ปล่อยผี“จำเลยทักษิณ” กระชับอำนาจต่อดีล?

ยังไม่มีอะไรที่ผิดไปจากที่คาดการณ์กันนัก ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาได้มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน มายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา

โดยศาลอาญาได้พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าจำเลยให้การปฏิเสธมาตลอด มีอายุมาก และได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน อีกทั้งมีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอนอยู่กับครอบครัว ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว

“จึงมีเหตุสมควรเชื่อว่า หากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาจำเลยจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือขัดขวางการพิจารณาของศาล อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา โดยให้ตีราคาประกัน 500,000 บาท กับให้จำเลยวางหนังสือเดินทาง ยึดหนังสือเดินทาง และหลักประกัน ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล แจ้ง สตม.” คำบรรยายของศาลในการให้ประกันตัว

ก่อนหน้านี้ที่อัยการจะมีการสั่งฟ้อง “ทักษิณ” ก็มีการตั้งข้อสังเกตในประเด็นการให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดี ม.112 รายอื่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ปูทางและเทียบเคียงก่อนที่ “ทักษิณ” จะถูกอัยการส่งตัวมาศาล

สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์โดยในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ระบุว่า “จะเห็นว่าคดีมาตรา 112 ในช่วงหลังจะได้รับการประกัน”

แต่สถานะของ “ทักษิณ” ณ ขณะนี้ก็ได้ตกเป็น “จำเลย” ในคดี ม.112 และเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในคดีอีก 3 ศาล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาหลายปีในการไต่สวน ตัดสิน โดยศาลนัดให้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานครั้งแรก 19 ส.ค.

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าทีมกฎหมายของ “จำเลยทักษิณ” ได้ยื่นข้อโต้แย้งว่า ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ คำว่า “Palace Circle” ไม่เข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การกล่าวหาเกิดขึ้นในยุค คสช. กระบวนการสอบสวนในยุค คสช.มีการแทรกแซง พนักงานสอบสวนไม่เป็นอิสระ

ที่สำคัญคือ การงัดราชกิจจานุเบกษาในการได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 โดยเนื้อหาในราชกิจจานุเบกษา ช่วงหนึ่งระบุว่า "มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" มาอ้างอิง

ดังนั้นจึงอยู่ที่การตีความคำว่า Palace Circle ครอบคลุมถึงใคร ทั้งในมุมของหลักฐานและข้อมูลที่อัยการใช้ในการสั่งฟ้อง ในขณะที่ฝั่ง “ทักษิณ” ต้องยื่นหลักฐานเพื่อโต้แย้ง และชี้ให้เห็นว่าคำพูดที่เอ่ยถึงนั้นต้องการสื่อสารถึง “ประธานองคมนตรี” ในช่วงนั้นจริงหรือไม่

และเมื่อพลิกดูข้อมูลจะเห็นว่า แม้จะเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากฝั่ง คสช.ส่งไปให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อพิจารณา และได้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวไปที่อัยการ เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร  ซึ่งก็ยังไม่มีใครเห็นสำนวนของอัยการทั้งหมดว่า “หนักแน่น” ขนาดไหน

แต่การได้ “ประกันตัว” ก็เป็นเครื่องการันตีว่า “ดีล” ได้ไปต่อ ภายใต้สถานการณ์ที่ “ทักษิณ” ต้องสร้างน้ำหนักให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของเพื่อไทยมี “ราคาพอ” ที่จะนำพาประเทศให้ดีกว่านี้

แต่ก็ต้องรอองค์ประกอบอื่นที่จะนำมาพิจารณาหลังจากนี้ด้วย ทั้งคดียุบพรรคก้าวไกลในยกต่อไปวันที่ 3 ก.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือเรื่องการ “แตกตัวพรรค” สร้างสาขาเพิ่มมือให้กับ “เพื่อไทย” ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นแค่ข่าวลวง ดึงให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ขยับตัว

และคดีของ 40 สว. กล่าวหา “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ตั้ง รมต.ที่ขาดคุณสมบัติ ที่มาจากความเคลื่อนไหวของ “คนในป่า”

ยังไม่นับ “ตัวแปร” อื่น ที่หวังจะ “ล้มกระดาน” เปลี่ยนตัวนายกฯ สร้างจุดเปลี่ยนให้เกิด “ทางตัน” ทางการเมือง เพื่อประกอบร่าง สร้าง “อำนาจ” ชุดใหม่ที่ยังเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดหย่อน

ความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อเสถียรภาพของ ครม. ลดทอนความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุน และเศรษฐกิจ เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่เจอข่าวดีแม้แต่ข่าวเดียว

อำนาจที่ไม่เบ็ดเสร็จและเปราะบางของ “ทักษิณ” ยังต้องยึดโยงกับภารกิจในการตอบแทนด้วยความจงรักภักดี

สถานการณ์จากนี้จึงถือว่า “ท้าทาย” อยู่ไม่น้อย อีกทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองที่สลับซับซ้อน กฎหมายที่พิสดาร ไม่เหมือนยุค “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ซึ่งสามารถบริหาร แก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่า

ขณะที่ “ตัวเลือก” ในกระดานก็ยังไม่พร้อม และอาจไม่มีศักยภาพพอที่จะรับมือปัญหาที่เชื่อมโยงระหว่างในและนอกประเทศ

โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจกำลังไล่ล่า “รัฐบาลเศรษฐา” อย่างปฏิเสธไม่ได้

จึงไม่แปลกที่เห็น “พิชัย ชุณหวชิร” รมว.คลังและทีมเศรษฐกิจเข้าพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้ากันอย่างคึกคัก 

การให้ประกันตัว “ทักษิณ” ครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนในการตัดสินใจ “กระชับอำนาจ-จัดระเบียบ” รัฐบาลใหม่ ในฐานะ “นายกฯ เงา” โดยไม่มีทางเลือกอื่นมากกว่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ

ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร

ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"

แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่