ประเดิมรับสมัครสว. กลุ่มการเมืองส่อฮั้วยึดเก้าอี้

ประเดิมอย่างเป็นทางการวันแรกสำหรับการรับสมัครรับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ภายหลังจาก สว.ชุดบทเฉพาะกาล 250 คนได้หมดวาระเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดย สว.ชุดใหม่จะต้องสรรหาให้ได้จำนวน 200 คน โดยเลือกกัน 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ เลือกวันที่ 9 มิ.ย.2567, ระดับจังหวัด เลือกวันที่ 16 มิ.ย.2567, ระดับประเทศ เลือกวันที่ 26 มิ.ย.2567

การเลือก สว.ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบให้ผู้สมัครเลือกกันเองแบบ 100% โดยรัฐธรรมนูญมุ่งหวังให้ สว.ที่ได้มาปราศจากอิทธิพลของพรรคการเมือง โดยมีคุณสมบัติต้องห้ามที่สำคัญคือ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือหากเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติหรือในระดับท้องถิ่นก็ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกหรือตำแหน่งทางการเมืองนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

หรือผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ห้ามเป็นบิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.ในเวลาเดียวกัน รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ

ด้วยเหตุผลข้างต้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องการปิดประตูการฮั้ว เพื่อให้การคัดเลือก สว.เป็นแบบระบบปิด 100% ปราศจากอิทธิพลของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัคร 2,500 บาท การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งลงพื้นที่หาข่าวการทุจริต โดยหวังว่าให้การทุจริตมีจำนวนที่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตามการเลือก สว.ครั้งนี้เริ่มส่อเค้าวุ่นวายตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดรับสมัคร โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเรื่องระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวของผู้สมัคร โดยมีสาระสำคัญ ห้ามผู้สมัครแนะนำตัวผ่านสื่อ โดยให้แนะนำตัวเฉพาะในวงผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า "ระบบปิด" โดยเรื่องนี้ อ.พนัส ทัศนียานนท์ และพวก ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว เพราะมองว่า "เป็นการปิดปากมัดมือมัดเท้า ประชาชนไม่มีส่วนร่วม" จนทำให้ กกต.ต้องแก้ไขระเบียบ โดยจะมีการเปิดเผยตัวตนผู้สมัครผ่านแอปพลิเคชัน Smart vote ภายหลังปิดการรับสมัคร

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันแรกในการรับสมัคร นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยที่สำนักงานเขตพญาไทตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ เพื่อกำชับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารของผู้สมัคร และตรวจดูความเรียบร้อยในสถานที่รับสมัคร ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปสมัครได้ทุกอำเภอทุกเขตทั่วประเทศ โดยแต่ละที่ก็มีผู้เข้ายื่นสมัครเรื่อยๆ

มีรายงานว่าพื้นที่ กทม. พบความเคลื่อนไหวการจัดตั้งกลุ่ม การรวมกลุ่ม เพื่อฮั้วลงคะแนนเลือก สว.แล้ว แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล

ทั้งนี้ ในกระบวนการเลือกทุกระดับ เจ้าหน้าที่จะจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะผู้สมัครที่ไม่มีคะแนน และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 1-5 ลำดับแรก ซึ่งการตรวจสอบว่ามีการฮั้วจริงหรือไม่ จะต้องตรวจสอบพฤติกรรมและเอกสารต่างๆ ประกอบด้วย

สำหรับรายชื่อผู้ที่มีชื่อเสียงเข้ารับการคัดเลือกเป็น สว.ในวันแรก ที่น่าสนใจคือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางมาสมัครเช่นกัน โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกับผู้สมัครคนอื่นๆ

มีรายงานข่าวว่า นายทักษิณได้วางตัวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นประธาน สว.เพื่อคุมฐานเสียงและอำนาจในวุฒิสภา

จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายจะพยายามควบคุมให้ สว.ปราศจากกลุ่มการเมืองมากแค่ไหน เหล่าผู้มีอำนาจก็พยายามซิกแซ็กให้ได้มาซึ่งอำนาจนี้ เพราะเราจะเห็นได้ว่าเสียงของ สว.มีความสำคัญมากแค่ไหนในปัจจุบัน เพราะแม้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจในการออกกฎหมายยังคงมีอยู่ ซึ่งเหล่าบรรดาพรรคการเมืองต่างหวังให้คนของตัวเองได้เก้าอี้ สว.เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจเหล่านี้

ในเรื่องนี้ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต สว.กรุงเทพมหานคร ปี 2543 เคยให้ความเห็นไว้ว่า หากผู้มีอิทธิพลหรือที่เรียกว่าบ้านใหญ่หรือพรรคการเมืองใหญ่ ส่งผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพในจำนวนที่มากพอควร และจัดตั้งให้เลือกผู้สมัคร 5 คนที่กำหนดไว้ ผู้สมัครของตนคงจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ ส่วนผู้สมัครรายอื่นๆ ที่เป็นอิสระ เลือกกันเองคะแนนจะแตก โอกาสที่จะได้จะน้อยมากๆ

นอกจาก กลุ่มเสื้อสีแดง ที่ต้องการเข้ามามีบทบาทใน สว.แล้ว "กลุ่มเสื้อสีส้ม" ก็ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะต้องการเก้าอี้ สว.ในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความพยายามในการดำเนินการเรื่องนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะต้องดูว่าจะใช้กลเม็ดใดให้ได้มาซึ่งเก้าอี้วุฒิสภา

นี่แค่ประเดิมวันแรกยังก็เห็นสัญญาณกลุ่มการเมืองเข้ามายึดเก้าอี้่ สว. หลังจากนี้จะต้องลุ้นกันว่าจะมีคนดังคนใดเข้ามาสมัครเพิ่มเติม แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เป็นงานหนักของ กกต.ในการป้องกันการฮั้ว หรือการทุจริตในระหว่างที่มีการคัดเลือก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

เปิดศึกชิงเก้าอี้ ประมุขสภาสูง เสร็จสว.นํ้าเงิน

ฝุ่นตลบ! ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง ล็อบบี้กันเดือด "เทวฤทธิ์” ชี้ควรเป็นคนเปิดกว้าง ให้พื้นที่เสียงส่วนน้อย ยันกลุ่มพันธุ์ใหม่ส่งชิงแน่ พร้อมเล็งเก้าอี้ประธาน

'หมอเกศ' โผล่สภาแล้ว! ยิ้มแทนคำตอบ

พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้เดินทางเข้ามายังอาคารรัฐสภาฝั่งสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้สื่อข่าวบังเอิญไปเจอ พญ.เกศกมล ที่ห้องอาหารชั้น 1