“ความวัว ไม่หาย ความควายเข้ามาแทรก” สำหรับ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ แจกเงิน1 หมื่นบาท ให้แก่คนไทยอายุ16 ปีขึ้นไปวงเงิน 5 แสนล้านบาท นอกจากไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ คือแจกผู้มีอายุ 16 ปีขึ้น และแจกทันทีแล้วหลังได้เป็นรัฐบาล
แต่ผ่านไป 10 เดือน โครงการดังกล่าวอยู่ในสภาพลูกผีลูกคน และพบปัญหาเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน ที่อาจติดปัญหาข้อกฎหมายต่างๆ
ร่วมทั้งก่อนหน้า ยังถูกท้วงติง เรื่องความไม่เหมาะสม จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)และนักเศรษฐศาสตร์ และ นักวิชาการ ฯลฯ
ล่าสุดรัฐบาลเพื่อไทยยังสร้างความสับสนให้แก่สังคมเกี่ยวกับการแจกเงินเมื่อ “นายชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.เมื่อวัน 4 มิ.ย. ว่า อาจพิจารณาจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเข้าโครงการที่เป็น “ประชาชนกลุ่มเปราะบาง” ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14.98 ล้านคนตามขั้นตอนในโอกาสแรกก่อน เพื่อให้ทันงบประมาณ ปี 2567 สอดรับกับการบริหารงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท ที่ต้องใช้งบประมาณให้เสร็จสิ้นในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ซึ่งงบฯดังกล่าวถือเป็น 1 ใน 3 ของแหล่งที่มา ของโครงการดังกล่าวมูลค่า 5 แสนล้านบาท
โดยข้อมูลที่ “โฆษกรัฐบาล” นำมาแถลง โดยเฉพาะการแจกเงินให้ “กลุ่มเปราะบาง” ก่อนกลุ่มอื่น มีรายงานว่านำมาจากเอกสาร การประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. โดยมี 4 หน่วยงานเศรษฐกิจร่วมหารือ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และ แบงก์ชาติร่วมประชุม ที่นายกฯมอบหมายให้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นประธานประชุม ก่อนนำเสนอครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา
ทันทีข่าวนี้ออกไป ทำให้ “ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยควันออกหู” และเรียกผู้เกี่ยวข้องเฉ่งยกใหญ่ เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลเพื่อไทย เสียงรังวัดทางการเมือง อาจถูกฝ่ายตรงข้ามเข้ามาตีกินและดิสเครดิต เพราะเป็นการจ่ายไม่พร้อมกันทั่วประเทศ อาจถูกโจมตีไม่ตกปก ที่บอกว่า จะก่อให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ และ กระตุ้นจีดีพี ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ยังถูกตีความส่อเค้าหาทางลง เดินตามรอย แบงก์ชาติ เคยเสนอให้จ่ายเฉพาะกลุ่มเปราะบาง แต่รัฐบาลเมินเฉย รวมถึงหากจ่ายจริง ซูเปอร์แอปใหม่ ”ทางรัฐ“ ที่อัดเงินไป 95 ล้านบาท เพื่อแจกเงินหมื่นจะ เสร็จทันหรือไม่
เป็นเหตุ ประธานฯ งบปี 67 (เพิ่มเติม) ในวันนั้นคือ “รมช.เผ่าภูมิ” ต้องออกมาแก้ข่าว และ ยืนยันว่า จะมีการลงทะเบียนประชาชน และ เริ่มลงทะเบียนร้านค้าในไตรมาสที่ 3 และจะจ่ายเงินงวดเดียวทั้งก่อน1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชน 50 ล้านคนที่มีสิทธิ และ ไม่มีการพิจารณาให้กลุ่มไหนก่อน
“ คณะกรรมการดิจิทัล ก็ไม่เคยการพิจารณาจะให้กลุ่มไหนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทุกคนควรจะได้พร้อมกันในระยะเวลาเดียวกัน และในจำนวนเงินที่เท่ากันเพื่อที่การกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีเม็ดเงินจำนวนมากลงไปในระบบพร้อมพร้อมกัน” นายเผ่าภูมิ กล่าว
แต่ถูก นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งข้อสังเกตอาจสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายหรือไม่หากเอาเงินในงบประมาณปี 67 มาใช้ในปีงบประมาณ 68 ว่า "เรื่องมีอยู่ว่า... เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. สำนักงบขอมติ ครม.เรื่องวงเงินงบกลางปีมาใช้ทำ ดิจิทัลวอลเล็ต
โดยสำนักงบเองทำงบไปก็เสียวสันหลังไปว่าจะผิด พ.ร.บ.วินัยฯ ถ้าเริ่มใช้เงินหลังสิ้นสุดปีงบ 67 เลยขอเขียนข้อสังเกตไว้เป็นยันต์กันผีว่า "อาจพิจารณาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.98 ล้านคน ในโอกาสแรกก่อน" เพื่อให้ได้เริ่มจ่ายเงินก้อนแรกก่อน 30 ก.ย. 67 แถมงานนี้โฆษกรัฐบาลยังรับลูกไปแถลงด้วย
"เดือดร้อน รมช.คลังต้องออกมาแก้ข่าวว่าจ่ายพร้อมกันหมด ไม่มีแผนจะทยอยจ่าย ซึ่งก็จริง...จะจ่ายก่อน 30 ก.ย. 67 ได้ยังไง ในเมื่อระบบหลังบ้านไม่น่าจะเสร็จทัน" น.ส.ศิริกัญญา ระบุ
นอกจากเงินก่อนแรกที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ยังมีแหล่งเงิน 2 ก้อน คือ 1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท อาจไม่มีปัญหา เพราะเตรียมเสนอสภาฯ พิจารณาในสมัยสามัญฯในวันที่ 19 -21 มิ.ย. นี้ และใช้งบในไตรมาส4ตามกรอบงบประมาณตั้งแต่วันที่ 1 ตค. 67 เป็นต้นไป
แต่ 2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)จำนวน 172,300 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 28 ในส่วนนี้ ก็สุ่มเสียงผิดกฎหมาย
หลังเกิดคำถามว่า “การขอกู้เงินดังกล่าวของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พ.ศ.2519 สามารถกระทำได้ และขัดต่อวัตถุประสงค์หรือไม่เพราะต้องเป็นการใช้เงินเกี่ยวกับเกษตรกร รวมถึงประเด็นเรื่องดอกเบี้ยจะทำให้ ธ.ก.ส.เสียโอกาสหรือไม่
เสียงต้านดังกล่าวก่อนหน้านี้ ทำให้ นายกฯ ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ตีความข้อกฎหมายว่า รัฐบาลสามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.ไปดำเนินการโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ได้หรือไม่ และบัดนี้ผลการหารือยังไม่ออกมา
ซึ่งว่ากันว่า จะต้องผ่านตา เนติบริกร -นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกฯ และ อดีตรองนายกฯรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งมีกระแสข่าวว่าฝ่ายผู้มีอำนาจเดิม ส่งมาคุมรัฐบาลชุดนี้ไม่ให้เหาะเหินเกินลงกา รวมทั้งอาจชี้ช่องหาทางลงให้
ทั้งนี้หากผลสุดท้ายผลออกมาไม่เป็นคุณกับรัฐบาล ก็เชื่อว่า นายกฯ และ กระทรวงการคลัง จะกัดฟันจ่ายให้แก่ประชาชน โดยอาศัยวงเงินที่ชอบตามกฎหมายเท่านั้น และลดคุณสมบัติผู้ที่ได้รับสิทธิ์ จากเดิมที่กำหนดไว้ 50 ล้านคน เงินเดือนไม่เกิน 7 หมื่น -เงินฝากไม่เกิน 5 แสนบาท ให้เพียงพอกับเงินที่มี เพื่อรักษาหน้าตา พรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้
ส่วนผู้ที่พลาดหวัง หรือ ถูกปัดตก อดรับเงินหมื่นก็โยนความผิดให้ผู้คัดค้าน ตามสูตรสำเร็จวิชามารการเมือง!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ