9 มิ.ย.คิกออฟเลือกสว. กกต.ใส่เกียร์เดินหน้า ในกระแส 'เลื่อน-ลาก-ล้ม'

 

ในที่สุด 7 เสือ กกต.-คณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็มีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือก สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คน ในวันอาทิตย์ที่ 9 มิ.ย.นี้ ไม่มีการเลื่อนออกไปแต่อย่างใด

หลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า กกต.อาจเลื่อนการจัดให้มีการเลือก สว.ออกไป หลังเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจากการที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้สมัคร สว. 6 คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 107 หรือไม่ อันเป็นการจะเลื่อนเพื่อรอฟังการวินิจฉัยของศาล รธน.

แต่สุดท้ายการประชุม กกต.นัดพิเศษ 7 มิ.ย. หลัง กกต.พิจารณา ข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงต่างๆ ก็มั่นใจว่าเดินหน้าต่อไปได้ จึงสั่งให้เดินหน้าตามไทม์ไลน์ที่วางไว้

ดังนั้น การเลือก สว.ก็จะเดินหน้าไปตามปฏิทินที่วางไว้ คือ 9 มิ.ย.67 เลือก สว.ระดับอำเภอ จากนั้น 16 มิ.ย.67 เป็นการเลือก สว.ระดับจังหวัด และ 26 มิ.ย.67 การเลือก สว.ระดับประเทศ

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยืนยันว่าจะพยายามประกาศผลการเลือก สว.ให้ได้ภายในวันที่ 2 ก.ค.67

ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ออกมามากมายถึงความผิดปกติในการรับสมัครบุคคลเข้าไปเป็น สว.ที่มีลักษณะเช่น การจ้างให้ไปสมัคร สว.เพื่อจะได้ทำการบล็อกโหวตการเลือกทั้งระดับอำเภอและจังหวัด จากนั้นก็ค่อยไปลุ้นในระดับประเทศ โดยมีเครือข่ายนักการเมืองในจังหวัดทั้งการเมืองระดับชาติและการเมืองท้องถิ่น คอยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและวางแผนการทั้งหมด เป็นต้น

จนมีเสียงทักท้วงว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบประกาศรับรองผล สว.ก็ได้ หากว่ายังคงพบปัญหาความผิดปกติ-การร้องเรียนออกมาเรื่อยๆ

เพราะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 บัญญัติว่า หลังมีการเลือก สว.ระดับประเทศเสร็จสิ้นลง ที่ก็คือในวันที่ 26 มิ.ย. ผู้อำนวยการเลือก สว.ระดับประเทศจะต้องส่งรายงานการเลือก สว.ต่อ กกต. จากนั้นให้ กกต.รอไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน และเมื่อพ้น 5 วันไปแล้ว ถ้า กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลในราชกิจจานุเบกษา

นั่นหมายถึง หาก กกต.เห็นว่ากระบวนการเลือก สว.ที่ผ่านมาทั้งระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ มีความผิดปกติ ไม่สุจริต เที่ยงธรรม ก็สามารถเลื่อนการประกาศรับรองออกไปได้ แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ดุลยพินิจของ กกต.ว่าจะเห็นควรเรื่องนี้อย่างไร

เพราะดูเหมือนผู้บริหารสำนักงาน กกต.ก็ต้องการทำตามไทม์ไลน์ที่เคยบอกไว้ให้เป็นไปตามปฏิทินการเมืองทุกอย่าง และคงมองว่าข่าวเรื่องความผิดปกติในการคัดเลือก สว.ที่เกิดขึ้น รวมถึงการออกมาระบุของฝ่ายการเมืองบางส่วน ว่าเจ้าหน้าที่ กกต.อาจถูกดำเนินคดีได้หากยังปล่อยให้การเลือก สว.มีปัญหาเกิดขึ้น แต่จัดการอะไรไม่ได้ เหมือนกับจะเป็นการกดดัน กกต.มากเกินไป

 จนทำให้ผู้บริหารสำนักงาน กกต.บางส่วนต้องออกมาส่งสัญญาณดังๆ ว่ามีกระบวนการที่พยายามทำให้การเลือก สว.เกิดปัญหาติดขัด

อย่างท่าทีของ แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ส่งข้อความผ่านไลน์ถึงเจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.ทั่วประเทศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

“เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์และความเคลื่อนไหวที่ผ่านมา รวมทั้งการรับข้อมูลจากหลายด้าน มีสัญญาณมาโดยตลอดว่า นับแต่มีพระราชกฤษฎีกาเลือก สว. ก็จะมีแรงเสียดทานเข้มข้นมากขึ้นตลอดมา ซึ่งแรงเสียดทานอาจมีรูปแบบเป็นไปตามลักษณะและพฤติการณ์การแสดงออกของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแรงจูงใจทางการเมืองและทั้งที่ไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง พอจะจำแนกได้เป็นรูปแบบที่ 1 เลื่อนหรือลากการเลือก สว.ออกไป รูปแบบที่ 2 ล้มการเลือก สว. และรูปแบบที่ 3 เลือก แต่กดดันให้ได้ผลตามเป้าหมายที่หวังไว้ แต่ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ขอให้เป็นแค่การคาดการณ์ อย่าให้เกิดขึ้นจริง เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงย่อมไม่เกิดผลดีกับบ้านเมืองอย่างแน่นอน”

ถึง ณ จุดนี้ ยังไง กกต.ก็คงใส่เกียร์ห้า จัดเลือก สว.ไปตามปฏิทินที่วางไว้ เพราะมันคือหน้าที่ของ กกต.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ฯ ส่วนปัญหา-ข้อร้องเรียนต่างๆ ก็ค่อยไปว่ากันหลังจากนั้น เพราะยังมีกระบวนการ-ขั้นตอนให้สามารถจัดการได้ เพราะก็ยังมีดาบในมืออยู่ เช่น

มาตรา 62 “เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการเลือก สว.แล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น

เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

ดูจากข้อกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า กกต.ก็มีดาบในมืออยู่ในการที่จะไปเช็กบิลหรือจัดการเอาผิดกับผู้สมัคร รวมถึงคนที่ กกต.ประกาศรับรองให้เป็น สว.ไปแล้วในภายหลังได้

กระนั้นก็มีเสียงปรามาสการทำงานของ กกต.ชุดปัจจุบันว่า การจะตรวจสอบการทุจริต การทำผิดกฎหมายเลือก สว. อาจหวังพึ่งไม่ได้ เพราะดูจากการทำงานของ กกต.ในการให้ใบแดง-ใบเหลือง กับการเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งปีผ่านไป หลังการเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 2566

พบว่า กกต.ควักใบแดงให้กับ สส.แค่สองคน และสองใบแดงให้กับผู้สมัคร สส.สอบตก ทั้งที่ประชาชนจำนวนมากต่างบอกว่า การเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมามีการซื้อเสียง-ยิงกระสุนดินดำ หนักหน่วงกว่าทุกครั้ง แต่หนึ่งปีผ่านไป กกต.กลับมีผลงานอย่างที่เห็น หลายคนก็เลยเกรงว่ามันจะมาซ้ำรอยกับการตรวจสอบทุจริตการเลือก สว.ย้อนหลัง ที่อาจล่าช้า จนสุดท้ายเป็นการปล่อยผีให้คนที่ทุจริต-ฝ่าฝืนกฎหมายได้เข้าไปเป็น สว.กันจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ของแบบนี้ต้องให้เวลาและโอกาสกับ กกต.ในการทำงานด้วย เพราะไม่แน่ ในส่วนของการเลือก สว. ทาง กกต.อาจทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจสอบการทุจริตการเลือก สส.ก็ได้

สุดท้ายนี้ต้องรีวิวย้ำกันอีกครั้ง สำหรับ 20 สาขาอาชีพที่จะเข้าไปเป็น สว. รวมเป็น 200 คน มีดังนี้

-กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 3 กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข อันได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 5 กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามข้อ 9

-กลุ่มที่ 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว อันได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 14 กลุ่มสตรี

-กลุ่มที่ 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

-กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ

ส่วนรายชื่อ “ว่าที่ สว.ชุดใหม่ 200 คน” จะได้เห็นในวันที่ 2 ก.ค.นี้หรือไม่ หรือจะต้องเลื่อนออกไป รอลุ้นกันต่อไป เพราะไม่แน่อาจมีสถานการณ์แทรกซ้อน ทำให้ กกต.อาจไม่สามารถประกาศรายชื่อออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้ก็ได้!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

'ดิเรกฤทธิ์' พ้อ! ไร้องค์กรตรวจสอบ กกต. ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ 'เลือก สว.'

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดไม่ถูกตรวจสอบ"

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ