“แต่นั่นเป็นการตัดสินใจตั้งแต่เปิดดีลเพื่อกลับบ้านมาสู้คดีแล้วว่า เมื่อกรีดเลือดออกมาแล้วต้องเป็นสีน้ำเงินเท่านั้น ไม่พลิกตัวไปเป็นปฏิปักษ์เหมือนเช่นที่ทำมา เพราะคดีความก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ค้ำคอไม่ให้เปลี่ยนข้างได้ง่ายๆ”
ปรากฏการณ์อัยการสั่งฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร" คดี 122 ถูกตีความว่าเป็นปฏิบัติการ หักดีล-ล้มดีล ในการจัดตั้งรัฐบาล และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรีจาก “เศรษฐา ทวีสิน" ไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น อาจไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะหากดูจากการเคลื่อนไหวของ 40 สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอนนายกรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีที่ขาดคุณสมบัติ แต่นายพิชิตลาออกก่อน และศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่ได้สั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นไม่ได้มาจาก “คู่ดีล”
มีกระแสข่าวว่า “สารตั้งต้น” มาจาก สว.สายบ้านป่ารอยต่อฯ ของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคลื่อนไหวเกมนี้ ประกอบกับสถานการณ์ที่พรรคก้าวไกลกำลังลุ้นคดียุบพรรคในเวลาอันใกล้ ทำให้มี สส.พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งตัดสินใจเลือกมา “ซบลุง” เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ถึงกับมีข่าวว่า มี สส.กลุ่มหนึ่งทั้งแดงและส้ม ไปปรากฏตัวที่ “บ้านอัมพวัน” ย่านเทเวศร์ เพื่อแสดงท่าทีสนับสนุนดัน “ลุงป้อม” ขึ้นเป็นนายกฯ กลายเป็นเรื่องที่ต้องเช็กข้อเท็จจริงกันให้วุ่น
หากข่าวนั้นเป็นจริงย่อมแสดงให้เห็นว่าไม่เกี่ยวกับสมการ “ดีลลับ” ที่เกิดขึ้นเพื่อแลกกับการให้ “ทักษิณ “กลับบ้าน แต่เป็น “คลื่นแทรก” ซึ่งอยู่นอกเหนือตัวละครหลัก
ยิ่งเมื่อปรากฏชื่อของ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกร เหมือนถูกส่งเข้ามาช่วย “เศรษฐา ทวีสิน” ในเรื่องข้อกฎหมายที่ถูกเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องขั้นตอน พิธีการ ที่ควรจะเป็น นั่นเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า “ดีลเดิม” ยังเดินหน้าต่อ เพียงแค่มีปัจจัยอื่นเข้ามารบกวนเท่านั้นเอง
นอกเหนือจากนั้นคือ บทบาทของตัวละครอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ในการเดินสายให้สัมภาษณ์เรื่องต่างๆ อย่างล้ำเส้น-เกินเบอร์ “โอเวอร์แอ็กชัน” เกินรัฐบาล จนทำให้ถูกตั้งคำถามสถานะนักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษว่าเหมาะสมหรือไม่ และเจ้าตัวอาจต้องเพลาๆ ลงบ้าง และจำกัดบทบาทให้พอประมาณกับสถานะตน
แต่ในทางคดีแล้วเหมือนเปิดทางให้มีการต่อสู้และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงในคำสัมภาษณ์ของ “ทักษิณ” ที่กองทัพบกนำไปฟ้องร้องว่ามีจุดมุ่งหมายในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เหตุผลเรื่องหลักฐานที่ผู้ฟ้องนำเสนอไปถึงอัยการไม่ใช่ต้นฉบับ ซึ่งประเด็นนี้อดีตแกนนำ นปช.รายหนึ่งเคยชนะคดีมาแล้ว
ซึ่งระยะเวลาในการต่อสู้ใน 3 ศาลนั้นต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเคลียร์ตัวเองได้ แต่ในเบื้องต้นคือ ในกรณีที่มีการสั่งฟ้องก็ต้องมีสัญญาณชัดในการ “การันตี” ไม่ให้เขาติดคุก และได้รับการประกันตัว เพียงแต่วันนั้น “สัญญาณไม่ชัด” เลยต้องส่งทนายมาขอเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องเพราะติดโควิด
แต่เมื่อเป็นการตัดสินใจตั้งแต่แรกในการเปิดดีลเพื่อกลับบ้านมาสู้คดีแล้วว่า ต่อจากนี้เมื่อกรีดเลือดออกมาแล้วต้องเป็น “สีน้ำเงิน” เท่านั้น ไม่ใช่มวลชนปฏิปักษ์ต่อสู้ทางการเมืองเหมือนเช่นที่ทำมา อีกทั้ง “คดีความ” ก็ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ “ค้ำคอ” ไม่ให้เปลี่ยนข้างได้ง่ายๆ
ดังนั้นปมประเด็นเรื่องการเร่งคลอดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อช่วย “ทักษิณ” ในคดี 112 จึงไม่มีความจำเป็น และถ้าขืนผลักดันแบบที่เคยทำมา ในตอนนิรโทษฯ สุดซอย-ลักลับตอนตี 3 กระแสโต้กลับอาจจะรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้น
ยิ่งเมื่อดูขั้นตอน กระบวนการต่างๆ แล้วคาดว่าต้องใช้เวลาเป็นปี เพราะตอนนี้เป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” ในขั้นตอนของคณะอนุกรรมาธิการฯ ในคณะกรรมาธิการสามัญของสภาฯ
เมื่ออนุกรรมาธิการฯ สรุปผลแล้วจึงส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ก่อนจัดทำเป็นร่างกฎหมายและจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณา จากนั้นจึงเสนอเข้าสู่สภา มีการอภิปรายในวาระ 1 ร่วมกับร่าง กม.ของพรรคการเมืองเสนอ หลังจากนั้นจึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาพิจารณา
โดยเฉพาะขั้นตอนในคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่อง ม.112 คงไม่กลืนน้ำลายตัวเองผลักดันให้เรื่องดังกล่าวบรรจุอยู่ในร่าง กม.ของรัฐบาล
ระหว่างนั้น คดีความ ม.112 ของผู้ถูกกล่าวหาก็อยู่ในขั้นตอนการต่อสู้ในชั้นศาล โดยจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ 1 เดือนมีสัญญาณชัดในเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาคดีดังกล่าวออกมาจำนวนมาก จนมีคนมองว่าเป็นการ “ปูทาง” ให้ “ทักษิณ” ได้รับความชอบธรรมในการประกันตัวด้วยซ้ำ
เมื่อไปดูกรอบการทำงานจะเห็นได้ว่าเป็นการไปรวบรวมสถิติ-ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่อาจจะได้รับการนิรโทษกรรมหากมีการออกกฎหมาย โดยจำแนกเป็นคดีหลัก คดีรอง คดีพ่วง โดยได้กำหนดช่วงระยะเวลาการกระทำความผิดของผู้ถูกดำเนินคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงที่หนึ่ง นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ถึงช่วงปี 2551, ช่วงที่สองคือ ช่วงตั้งแต่ปี 2552 ถึงช่วงปี 2555, ช่วงที่สามคือ ช่วงตั้งแต่ 2556 ถึงช่วงปี 2562, ช่วงที่สี่คือ ช่วงตั้งแต่ปี 2563 ถึงช่วงปี 2567 หรือวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ อนุกรรมาธิการฯ ยังได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ให้ศึกษาโมเดลการตั้ง "คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ประกอบด้วย กรรมการรวม 13 คน ได้แก่ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภา รมว.ยุติธรรม สส.ที่ได้รับเลือกมาที่เป็นตัวแทนของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล อดีตตุลาการศาลปกครองปกครองสูงสุดหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ทำหน้าที่อยู่ อดีตอัยการหรืออัยการที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน นักวิชาการ ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นเลขานุการคณะกรรมการนิรโทษกรรม
โดยคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เบื้องต้นยังอยู่ที่กรอบเดิมคือ ต้องเป็นคดีที่อยู่ใน 25 ฐานความผิดที่จะเป็นบัญชีแนบท้ายในกฎหมายนิรโทษกรรม ที่จะออกมาว่ามีฐานความผิดใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ก็อาจต้องเปิดช่องไว้ เพราะในอนาคตอาจจะมีฐานความผิดที่อาจตกหล่นไป โดยที่คณะกรรมการนิรโทษกรรมสามารถจะหยิบขึ้นมาพิจารณาได้หรือแก้ไขเพิ่มเติม
“แม้ 112 จะอยู่ใน 25 ฐานความผิด แต่อนุกรรมาธิการฯ จะไม่ไปบอกว่าควรหรือไม่ควรจะนิรโทษฯ หรือไม่ เพราะเรามีหน้าที่ในการจำแนกประเภท ม.112 อยู่ในกลุ่มของคดีความที่มีความอ่อนไหว ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่ยังมีความแตกต่างทางความคิดกันอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นกรรมาธิการหรือในสังคมก็ตาม ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันและหาข้อสรุปร่วมกัน เพราะไม่เช่นนั้น หากแต่ละฝ่ายยืนอยู่ในจุดของตัวเอง โอกาสที่เราจะหาทางออกหรือทำให้สังคมเดินหน้า มันก็ทำให้สังคมเดินไปไม่ได้ วันนี้ต้องพูดคุยกันว่าจะมีกลไกหรือกระบวนการอย่างไรในมาตราดังกล่าวนี้” นายยุทธพร อิสรชัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ระบุ
อย่างไรก็ตาม โมเดลการให้มีกรรมการนิรโทษกรรมดังกล่าวไปสอดคล้องกับเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … หรือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ที่ยื่นเข้าสภาไปและผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว
โดยร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม จำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้ง
หากดูตามรูปการณ์แล้ว พรรคก้าวไกลก็คงหวังพึ่งพรรคเพื่อไทย โดยเชื่อมโยงกับ “คดีทักษิณ” ว่าจะได้รับอานิสงส์ในการผลักดันนิรโทษกรรมเหมาเข่ง คดี ม.112 ไปด้วย ซึ่งระดับแกนนำของ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ก็ติดบ่วงคดีดังกล่าวอยู่ ซึ่งต่างก็คาดหวังและพยายามแตะมือกับผู้มีอำนาจตัวจริงของพรรคเพื่อไทย
ทำให้จังหวะก้าวของ “ก้าวไกล” ไม่ได้ฉับไว หรือรุกรบในเรื่อง “สถาบัน” เหมือนเมื่อก่อน แม้กระทั่งการตรวจสอบรัฐบาลก็ดูเหมือน “ชกไม่เต็มหมัด” เหมือนช่วงที่เปิดหน้าชนกับรัฐบาล “ลุงตู่” ประยุทธ์ จันทร์โอชา ราวกับว่ามี “ดีล” ซ้อน "ดีล" ทั้งที่รู้ว่าเป็นความหวังที่ยากจะเป็นไปได้
นอกจาก “ดีล” ที่เป็นไปได้ยากในการจับมือระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทยแล้ว การขยับตัวของ สส.ในพรรคในกรณีที่มีการยุบพรรคก็มีความเคลื่อนไหวคึกคัก และยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่า “นักการเมือง” ในเข่งจะยังอยู่ครบหรือไม่เมื่อวงแตก
แต้มต่อที่ก้าวไกลยังมีอยู่คือ คะแนนนิยม และความหวังของประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจต้องรอไปอีก 3 ปี หลังรัฐบาลครบวาระ
ในระหว่างนี้จึงทำได้แค่รุกหนักในสนามเลือกตั้ง สว.ที่กำลังจะมาถึง เพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจฝ่ายตรงข้ามเข้ายึดครอง คุมเสียงสภาสูงอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีผลต่อการวางคนในองค์กรอิสระ พร้อมเปิดแนวรุกในการวางฐานในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า
ปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้จึงเป็นการ “ค้ำยัน-ถ่วงดุล” ลดภาวะแทรกซ้อนจากกลไกองค์กรอิสระในฐานะตัวแสดงแทนเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ลิณธิภรณ์‘ ติง ‘โรม‘ ไม่มีมารยาท
‘ลิณธิภรณ์‘ ติง ‘โรม‘ ไม่มีมารยาท วิจารณ์ ’อันวาร์’ หารือ ’ทักษิณ’ ทปษ.ปธ.อาเซียน เสี่ยงยุแยงสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย เผยอดีตนายกฯ ถูกยกย่องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เชื่อนำพาประโยชน์สูงสุด
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ดร.ณัฏฐ์ มองการเมืองไทยปี 68 'รัฐบาลอิ๊งค์' มีเสถียรภาพ อยู่ยาวถึงปี 70
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้การเมืองไทยปี 2568 “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” กุมเสียงข้างมาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ แม้เจอโรครุมเร้า นักร้องเรียนรายวัน ยังไม่มีตัวแปรใดล้มรัฐบาล ฟันธง รัฐบาลอยู่ยาวถึงปี 2570
‘ทักษิณ’ ติงสื่อขยายข่าวมากเกินไป! หลัง คุยกับ ‘อันวาร์’
ที่อาคารมูลนิธิไทยรัฐ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เซียนการศึกษา “วิษณุ เครืองาม” เสนอตั้งกรรมการนวัตกรรมทางการศึกษา Active Learning พร้อมภาครัฐสานต่อเพื่อการศึกษาในอนาคต
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความต่อเนื่อง หลักสูตร Active Learning จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง
'ทักษิณ' ยอมรับแล้ว! ดอดพบ 'อันวาร์' บนเรือยอชต์กลางทะเล
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวสะพัดขึ้นเรือยอชต์จาก จ.ภูเก็ต ไปเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เพื่อพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม