เบื้องหลัง 'พิชิต' สละชีพเพื่อนาย หวังตัดตอน ล้มคดีช่วยนายกฯ

"พิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" เจ้าของฉายาการเมือง "ทนายถุงขนม 2 ล้านบาท" ตัดสินใจ “ฮาราคีรีตัวเองทางการเมือง” ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค. หลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.ในช่วงเช้า

เบื้องหลังการตัดสินใจลาออกครั้งนี้ ข่าวว่ามีแกนนำและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร่วมกันตัดสินใจก่อนแล้วว่า  นายพิชิตต้องยอมสละชีพทางการเมือง ด้วยการลาออกจากรัฐมนตรี เพื่อทำให้คำร้องของ 40 สว. ที่ยื่นเอาผิดนายพิชิตและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีตกไป

โดยมีกระแสข่าวว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยและฝ่ายกฎหมายของพรรค ได้พิจารณาเห็นช่องทางที่จะทำให้มีการตัดตอนคดีได้ เพราะพบว่า

 “พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ” ในมาตรา 51 ที่บัญญัติว่า

“คําร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคําวินิจฉัยหรือมีคําสั่ง ถ้าผู้ร้องตาย หรือมีการขอถอนคําร้อง หรือไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น ศาลจะพิจารณาสั่งจําหน่ายคดีนั้นก็ได้

เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

นั่นหมายถึง เมื่อนายพิชิต ในฐานะผู้ถูกร้อง ที่เป็น "ต้นเรื่อง-กระดุมเม็ดแรก" ของคำร้องคดีนี้ ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปแล้ว ฝ่ายเพื่อไทยเชื่อว่า ก็จะทำให้ไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า นายพิชิตขัดต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ และเมื่อเป็นอย่างนี้ ศาล รธน.ก็ไม่ต้องไปพิจารณาต่อว่า การที่ นายเศรษฐาทูลเกล้าฯ ถวายชื่อของนายพิชิต เป็นการทำผิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) และ (5) หรือไม่

 เพราะก่อนจะพิจารณาว่านายเศรษฐาทำผิด หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาก่อนว่า นายพิชิตเป็นรัฐมนตรีได้หรือไม่ พอไม่พิจารณาประเด็นคุณสมบัติของนายพิชิตเพราะได้ลาออกไปแล้ว เลยทำให้ไม่ต้องไปพิจารณา “กระดุมเม็ดที่สอง” ว่า นายเศรษฐาทำผิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่นั่นเอง

ฝ่ายแกนนำและทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เลยเชื่อว่า การลาออกของนายพิชิต จะทำให้ศาล รธน.น่าจะไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย จนมีข่าวว่ามีการนำผลการหารือดังกล่าวแจ้งไปยัง "จันทร์ส่องหล้า” และแกนนำพรรคเพื่อไทยระดับเฮดๆ  ในตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล จนสุดท้ายเป็นที่มาของการที่ นายพิชิตต้องเล่นบท “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” ให้เห็น ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง รมต. เพื่อตัดตอนคดีไม่ให้ไปถึงนายเศรษฐา  

เชื่อได้ว่าก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้นายพิชิตลาออก ฝ่ายกฎหมายและแกนนำพรรคเพื่อไทย คงได้ไปศึกษา-วิเคราะห์คดีก่อนหน้านี้ของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้วว่า  พอรัฐมนตรีถูกยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว” แต่ต่อมาตัวรัฐมนตรีลาออก  ก็จะทำให้ศาล รธน.จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ไม่ต้องไต่สวน-วินิจฉัยอีกต่อไป 

เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการ "ยื่นโนติส-เงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้” ให้นายพิชิตลาออกจาก รมต.ประจำสำนักนายกฯ เพื่อ "ตัดตอนคดี” ไม่ให้ลามไปถึงนายเศรษฐา  ป้องกันไม่ให้ต้องเสี่ยงหลุดจากเก้าอี้นายกฯ

ข่าวบางกระแสอ้างอิงว่า คดีที่ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายแกนนำพรรคเพื่อไทยหยิบยกมาพิจารณา และเห็นว่านายพิชิตต้องลาออก เพื่อทำให้ศาล รธน.ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย  มีหลายสำนวนคดีที่ถูกนำมากางและศึกษาแนวทางการตัดสินคดีของศาล รธน.อย่างรีบด่วน

โดยคดีหนึ่งที่ถูกนำมาหารือก็คือ คดี "นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย” สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  ที่เคยถูกฝ่ายค้านสมัยที่แล้วที่นำโดย สส.พรรคก้าวไกล ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่?

จากกรณีนายนิพนธ์ที่เคยเป็นอดีตนายก อบจ.สงขลามาก่อน แต่ต่อมาถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย  ฝ่ายค้านจึงยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยว่า นายนิพนธ์ในฐานะผู้ถูกร้อง มีเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 หรือไม่

ซึ่งปรากฏว่าศาล รธน.ก็รับคำร้องไว้วินิจฉัย แต่ไม่ได้สั่งให้นายนิพนธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น รมช.มหาดไทย  แต่ปรากฏว่าระหว่างนั้น คดีดังกล่าวทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการไต่สวนและชื้มูลความผิด จนมีการยื่นฟ้องเอาผิดนายนิพนธ์ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ

และระหว่างที่จะมีการยื่นฟ้องศาลอาญาฯ นั้น นายนิพนธ์ได้ชิงลาออกจาก รมช.มหาดไทย ก่อนที่จะถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

มันก็เลยทำให้การไต่สวนคดีนายนิพนธ์ของศาล รธน. ในประเด็นต้องพ้นจากการเป็น รมต. ศาล รธน.ก็เลยยุติการพิจารณาคดีไปทันที เพราะถือว่าพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51  ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี งดการวินิจฉัยคดี  และงดนัดฟังคำวินิจฉัย

ดังนั้น เคสของนายนิพนธ์จึงสร้างความมั่นใจให้ฝ่ายแกนนำและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และตัวนายพิชิตเอง ด้วยว่าเมื่อนายพิชิตลาออกไปแล้ว ก็จะทำให้ศาล รธน.ไม่ต้องรับคำร้องไว้วินิจฉัย ในการประชุมตุลาการศาล รธน.วันที่ 23 พ.ค.นี้นั่นเอง

เพราะนายพิชิต แกนนำพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าศาล รธน.จะต้องเดินตามบรรทัดฐานที่วางไว้ในคดีนายนิพนธ์ แต่หากไม่ออกมาแบบนี้ คือศาลรธน.ยังรับคำร้องไว้วินิจฉัย แล้วพิจารณาเฉพาะตัวนายเศรษฐา นายกฯ คนเดียว ก็การันตีได้ว่า “พิชิต-เศรษฐา-เพื่อไทย” ต้องออกมาโวยวายแน่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ

“สองมาตรฐาน-เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า”

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางฝ่ายลุ้นให้ศาล รธน.รับคำร้องไว้วินิจฉัย แล้ววินิจฉัยเฉพาะกรณีของ “เศรษฐา-นายกฯ คนเดียว” โดยให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า

“เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

ที่ก็หมายถึง หากเสียงข้างมากของที่ประชุมตุลาการศาล รธน.เห็นว่า คำร้องของ 40 สว.เดินต่อไปได้ เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงควรจะพิจารณาคำร้องต่อไป โดยบางฝ่ายให้ความเห็นว่า ศาลควรวินิจฉัยคำร้องคดีนี้ต่อไป เพราะถือว่าเศรษฐาทำความผิดสำเร็จแล้วในการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อนายพิชิต ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตาม รธน. มาตรา 160 (4) และ (5)

ซึ่งก็ต้องรอดูผลการประชุมตุลาการศาล รธน.ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ต่อไป ว่าจะวางบรรทัดฐานไว้อย่างไร

               แต่ก็อย่างที่บอกข้างต้น การที่จะพิจารณาว่านายเศรษฐาทำผิด หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญในการเสนอชื่อนายพิชิตนั้น

 ลำดับแรก ศาล รธน.ต้องพิจารณาก่อนว่า นายพิชิตมีคุณสมบัติไม่ครบในการเป็นรัฐมนตรีตาม รธน.มาตรา 160  หรือไม่ แล้วถึงจะมาพิจารณาว่า นายเศรษฐาทำผิดหรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่เมื่อนายพิชิตลาออกไปแล้ว ทำให้เขาไม่สามารถมาพิสูจน์ตัวเองได้ ศาลจะไปพิจารณาไต่สวนเองก็อาจไม่เหมาะ  เมื่อศาลไม่สามารถมีการวินิจฉัยได้ว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติ เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ แล้วจะข้ามไปบอกว่านายเศรษฐาทำผิด หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ที่เสนอชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็อาจถูกมองว่าข้ามขั้นตอนกระบวนการ  ไม่ได้เริ่มจากหนึ่ง แต่ไปตัดสินสองเลย

จุดนี้จึงเป็นเหตุที่ทำให้เพื่อไทยมั่นใจว่า นายพิชิตลาออกแล้วจะทำให้คดีดังกล่าวถูกตัดตอน ศาล รธน.รับคำร้องไว้ไม่ได้ และทำให้นายเศรษฐาจะไม่ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และไม่เสี่ยงหลุดจากนายกฯ

แต่จะใช่หรือไม่ หรือจะผิดแผน พิชิตลาออกฟรี รอผลการประชุมตุลาการศาล รธน. วันที่ 23 พ.ค.ต่อไป

งานนี้ต้องถือว่า นายพิชิตได้ใจนายทักษิณ ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน ไปเต็มๆ และเชื่อว่าน่าจะมีรางวัลปลอบใจตามมาหลังจากนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

แอคชั่นทันที! นายกฯมาเอง ลงพื้นที่ห้วยขวาง สั่งสอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สน.ห้วยขวาง ติดตามสอบถามข้องเท็จถึงกรณีที่พบมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาซื้อขายหนังสือเดินทางและพาสปอร์ตที่แยกห้วยขวาง พบว่ามีการขึ้นป้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2567 เนื้อหาเป็นข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำหนังสือเดินทาง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)