‘เศรษฐา’เป้าหลัก‘พิชิต’เป้ารอง ‘อำนาจเก่า’เขย่า‘แม้ว’แรง

“แม้จะมีการพลิกขั้ว ผสมพันธุ์กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ไม่ได้หมายความว่าวันนี้เป็นฝ่ายเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีดีเอ็นเอเดียวกัน พื้นฐานเป็นปลาคนละน้ำ แต่ถูกจับรวมมาอยู่ในตู้เดียวกัน”

สถิตินายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพรรคพลังประชาชนจนมาถึงปัจจุบัน กับศาลรัฐธรรมนูญ ลงเอยไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่

ตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จบไม่สวยสักคนเดียว เมื่อดูจากสถิติดังกล่าว ใครเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ย่อมไม่สบายใจและกังวลเป็นธรรมดา 

ยิ่งดูท่าทีของนายเศรษฐาตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พยายามเซฟตัวเองไม่ให้แปดเปื้อน แม้กระทั่งการถูกฟ้องร้อง ของร้อนเลี่ยงได้เลี่ยง อะไรไม่ชัวร์ถอยได้ถอย ต่างจากนายกรัฐมนตรีในอดีตคนอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย

ตั้งแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐายอมเสียฟอร์ม แก้ในรายละเอียดที่ทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ องค์กรอิสระ ท้วงติง หากเป็นเมื่อสมัยก่อนพรรคเพื่อไทยไม่ยอมแน่ 

ดูแค่นโยบายจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเสียงท้วงติงในลักษณะเดียวกัน แต่พรรคเพื่อไทยไม่สน ขอลุยฝ่ากระแสร้อน แต่ไม่ยอมเสียเครดิตกับนโยบายพระเอกที่ตัวเองหาเสียงไว้

หรือกรณี "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไปร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดนายเศรษฐา กรณีแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกวันต่อมายังต้องไปขอถอนคำร้อง โดยมีข่าวลือว่ามีผู้ใหญ่ไปเจรจาให้ถอนคำร้องเสีย อดีตซีอีโออสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของประเทศไม่ต้องการลงจากเก้าอี้ผู้นำแบบผิดธรรมชาติ

ขณะที่เรื่องของการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครคิดว่ามันจะเลยเถิดมาถึงขนาดเขย่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาได้

เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนเชื่อว่าการที่นายเศรษฐาเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่ตอนจัดตั้งรัฐบาลยอมแขวนไว้ก่อนเพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจว่า ได้รับไฟเขียวมาแล้วว่าดำรงตำแหน่งได้

กระทั่งมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา จนถึงปฏิบัติหน้าที่ได้ หลายคนยังเชื่อว่าแรงต้านที่เกิดขึ้นต่อตัวนายพิชิตจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นแล้วจะหายไป แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น 

คุณสมบัติของนายพิชิตยังถูกตั้งคำถามจากกรณีบาดแผลเรื่องถุงขนมในอดีต ลามไปถึงกลุ่ม 40 สว. ซุ่มไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ

ในตอนแรกผู้คนยังมองว่า การยื่นของกลุ่ม 40 สว. เป็นเพียงการกระทำของกลุ่มอนุรักษนิยมเก่าที่ยังอารมณ์ค้าง ละความเกลียดชังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ลงเท่านั้น

แต่หนังกลับเป็นคนละม้วน เพราะคำร้องของกลุ่ม 40 สว. ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่คุณสมบัติของนายพิชิตคนเดียว แต่ร้องนายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ ที่เป็นผู้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต เป็นตัวการด้วย

สัญญาณความไม่แน่นอนยิ่งเกิดขึ้น เมื่อบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลต่างพากันเช็กสัญญาณกับทางศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเรื่องนี้จะลามไปถึงตัวนายเศรษฐา ในฐานะนายกฯ หรือไม่

ในขณะเดียวกันยังมีความพยายามจากรัฐมนตรีในรัฐบาลกันเอง ที่ร่วมกันกดดันนายพิชิตให้ถอนสมอเรือ ลาออกจากรัฐมนตรี เพื่อเซฟตัวนายกฯ เอาไว้

และมีกระแสข่าวลือออกมาก่อนวันที่นายพิชิตจะลาออกว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่มีความสนิทกับนายเศรษฐา ส่งสัญญาณให้นายพิชิตพลีชีพ เพื่อไม่ให้เรื่องมันเลยเถิดไปมากกว่านี้ จนสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาล 

ปฏิกิริยาเหล่านี้ทำให้เรื่องที่ 40 สว. ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีอะไรมากกว่าแค่ตรวจสอบคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต แต่ไปไกลถึงเก้าอี้นายกฯ ของนายเศรษฐา

และไม่ได้เป็นการยื่นเพียงเพราะเรื่องของคนอารมณ์ค้างอย่างกลุ่ม 40 สว.เท่านั้น แต่มีนัยทางการเมืองที่มากกว่านั้น

บางฝ่ายมองว่า นี่เป็นปฏิบัติการสะกิดแรงๆ ใส่นายทักษิณจากกลุ่มอำนาจเก่า เพื่อต้องการสั่งสอนและป้องปรามไม่ให้ย่ามใจกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ 

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ตั้งแต่นายทักษิณออกจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ค่อนข้างเดินไว เดินแรง ตะลอนทัวร์ไปเหนือใต้ออกตก ออกแอ็กชันประหนึ่งเป็น ซูเปอร์นายกฯ ทั้งที่ยังไม่พ้นช่วงการพักโทษ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังรวมไปถึงเรื่องการบริหารภายในรัฐบาล ที่มีการกระชับอำนาจทุกกระเบียดนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่การล้ำแดนไปในเขตของพรรคร่วมรัฐบาล

หรือแม้กระทั่งการกล้าผลักดันนายพิชิตเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่มีประวัติไม่ค่อยดีเรื่องพฤติกรรมในอดีต จนดูเหมือนท้าทาย ไม่ไยดีความรู้สึกของสังคม หรือจะสร้างความหมั่นไส้ให้กับศัตรูในอดีต

ท่าทีของนายทักษิณเริ่มจะคล้ายกับคนคนเดียวกันเมื่อตอนมีอำนาจและก่อนหนีออกจากประเทศ ฉะนั้นจึงต้องสะกิดใส่แรงๆ ไม่ให้สำคัญตัว

ขณะที่มติศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องเรื่องของนายเศรษฐาเอาไว้ โดยไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ยังน่าสนใจ เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเองประเมินกันว่า เมื่อนายพิชิตลาออก เรื่องน่าจะจบเหมือนกับกรณีนายนิพนธ์ บุญญามณี ตัดสินใจลาออกจาก รมช.มหาดไทย ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม และให้จำหน่ายคดีออก  

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ศาลยกคำร้องนายพิชิต แต่รับเรื่องของนายเศรษฐาไว้ โดยให้เวลาชี้แจง 15 วัน

แม้จะเหมือนมีสัญญาณบวกตรงที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากดูมติเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อยแล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอุ่นใจสักเท่าไหร่

มติ 5 ต่อ 4 ชนะกันแค่ 1 เสียง เป็นเรื่องที่ฉิวเฉียดมาก แม้มันจะไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ว่า เมื่อถึงเวลาวินิจฉัยในเนื้อหาแล้วมันจะใกล้เคียงกันแบบนี้เสมอไปก็ตาม

แต่มันก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจได้ โดยเฉพาะตัวนายเศรษฐาเอง เพราะยังมีข่าวเสี้ยมเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกฯ จากนายเศรษฐา มาเป็น "อุ๊งอิ๊ง" น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อยู่เป็นระยะๆ

ที่สำคัญยากจะคาดเดาว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะเล่นแรงขนาดไหน 

อย่างไรก็ดี กรณีนี้มันสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า แม้จะมีการพลิกขั้ว ผสมพันธุ์กันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ไม่ได้หมายความว่าวันนี้เป็นฝ่ายเดียวกัน

ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีดีเอ็นเอเดียวกัน พื้นฐานเป็นปลาคนละน้ำ แต่ถูกจับรวมมาอยู่ในตู้เดียวกัน ต้องร่วมกันทำงานในสภาวะที่ไม่ได้มีทางเลือกมากมายนัก

ฝ่ายหนึ่งต้องการกลับมามีอำนาจ อีกฝ่ายต้องการสกัดกั้นการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า ต่างฝ่ายต่างดีลผลประโยชน์และความต้องการลงตัว มันจึงเกิดเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา

ขณะที่วันนี้ฝ่ายหนึ่งกำลังย่ามใจว่าอีกฝ่ายไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือ ต้องให้อิสระจนเต็มที่ ในขณะที่อีกฝ่ายก็ต้องการกระตุกให้เห็นว่าไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก แม้วันนี้จะอ่อนแรง แต่ยังมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ให้คุณให้โทษได้อยู่ 

เหตุการณ์นี้คงไปไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาล ยังเป็นแค่การแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็น เพื่อป้องปรามความเหิมเกริมของใครบางคนเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

'ธรรมนัส' รูดซิปปาก! ไม่รู้ 'วัน อยู่บำรุง' ย้ายซบพลังประชารัฐ เรื่องของบิ๊กป้อม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกรณี นายวัน อยู่บำรุง อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะย้ายไปสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในวันอังคารที่ 23 ก.ค.นี้โดยระบุสั้นๆว่า ตนไม่ทราบ

แอคชั่นทันที! นายกฯมาเอง ลงพื้นที่ห้วยขวาง สั่งสอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สน.ห้วยขวาง ติดตามสอบถามข้องเท็จถึงกรณีที่พบมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาซื้อขายหนังสือเดินทางและพาสปอร์ตที่แยกห้วยขวาง พบว่ามีการขึ้นป้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2567 เนื้อหาเป็นข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำหนังสือเดินทาง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ชื่นมื่นสุดสัปดาห์ ‘ทักษิณ-อนุทิน-สารัชถ์’ ออกรอบตีกอล์ฟเขาใหญ่ ‘สุวัจน์-รมต.-สส.พท.’ ร่วมแจม

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เขาใหญ่ จ. นครราชสีมา ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใด้ใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์