได้ไม่อยากมีคดีติดตัว
“กาสิโน”เผือกร้อน“กฤษฎีกา” สมดุลการเมือง-ผลกระทบสังคม
จับตาร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายกาสิโนในมือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลัง ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมาย ว่าจะตรงปกและเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และอีกหนึ่งมติคือ ข้อห่วงใยผลกระทบทางสังคมและปัญหาอบายมุขตามมา
หวั่นเวชระเบียน'ทักษิณ'จุดชนวน รพ.ตำรวจอึมครึม คปท.ยกระดับ!
ขีดเส้น 15 ม.ค.นี้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา ได้ส่งหนังสือถึง พล.ต.ท.นพ.นพศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จัดส่งเอกสารทำคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร เวชระเบียนการรักษาของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ารักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ กระทั่งออกจาก รพ.ตำรวจ โดยมี นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตกรรมการแพทยสภา เป็นประธานอนุกรรมการสอบ
ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ
แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด