‘เนติบริกร’กลับทำเนียบฯ สัญญาณยังเอา‘เศรษฐา’

การดึงนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาช่วยเป็นที่ปรึกษาเรื่องกฎหมาย ซ่อนนัยทางการเมือง

แม้แต่การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าไปพบกับนายวิษณุเมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการต่อสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เช่นกัน

โดยมีรายงานว่า นายเศรษฐาติดต่อขอคำปรึกษาเจ้าของฉายาเนติบริกร ตั้งแต่ตนเองปฏิบัติภารกิจอยู่ต่างประเทศ หรือแม้แต่กลับมาถึงประเทศไทยในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคมแล้ว ก็พยายามติดต่อเพื่อไปพบ

ตามรายงานระบุว่า นายเศรษฐาไปหานายวิษณุเมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พร้อมกับชักชวนให้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย รวมไปถึงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายผู้ถูกชักชวนปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าว กระทั่งลงเอยที่ตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

ไม่เพียงให้เป็นที่ปรึกษาเท่านั้น นายเศรษฐายังขอให้นายวิษณุเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย เพื่อช่วยดูระเบียบ วาระ ข้อกฎหมายต่างๆ ให้ถูกต้อง

ต้องยอมรับว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะมีมือกฎหมาย มีอดีตอัยการสูงสุด ทนายความ นักวิชาการหลายคน แต่ไม่มีมือกฎหมายที่มีความเจนจัดในเรื่องรัฐศาสตร์ สามารถพลิกแพลงกฎหมายได้อย่างแยบยลและมีเครดิต ตลอดจนคอนเนกชันเหมือนกับนายวิษณุ

ในทางการเมือง นายวิษณุถือว่ายังเป็นเต้ยในด้านนี้

แต่อย่างไรก็ดี การมาครั้งนี้ เรื่องฝีมือของนายวิษณุถูกมองว่าเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะบางฝ่ายให้น้ำหนักในมิติทางการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะคดีของนายเศรษฐาในศาลรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุมีส่วนกับการดีไซน์รัฐธรรมนูญกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 ทั้งฉบับชั่วคราว ทั้งฉบับถาวร รู้เห็นกับการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระมาตลอด 9 ปี

ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายเศรษฐาเลือกที่จะปรึกษานายวิษณุ คงไม่ได้อยู่ๆ จะเดินเข้าไปหาเอง แต่น่าจะมีคนชี้นิ้วส่งสัญญาณ หรือเบิกทางให้

เช่นเดียวกัน นายวิษณุคงไม่ตอบรับมาช่วยงานง่ายๆ เพียงเพราะนายเศรษฐาใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือใครติดต่อไปเพื่อขอให้ช่วย แต่ต้องได้รับสัญญาณมาเหมือนกันว่าให้มาช่วย

อย่าลืมว่า ระดับนายวิษณุไม่ได้จะมาช่วยงานใครสุ่มสี่สุ่มห้า ต่อให้ใครจะมองว่าเป็นเนติบริกรที่ผ่านการทำงานกับรัฐบาลมาหลายชุดหลายขั้วก็ตาม

โดยตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นายวิษณุระมัดระวังตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ไม่เอาตัวเองลงไปเสี่ยงในเรื่องอะไรที่มันล่อแหลมหรือเข้าเนื้อ

และต่อให้จะเคยร่วมงานกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่นายวิษณุลงมาช่วยแน่ๆ

อีกทั้งนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ภาพของนายวิษณุคือมือกฎหมายของฝ่ายอนุรักษนิยม แทบจะไม่เหลือภาพอดีตเสนาบดีในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยแล้ว

การลงมาช่วยนายเศรษฐาจึงเหมือนมีคนบอกให้มา และคนที่ส่งให้มาคงไม่ใช่ระดับนักการเมืองทั่วไป แต่ต้องระดับบิ๊กที่สามารถปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของรัฐบาลชุดนี้ได้

และอาจจะเป็นคนคนเดียวกับที่ไฟเขียวให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

รวมไปถึงเป็นคนคนเดียวที่ให้นายวิษณุดำเนินการเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณ ตอนป็นรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.ยุติธรรม ในช่วงท้ายรัฐบาลก่อน

ที่สำคัญต้องใหญ่ระดับที่สามารถต่อกรกับขบวนการที่พยายามจะเขย่ารัฐบาลนายเศรษฐาอยู่ในเวลานี้ได้

ซึ่งมีการมองว่า การส่งนายวิษณุมาอาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า ผู้กุมอำนาจยังไว้วางใจให้นายเศรษฐาบริหารประเทศอยู่

ขณะที่ในแง่การทำงาน รัฐบาลจะได้ความรัดกุมมากขึ้น นอกจากเรื่องวาระ ครม.ที่จะละเอียดรอบคอบขึ้น นายวิษณุยังเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ดูเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหลายเรื่องที่รัฐบาลปรึกษาได้ถูกส่งไปในคณะนี้ อย่างเช่น เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกจากราชการ

อย่างเรื่องคุณสมบัตินายพิชิต ที่รัฐบาลส่งไปปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ตั้งขึ้นมา โดยมีนายวิษณุเป็นประธานพิจารณา

และต้องยอมรับว่า การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในช่วงก่อนหน้านี้ หลายเรื่องให้ความเห็นที่ไม่พอใจรัฐบาลนัก ทั้งเรื่องการให้ความเห็นเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือความเห็นเกี่ยวกับคุณสมบัตินายพิชิต โดยเฉพาะตัวนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีข่าวว่าทำให้นายเศรษฐาหงุดหงิดบ่อยครั้ง จนครั้งหนึ่งมีข่าวว่าจะไม่ต่อวาระการดำรงตำแหน่งให้

แต่เมื่อนายวิษณุมา ท่าทีอาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะนายปกรณ์ถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิของนายวิษณุ เป็นนักกฎหมายในเครือข่ายเนติบริกร

ออปชันในตัวนายวิษณุมีมากมาย รัฐบาลชุดนี้จะได้ประโยชน์อย่างมาก

นายวิษณุคัมแบ็กครั้งนี้ไม่ได้มาด้วยเหตุผลพิศวาส แต่มาเพื่อภารกิจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

'ทักษิณ' ฟังทางนี้! ลืมหรือเปล่า 4.7 หมื่นล้าน รวยเพราะอะไร

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ *คุณ(มึง) รวยจริง" โดยระบุว่า ระยะหลังคุณทักษิณ ชินวัตร ปราศรัยดุเดือด ทั้งหมา ทั้งควาย พรั่งพรูออกมาจากปากคุณทักษิณเป็นฝูงๆ

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน