รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน บริหารประเทศได้ยังไม่ถึง 1 ปี มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว 1 ครั้ง
ตอนจัดตั้ง ครม.เศรษฐา 1 ทุกอย่างดูปกติ ราบเรียบ แต่การปรับ ครม. 1/1 กลับมีปัญหามากมาย โดยมีรัฐมนตรีลาออกไปแล้ว 3 คน ทั้งที่เพิ่งจะทำงานได้ไม่ถึง 1 เดือน
คนแรกคือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ตัดสินใจลาออกตั้งแต่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เนื่องจากไม่พอใจนายเศรษฐา ที่ลดชั้นตัวเองจากรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การต่างประเทศ เหลือเพียง รมว.การต่างประเทศอย่างเดียว
ถัดจากนั้นไม่นาน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ โควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ ตัดสินใจลาออกจาก รมช.การคลัง เพราะไม่พอใจ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง โจทก์เก่าในอดีต
และล่าสุดคือ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหาเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่ 40 สว.ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ครม.เศรษฐา 1/1 จึงเป็น ครม.ที่น่าจะเกิดปัญหามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอดีต
อย่างไรก็ดี การลาออกของนายพิชิต ไม่ได้เกิดจากความไม่พอใจเหมือนกับ 2 รายแรก หากแต่มีข่าวว่า ถูกกดดันอย่างหนักเพื่อให้ลาออก
มีข่าวลือหนาหูมากว่า ก่อนที่นายพิชิตจะตัดสินใจลาออก มีรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลพยายามกดดันให้เสียสละ เพื่อไม่ให้เรื่องลามไปถึงตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นคนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ในขณะเดียวกันยังมีข่าวลือว่า บรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้พยายามไล่เช็กศาลรัฐธรรมนูญว่า กรณีของนายพิชิตนั้นจะรุนแรงไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีหรือไม่
พร้อมกับข่าวลืออีกว่า หากนายพิชิตลาออก เรื่องจะจบแค่นั้น ไม่ถึงตัวของนายเศรษฐา
โดยรัฐมนตรีเหล่านี้กังวลว่า หากเรื่องลามไปถึงตัวนายกรัฐมนตรี อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งหลายคนยังไม่ต้องการให้เกิดสิ่งเหล่านั้นในเร็วๆ นี้
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทรงอิทธิพลในรัฐบาลชุดนี้อีกคน ส่งสัญญาณให้นายพิชิตลาออกเพื่อเสียสละรักษาภาพรวมเอาไว้
ขณะที่นายพิชิตเอง เช้าวันที่ 21 พฤษภาคม ยังแสดงความประสงค์ที่จะอยู่ต่อ เพราะมั่นใจในข้อกฎหมายว่า คุณสมบัติตัวเองสามารถดำรงตำแหน่งเสนาบดีได้
นายพิชิตพยายามยื้อจนถึงวินาทีสุดท้าย โดยในช่วงบ่ายวันเดียวกันพยายามต่อสายโทรศัพท์ถึง นายเศรษฐา ที่อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ แต่ไม่มีการรับสาย ขณะที่ภายหลังนายพิชิตยื่นใบลาออกแล้ว นายเศรษฐา จึงบอกว่าไม่ได้รับสาย เพราะติดภารกิจ
นายพิชิตไม่สามารถต้านทานได้ เพราะทั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ต่างแสดงปฏิกิริยาชัดเจนว่า ทั้ง 2 คนต้องการให้ นายพิชิตพลีชีพ เพื่อจบเรื่องนี้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ก่อนที่จะส่งสัญญาณให้นายพิชิตลาออกก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องตีความคุณสมบัติ นายเศรษฐาค่อนข้างเป็นกังวลอย่างมากว่า จะมีผลกระทบต่อตำแหน่งตัวเอง
อย่างไรก็ดี จากกรณีการลาออกของ นายพิชิต สะท้อนให้เห็นว่า นายเศรษฐา ค่อนข้างเป็นคนขี้กลัว และกลัวการแปดเปื้อน โดยเฉพาะเรื่องคดีความต่างๆ
หากมองย้อนกลับไป รัฐบาลนายเศรษฐามีความแตกต่างจากรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กล้าฝ่าแรงต้านมากกว่านี้
รัฐบาลชุดนี้ค่อนข้าง เพลย์เซฟ ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย ที่พอถูกเสียงคัดค้าน ท้วงติงจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากนักวิชาการ ทำให้ต้องถอยมาปรับแก้เนื้อหาและรายละเอียดหลายครั้ง เพื่อให้สุ่มเสี่ยงต่อการขัดกฎหมาย ซึ่งในทางการเมืองถือว่าเสียรังวัดพอสมควร
หรือกรณี ‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.เอาผิดนายเศรษฐา กรณีแต่งตั้ง ผบ.ตร.โดยมิชอบ รวมไปถึงเรื่องให้ออกจากราชการ แต่วันต่อมา ‘บิ๊กโจ๊ก’ ได้ขอถอนคำร้องในส่วนของนายเศรษฐาที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.เอาไว้
โดยว่ากันว่า นายเศรษฐา เป็นกังวลอย่างมากที่ถูกร้องเป็นครั้งแรก และมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนพยายามประสานไปยัง ‘บิ๊กโจ๊ก’ เพื่อให้ถอนคำร้องนั้นเสีย
เช่นเดียวกับกรณีที่ 40 สว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติ นายพิชิต รวมถึงวินิจฉัยพฤติกรรมของ นายเศรษฐา ที่เป็นผู้เสนอรายชื่อให้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งแม้ฝ่ายกฎหมายจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร และน่าจะผ่านไปได้ แต่นายเศรษฐากลับไม่เสี่ยง
โดยเลือกใช้วิธีตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ให้นายพิชิตลาออกเพื่อศาลจะได้ไม่ต้องพิจารณาอีก หรือแสดงให้รู้ว่าเป็นการบกพร่องโดยสุจริต เมื่อรู้ว่า พลาดก็พยายามแก้ไข
นายเศรษฐาต้องการที่จะอยู่ในเซฟโซน และกลัวที่จะต้องต่อสู้คดีเหมือนกับอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในอดีต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า