ส่อง4คดีร้อนการเมือง ใครรอด-พรรคไหนร่วง

หลายฝ่ายจับตาว่า วันที่ 18  มิ.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีการพิจารณาคดีสำคัญทางการเมือง 4 ประเด็นร้อน ที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจหรือไม่

สะท้อนได้จากตลาดหุ้นตกมากที่สุดในรอบ 4 ปี เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจในระบบการเมืองไทย แม้แต่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ยังออกมายอมรับว่าเป็นความจริง และหากการเมืองไม่นิ่งก็กระทบต่อการขับเคลื่อนนโยบายและการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ

สำหรับ 4 คดี โดยแบ่งเป็น 3 คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ข้อ 1 คือ ศาลนัดชี้ขาดคำร้องกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา ผ่าน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ประกอบไปด้วย มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่

ทั้งนี้ หากศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การเลือกตั้ง สว.ในรอบต่างๆ เป็นโมฆะหรือไม่ กระทบการได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ให้ล่าช้า ต้องมีการจัดการเลือกตั้งกันใหม่ และจะมีการฟ้องร้อง กกต.กันวุ่นวายสำหรับผู้ที่เสียโอกาส

ส่วน สว.ชุดเก่าที่ผ่านการสรรหาจาก คสช. ก็จะทำหน้าที่รักษาการต่อไป เพื่อถ่วงดุลรัฐบาลเพื่อไทย และนายใหญ่-ทักษิณ

อีกด้านหนึ่งมองว่า เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิ พ.ศ.2561 ก่อนจะมีการเสนอทูลเกล้าฯ ประกาศเป็นกฎหมาย ได้มีการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ฉะนั้นคงไม่กลับมติที่ตัวเองเคยพิจารณาเห็นชอบมาแล้ว เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับว่าตัวเองมีความบกพร่อง

2.คดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.2567 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2567

ซึ่งเชื่อว่าในวันดังกล่าวศาลจะยังไม่ตัดสิน โดยพรรคก้าวไกลได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ทั้ง 9 ประเด็น ล่าสุดยังอ้างว่า ประธาน กกต.ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบในการยื่นยุบพรรค ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ต่อสู้คดี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการต่อสู้คดีทางกฎหมายก็ว่ากันไป แต่สุดท้ายคนการเมืองฟันธงว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถูกยุบและตัดสิทธิ์การเมือง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่มองว่าเป็นภัยคุกคามแก่ผู้มีอำนาจเก่า

ส่วนผลกระทบต่อการเมืองในระยะสั้นอาจมีบ้างเรื่องการชุมนุม หรือเกิดความวุ่นวายในโลกโซเชียล แต่เชื่อว่ายังจุดไม่ติด เนื่องจากแกนนำถูกจับไปดำเนินคดีจนหมดเกลี้ยง และนายทุนก็ยังไม่พร้อมจ่าย แต่พรรคก้าวไกลคงหวังผลระยะยาวในการบ่มเพาะคะแนนความสงสาร และถูกกลั่นแกล้ง ออกมาระเบิดพลังผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าให้ได้เสียงเกิน 250 เสียง

3.ศาลรัฐธรรมนูญนำเรื่องการถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้ได้ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ขัดรัฐธรรมนูญในเรื่องจริยธรรมหรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม

โดยมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชี ระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.2567 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.2567

ซึ่งเชื่อว่าในวันดังกล่าวก็ยังไม่ตัดสินเช่นกัน แต่ก็ต้องดูคำสั่งว่าศาลจะดำเนินการพิจารณาคดีอย่างไรและเปิดห้องไต่สวนหรือไม่ ที่ฝ่ายหนึ่งมี 40 สว. และอีกด้านหนึ่งคือนายกฯ ที่ได้ “เนติบริกร”-วิษณุ เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษาฯ มีผลงานในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่เคยแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ

หากสมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ นายกฯ มีความผิด ครม.ทั้งหมดก็จะสิ้นสภาพ เปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกฯ กันใหม่ สิ่งที่ต้องจับตาคือ จะมีการพลิกขั้วหรือไม่ หรือเขี่ยพรรคใดออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะดันใครขึ้นมาเป็นนายกฯ และ จะกล้าดัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกฯ เสี่ยงภัยคดีการเมืองหรือไม่

อีกด้านก็มองว่าหาก “เศรษฐา” รอดเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองในเวลานี้ ที่จะกระทบต่อการเดินหน้านโยบายทางเศรษฐกิจ และผู้มีอำนาจยังป้องกันมิให้เกิดการพลิกให้พรรคก้าวไกลขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแข่ง หรือปิดเกมไม่ให้ลุงจากป่าฯ มีโอกาสขึ้นมาต่อรอง

อีกทั้งยังเซฟ “แพทองธาร” เข้ามาอยู่ในพื้นที่อันตรายและเดินตามดีลเดิมคือให้ “ทักษิณ” ผ่านรัฐบาลเศรษฐา รบกับพรรคก้าวไกล มิให้เข้าสู่อำนาจ หลังล่าสุด “นายใหญ่” ไปประกาศที่จังหวัดนนทบุรีว่าจะทวงคืน สส.ให้หมด หลังเสียหายให้แก่เครื่องจักรสีส้มในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

ส่วนคดีการเมืองที่ 4 คือ กรณีอัยการสูงสุดมี คำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 พาดพิงสถาบัน เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา

แต่นายทักษิณไม่ได้มารับฟัง เนื่องจากได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดฟังคำสั่ง พร้อมแนบใบรับรองแพทย์ ยืนยันว่าป่วยเป็นโควิด-19 และยื่นขอความเป็นธรรม ทางพนักงานอัยการจึงได้นัดให้นายทักษิณมาพบอีกครั้งวันที่ 18 มิ.ย.นี้

เชื่อว่า “ทักษิณ” จะมาตามนัด และจะได้รับประกันตัว แต่หากไม่ได้รับการประกันตัวก็ไม่เป็นไร เพราะมีกลไกต่างๆ ผ่านกระทรวงยุติธรรมช่วยเหลือ

ทั้งป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือคุมขังนอกเรือนจำ หรือ “เฮาส์อาร์เรสต์” ที่ออกระเบียบรองรับไว้หมดแล้ว ขณะเดียวกัน “ทักษิณ” ก็เตรียมแผนต่อสู้ผ่าน 3 ชั้นศาลยุติธรรม ที่ใช้เวลานานหลายปี หรือลุ้นว่าจะชนะคดี หรือสุดท้ายอาจจะได้รับโทษรอลงอาญาก็เป็นได้

เว้นแต่ “นายใหญ่” จะใจร้อนวิ่งเอาหัวชนกำแพง ให้ สส.เพื่อไทยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมที่เหมารวมคดี 112 ที่กำลังศึกษาอยู่ในสภา ทั้งที่ตัวเองเคยมีบทเรียนเคยดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ทำให้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พังพินาศมาแล้ว

ฉะนั้น “ทักษิณ” ซึ่งมีบทเรียนราคาแพงและอยู่ต่างประเทศมา 17 ปีคงไม่โง่กระทำซ้ำรอยเดิม และขอเป็นผู้คุมอำนาจผ่านพรรคเพื่อไทยไปก่อน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี