ผ่านเข้า “ปีเสือ” ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันและกระจายไปทั่วประเทศ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุขเร่งออกมาตรการสกัดกั้นเพื่อชะลอการระบาด ลดภาระเตียงที่อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
เป็นปัญหาที่ต้องเร่งบริหารจัดการ เพื่อลดผลกระทบในช่วง 2-3 เดือนนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง การประกอบอาชีพของประชาชนทุกภาคส่วน ที่เจอโควิดมาหลายระลอกจนสภาพ “บักโกรก” และหวังจะหายใจได้บ้างในช่วงปลายปีที่รัฐให้ธุรกิจต่างๆ เปิดทำกิจกรรมเกือบเป็นปกติ
ซึ่งเชื่อว่าแผนงานของรัฐบาลที่เตรียมไว้จะรับมือสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ เนื่องจากมีประสบการณ์และบทเรียนจากระลอกที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยที่ไม่สูญเสียมากนัก จึงนับว่าโชคดีที่ “โอมิครอน” ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์เหมือนโควิดสายพันธุ์อื่น ทำให้รัฐบาลก็โล่งใจในข้อมูลทางวิชาการ
อีกทั้งปัญหาการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน จากการเรียกร้องของกลุ่มม็อบ 3 นิ้ว และเครือข่าย ต่างก็ชะลอการจัดกิจกรรมไว้เพื่อดูสถานการณ์ หลังจากแกนนำคนสำคัญยังถูกจำคุก ไม่ได้รับการประกันตัว ขณะที่พันธมิตรม็อบต่างถอยทัพกลับที่ตั้ง พร้อมกระแสข่าวว่าแกนนำม็อบหลายคนที่ยังรอดพ้นคดีเตรียมแต่งตัวเลือกเส้นทางใหม่ ด้วยการสมัครเข้าพรรคการเมืองลง รอการเลือกตั้งที่จะมาถึง
จะเรียกว่าเป็นความโชคดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เหตุการณ์ ปัจจัยแวดล้อมเป็นใจให้บริหารประเทศในช่วงนี้ต่อเนื่องไปก่อน
แม้จะต้องรับมือกับปัญหาขยะใต้พรม จนส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์หมูแพง น้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด ส่งผลทางจิตวิทยาที่กระทบต่อรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นส่วนงานพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลต้องรับไปเต็มๆ ในส่วนภาพรวมรัฐบาลก็ออกหน้าแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อลดกระแสความไม่พอใจต่อสังคมให้ได้โดยเร็วเท่านั้น
ไม่เถียงว่าที่ผ่านมามาตรการรัฐในการช่วยเหลือประชาชน เยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ได้รับคำชมจากประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” ที่รัฐบาลมักนำไปพูดได้เต็มปากว่า “ได้รับความนิยม”
แต่ไม่ได้หมายความว่ามาตรการเฉพาะหน้าในการบรรเทาความเดือดร้อนนั้น จะส่งผลต่อทัศนคติหรือพฤติกรรมของคนในสังคมที่จะชอบหรือนิยมรัฐบาล จะลงคะแนนเลือกพรรคพลังประชารัฐ หรือนายกฯ ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้ง
นั่นทำให้สัญญาณการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้ยิ่งแผ่วเบาลง เนื่องจากนัยจากผลสำรวจของหลาย “โพล” สะท้อนถึงความต้องการลอง “ของใหม่” เข้ามาแก้ไขปัญหา อีกทั้งความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ความเป็นศัตรูในมิตรของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้มีปัจจัยเอื้อให้พรรคฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบหากต้องลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งในช่วงเร็วๆ นี้
ช่วงนี้การทำงานรัฐบาลของพรรคร่วมจึงมุ่งเน้นไปที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายและผลงานของกระทรวงที่พรรคของตัวเองรับผิดชอบ และรอวัดกระแสจากการเลือกตั้งซ่อม การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะมาถึง
สนามประลองกำลังในการเลือกตั้งเขต 9 กทม. เขตหลักสี่ ถือว่าสำคัญกับพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย และอยู่ในสภาวะแพ้ไม่ได้เช่นกัน เพราะคะแนนที่ออกมาอาจบอกได้ว่า ความรู้สึกของคนกรุงที่มีต่อบิ๊กตู่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กับวันนี้ยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่
สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้นถือเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรี แต่ถึงแม้จะคว้าเก้าอี้ ส.ส.ไม่ได้ก็ไม่เสียหาย เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วงปลายเทอมรัฐบาลแล้ว อาจได้เข้าสภาไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
ด้านพรรคก้าวไกล ต้องการชัยชนะในเชิงของสัญลักษณ์ทางการเมือง หวังใช้คะแนนของ “โหวตเตอร์” รุ่นใหม่ตบหน้ารัฐบาล และยืนยันในแนวทางของพรรคที่ประชาชนในพื้นที่เลือก
ขณะที่ซีกพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะยากในสนามนี้ แต่ก็ต้องสู้ เพราะเป็นการอุ่นเครื่องก่อนศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่หมายมั่นปั้นมือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่ หลังส่ง “ดร.เอ้”-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีคนดัง เข้าชิงตำแหน่ง อีกทั้งคะแนนที่ได้อาจเป็นนัยสำคัญกับปฏิกิริยาตอบรับที่มีต่อ “ดร.เอ้” ด้วยว่าเป็นอย่างไร
ทางด้านการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 2 เขต คือ เขต 6 จ.สงขลา และเขต 1 จ.ชุมพร ในวันที่ 16 ม.ค.2565 นับได้ว่าดุเดือดเลือดพล่าน เพราะเป็นการขับเคี่ยวกันเองของพรรคร่วมรัฐบาล เลยไปถึงการแบ่งขั้วเลือกพื้นที่ในการสู้กันเองของพลังประชารัฐ จากการแตกตัวของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยเกาะเกี่ยวกับแกนนำระดับพรรคพวกที่อยู่ในแวดวงผู้กว้างขวาง จนเลือกที่จะใช้ “เกียร์ว่าง” หรือเอาใจช่วยผู้สมัครต่างพรรคในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปล่อยให้แกนนำก๊วนตรงข้ามรับผิดชอบในนามพรรคไปเป็นเต็มๆ
มนตร์ขลัง “รักความสงบ จบที่ลุงตู่” ที่ “คนใต้” เลือกพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วน่าจะเสื่อมคลายไปไม่น้อย เมื่อประกอบกับปัญหาความตะขิดตะขวงใจระหว่าง 3 ป. จากกรณีของการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นลิ่มในการทิ่มไปตรงกลางระหว่าง 3 ลุง คงไม่น่าทำให้ “บิ๊กตู่” คุมสภาพภายในต่อไปได้
ยิ่งปัญหาการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ สะท้อนว่ายังไร้ตัวเลือกที่สูสีกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หรือ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ยังไม่นับผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลที่ยังไม่เปิดไพ่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเหนือกว่า 2 คนที่เป็นแคนดิเดตข้างต้นหรือไม่ ทำให้พรรคพลังประชารัฐตกอยู่ในสภาพละล้าละลัง
เมื่อองค์ประกอบทั้งหมดยังไม่เอื้อ ทั้งปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ และกระแสความนิยมรัฐบาลที่ตกลง พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เสี่ยงล้างไพ่ยุบสภาไปสู่การเลือกตั้งในตอนนี้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเร่งเครื่องทางการเมืองในการตัดสินใจใดๆ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความพร้อมที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ได้ในเวลาอันใกล้
การรอดูผลการเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาประเมิน วิเคราะห์การเมืองในภาพใหญ่ แล้วนำไปวางแผนเพื่อในการสู้ศึกเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการงัดผลงานและนโยบายออกมาโฆษณาหาเสียงกับประชาชน นับลมหายใจไปยาวๆ จึงน่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์กว่า
เป็นช่วงของพรรคการเมืองเข้าสู่โหมดการเตรียมสรรพกำลัง วางยุทธศาสตร์ วางคน เพื่อแข่งขันในสนามการเมืองในระบบ เว้นระยะการเมืองบนถนนที่เคยหวังยกระดับความรุนแรงเพื่อการเปลี่ยนแปลงออกไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี