ถก ‘ครม.เศรษฐกิจ’ นัดแรก เร่งช่วยสินเชื่อรายย่อย-เบิกงบฯ

ประเดิมถกคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ “ครม.เศรษฐกิจ” นัดแรก ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใช้ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เป็นสถานที่ประชุม

ทั้งนี้หลัง “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” เข้ามาบริหารประเทศกว่า 9 เดือน ได้โปรยยาหอมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาทำหน้าที่ ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนที่มีนายกรัฐมนตรีมาจากภาคเอกชน ว่าน่าจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่าในยุคของรัฐบาลทหาร

แต่ทว่าการบริหารประเทศกว่า 9 เดือน การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำอยู่ ตามรายงานของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2567 ไตรมาส 1 เติบโตเพียง 1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศ

ทั้งที่ด้านการท่องเที่ยวไทยมีความโดดเด่น แต่ ตัวเลขอื่นกลับติดลบ โดยเฉพาะด้านการลงทุนและการบริโภคภาครัฐ ที่ติดลบพอสมควร เนื่องจากงบประมาณประจำปีเพิ่งออกมา ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ยังเผยถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 91.3% ต่อจีดีพี มูลค่าหนี้ 16.36 ล้านล้านบาท และหนี้บ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาท ทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่ง กระทบกลุ่มครัวเรือนรายได้ปานกลางหรือระดับล่างเพิ่มขึ้น

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทำให้ นายเศรษฐา เกิดความไม่สบายใจ รวมถึง นายใหญ่ ตัวจริงของรัฐบาล อย่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ

โดยนายทักษิณมองว่า ในภาวะที่จีดีพีของประเทศโตต่ำ ต้องรีบหาทางแก้ไข อะไรที่ต้องโด๊ป ต้องรีบยกขึ้นมาสูงๆ เพราะวันนี้กำลังซื้อของประชาชนไม่มีเลย เมื่อเห็นเช่นนั้นนายใหญ่ได้ส่งสัญญาณไปถึงนายกฯ นิดทันที ในช่วงที่นายกฯอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจที่ยุโรป ว่ากลับมาไทยให้เรียกประชุม ครม.เศรษฐกิจ

เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์ จึงเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ นิด ที่สั่งข้ามทวีปล่วงหน้าว่า จะมีการเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 27 พ.ค.

บวกกับรอบนี้ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้ดูแลสถานะการเงินของประเทศอย่างแบงก์ชาติมากขึ้น หลังจากเปลี่ยนตัวขุนคลังคนใหม่ ได้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มานั่งเก้าอี้แทนนายเศรษฐา ที่ดูขุนคลังคนใหม่จะเข้ากันได้ดีและคุยภาษาเดียวกันกับ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้นัดพูดคุยกันไปแล้ว และมีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับปัญหาสภาพเศรษฐกิจ

ที่ประชาชนและภาคธุรกิจรายย่อยกำลังขาดสภาพคล่อง เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากหลักเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน ทั้งที่สภาพคล่องในระบบการเงินสูง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการหารือรอบนี้ด้วย

และสำหรับการถก ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2567 นี้ นายเศรษฐา หวังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่การมาสั่งการ ถึงแม้ ครม.เศรษฐกิจ หรือที่นายกฯ อยากให้เรียก คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นั้น มีสถานะเป็นคณะกรรมการชุดหนึ่ง มติในการประชุมของ ครม.เศรษฐกิจ จะไม่มีผลทางกฎหมาย และจะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ปกติในวันอังคาร เพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง แต่อาจจะมีผลทางการเมือง

อย่างที่นักวิชาการบางคนมองว่า “อดีต ครม.เศรษฐกิจใช้เพื่อบริหารอำนาจการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ออกจาก ครม.ที่ปกติจะประชุมกันในวันอังคาร มาพิจารณาเฉพาะรัฐมนตรีบางคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ มติของ ครม.เศรษฐกิจแม้จะไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายและยังถือเป็นมติที่ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นหมากทางการเมืองการบริหารอำนาจ ที่ดึงรัฐมนตรีส่วนหนึ่งมาตกลงกัน และเมื่อนำมติดังกล่าวเข้าประกอบกับวาระการประชุมในที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีอื่นๆ ก็จะรู้สึกเกรงใจ ไม่กล้าที่จะแสดงความไม่เห็นด้วย หรือตั้งคำถามโต้แย้ง”

อย่างไรก็ตาม การถก ครม.เศรษฐกิจ นัดแรกนี้ ที่มี ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เข้าร่วมวงหารือด้วยเป็นครั้งแรกเช่นกัน ซึ่งภายหลังการประชุมทีมขุนคลัง นำโดยนายพิชัย ในฐานะ รมว.การคลัง และ 2 รัฐมนตรีช่วย ร่วมกันแถลง

โดยมาตรการที่น่าสนใจ เช่น แบงก์ชาติมีข้อเสนอที่เห็นตรงกันกับกระทรวงการคลัง คือ มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 11 ช่วยกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม เนื่องจากปัญหาธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มดังกล่าว ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ภายใน 2-3 สัปดาห์

ส่วนเรื่องงบประมาณ กระทรวงการคลังได้รับโจทย์จากที่ประชุมให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงเรื่องสินเชื่อที่มีการแบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้รับโจทย์ต้องทำให้การปล่อยสินเชื่อเข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น และกลุ่มเอสเอ็มอีรายใหม่ต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อในลำดับแรกๆ

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว นายเศรษฐาให้พิจารณาตลาดท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดตะวันออกกลาง ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยในที่ประชุมนายกฯ ยังสั่งให้สรุปมาด้วยว่าอะไรทำได้เลยให้ทำทันที และนำมารายงานความคืบหน้าใน 2 สัปดาห์ ว่ามีอะไรคืบหน้าไปบ้าง เพื่อเป็นการผลักดันเศรษฐกิจและการเงินการคลัง

ทั้งนี้ หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ นัดแรกที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาทีเสร็จสิ้น ทุกภาคส่วนร่วมระดมสมองหาทางออกแก้สภาวะเศรษฐกิจต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นมาตรการอะไรที่ร้องว้าว ดังนั้น ต้องจับตาในการประชุมครั้งต่อไป หลังทุกภาคส่วนรับนโยบายและการบ้านจากนายกฯ ไปแล้ว ก็คาดว่าจะมีอะไรให้สมกับที่ประชาชนรอคอยกันบ้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย

สัญญาณชัด! ‘เทพไท’ ฟันฉับความขัดแย้งในรัฐบาล เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วแน่นอน

เป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมือง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แต่กระโดดข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน

47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!

คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด

‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ

นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว