เศรษฐา-พิชิต หากแพ้คดี ครม.ไปหมด-เปลี่ยนตัวนายกฯ!

ศาลรัฐธรรมนูญ ในยุคปัจจุบันที่มี ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 คำร้อง คดีการเมืองสำคัญ ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล รธน.ที่ผลคำวินิจฉัยจะมีผลทางการเมืองตามมาไม่น้อย โดยเฉพาะหากผลคำตัดสิน ไม่เป็นคุณกับฝ่ายผู้ถูกร้อง

คดีแรก ยุบพรรคก้าวไกล ในข้อหาความผิดล้มล้างการปกครอง ที่ก็คาดว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาช่วงเดือน ก.ค.

และล่าสุดคดีที่ 2 กับคำร้องคดี สว.จำนวน 40 คน เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาล รธน.ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน และคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยผู้ร้องระบุว่า นายพิชิตไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ก็คือ คดีถุงขนม 2 ล้านบาท แต่ เศรษฐา นายกฯ กลับนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายจนได้เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 คน จึงมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) และ (5)

ซึ่งมีข่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่สัปดาห์นี้ขยับมาประชุมกันวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค. จากเดิมประชุมกันทุกวันพุธ แต่เนื่องจากพุธนี้ 22 พ.ค. ตรงกับวันวิสาขบูชา ที่เป็นวันหยุดราชการ เลยมาประชุมกันวันพฤหัสบดีนี้แทน

จึงทำให้ทุกฝ่ายจับตามองกันอย่างมากว่า สำนักงานเลขาธิการศาล รธน.จะนำคำร้องคดีดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ได้ทันหรือไม่ หรือว่าจะต้องขยับไปเป็นพุธหน้า 29 พ.ค.

กระนั้นข่าวหลายกระแสบอกว่าน่าจะเข้าได้ทัน เพราะสำนักงานศาล รธน.รับเรื่องตามระบบงานสารบรรณไว้ตั้งแต่ 16 พ.ค.แล้ว อีกทั้งคำร้องดังกล่าวส่งมาโดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งได้มีการตรวจสอบรายชื่อ 40 สว.ขั้นต้น รวมถึงยื่นถูกต้องตามช่องทาง รธน.ดังนั้นก็น่าจะทัน 23 พ.ค.นี้

ไคล์แมกซ์ของเรื่องนี้ ฉากแรกประเดิมกันด้วย ต้องดูว่าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.จะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่

ซึ่งดูจากช่องทางที่ยื่นคำร้อง ก็ทำให้หากไม่มีอะไรผิดพลาดทางเทคนิค ก็น่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยค่อนข้างแน่

และเมื่อรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ฉากระทึกต่อไปก็คือ ที่ประชุมจะมีมติให้ “เศรษฐา-นายกฯ” และ "พิชิต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี" หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ และ รมต. ตามลำดับ ตามท้ายคำร้องที่กลุ่ม 40 สว.เขียนไว้ในท้ายคำร้องหรือไม่?

แนวทางเรื่องนี้ ตุลาการศาล รธน.ต้องลงมติกันว่าจะเอาอย่างไร โดยมีได้ 3 สูตร คือ

1.รับคำร้อง แต่ไม่สั่งให้เศรษฐาและพิชิตหยุดปฏิบัติหน้าที่

ที่ก็ทำให้ทั้ง 2 คนยังทำหน้าที่ได้ตามปกติ แล้วก็สู้คดีต่อไปในฐานะผู้ถูกร้อง โดยเริ่มจากทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาส่งไปยังศาล รธน. 

2.สั่งให้ทั้ง 2 คน คือเศรษฐา และพิชิต หยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันทีหลังรับคำร้อง

ที่เรียกกันง่ายๆ สั่ง "พักงาน-แช่แข็ง" เอาไว้ มีตำแหน่ง แต่ทำงานราชการไม่ได้ เข้าห้องทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้-นั่งรถหลวงไม่ได้ เป็นต้น

3.สั่งให้เศรษฐา หรือพิชิต คนใดคนหนึ่ง หยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 2 คน

อย่างไรก็ตาม สูตรนี้หลายคนมองว่า น่าจะเกิดได้ยาก เพราะถ้าจะสั่งให้หยุดหรือไม่ให้หยุด ก็ต้องสั่งทั้ง 2 คนไปเลย

แต่หากออกมาสูตรนี้จริง แวดวงการเมืองมองว่า คนที่จะโดนน่าจะเป็นพิชิตมากกว่า เศรษฐาอาจไม่โดน ซึ่งถ้าออกมาสูตรนี้ ก็จะถูกตีความในทางการเมืองไปในโทนว่า พิชิตอาจไม่รอด แต่เศรษฐามีลุ้น

ส่วนผลจะออกมาแบบไหน ก็ต้องรอดูผลการประชุมตุลาการศาล รธน.ที่จะออกมา โดยหากมีความคิดเห็นที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ต้องมีการลงมติเพื่อให้ได้เสียงข้างมากว่าจะสั่งให้หยุดหรือไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่

เหมือนอย่างเช่นกรณีคำร้องคดี นายกฯ 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้ศาล รธน.จะมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องไว้พิจารณาด้วยมติ 9 ต่อ 0 แต่ตอนลงมติว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่ประชุมเถียงกันอย่างหนัก จนสุดท้ายต้องลงมติชี้ขาด จนออกมาเป็นมติเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 ให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกฯ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเมื่อ 24 สิงหาคม 2566 จนตอนนั้นหลายคนคิดว่า พลเอกประยุทธ์ไม่รอด แต่สุดท้าย ก็พลิกกลับมาชนะคดีได้ด้วยมติ 6 ต่อ 3 ไม่หลุดจากนายกฯ

ที่น่าสนใจคือ หากตุลาการศาล รธน.ประชุมและนำคำร้องดังกล่าวหารือวันที่ 23 พ.ค.จริง แล้วเกิดมีมติให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ขึ้นมาในช่วงก่อนบ่ายโมงวันดังกล่าว

ก็พบว่า ช่วงนั้น “คณะนายกฯ” เดินทางไปราชการที่ ประเทศญี่ปุ่น และจะกลับไทย 24 พ.ค.

หากเป็นแบบนี้อาจป่วนได้ เพราะจะทำให้เศรษฐากลายเป็น นายกฯ นอกทำเนียบฯ กลางกรุงโตเกียว ทันที จนต้องซื้อตั๋วบินกลับเอง จะขึ้นเครื่องบินในฐานะนายกฯ ไม่ได้ เพราะอาจถูกร้องเอาผิด 

แค่ฉากแรกของคดีนี้ก็เร้าใจแล้ว?

และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการสู้คดี หากศาล รธน.รับคำร้องไว้พิจารณา ก็คาดว่าการเมืองทั้งมันส์ ทั้งระทึก จะเกิดข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวสะพัดทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายภายใต้สมการ

"เศรษฐาไม่รอด โดนศาล รธน.สอยร่วง ต้องหลุดจากนายกฯ"

 เช่น จะลือกันเรื่องนายกฯ คนใหม่จะเป็นใคร ทักษิณ ชินวัตร จะดัน อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเลยหรือไม่ หรือนายกฯ คนใหม่ จะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นในพรรคร่วมรัฐบาล หรือการเมืองจะพลิกขั้ว เพื่อไทยจะไปจับมือกับก้าวไกลตั้งรัฐบาลร่วมกัน เป็นต้น

เพราะหาก "เศรษฐา-พิชิต" แพ้คดี ศาล รธน.วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเฉพาะตัวนายกฯ จะเกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองสูงตามมาทันที

ด้วยเหตุว่า หากเศรษฐาต้องพ้นจากการเป็นนายกฯ ก็หมายถึง ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

ต้องตั้งรัฐบาล ฟอร์ม ครม.กันใหม่หมด

 เอาแค่เฉพาะตัวเศรษฐาเอง งานนี้หากไม่รอด จะโดนถึง 3 เด้ง

หนึ่ง หลุดจากนายกรัฐมนตรี

ทำให้ทักษิณต้องหานายกฯ คนใหม่ เช่น อาจต้องดันอุ๊งอิ๊งขึ้นมาก่อนเวลาอันควร 

สอง หากคำวินิจฉัยของศาล รธน. มีการระบุว่า เศรษฐามีพฤติการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เสนอชื่อคนขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นรัฐมนตรี-มีการช่วยเหลือให้พิชิต ด้เป็นรัฐมนตรี โดยให้เลขาธิการ ครม.ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปยังกรรมการกฤษฎีกาโดยไม่ครบถ้วน ถึงขั้นศาล รธน. ถ้าระบุในคำวินิจฉัยว่า เศรษฐามีพฤติการณ์เข้าข่ายทำผิดมาตรฐานจริยธรรม หรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

ถ้าออกมาแบบนี้ จะมีผลทำให้เศรษฐาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตาม รธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ตลอดไป จึงทำให้ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีใดๆ ได้อีกต่อไป ตราบที่ยังใช้ รธน.ปี 2560 เรียกว่าปิดฉากการเมืองกลายๆ

สาม เสี่ยงจะถูกเช็กบิลซ้ำ มีการไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.เอาผิดมาตรฐานจริยธรรม กรณีทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อรัฐมนตรีขาดคุณสมบัติ อาจโดนเอาผิดยื่นศาลฎีกาฯ เชือดซ้ำ โดนดาบสองดับดิ้นทางการเมือง

งานนี้เศรษฐาถ้าพลาด แพ้คดี เจอไปสามเด้งจุกๆ ไปเลย

ได้กลับไปเป็น เสี่ยนิด-แสนสิริ ขายบ้าน-คอนโดหรู กินปู ริมทะเลหัวหิน ก่อนเวลาอันควร

ซึ่งถ้าผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.ออกมาในทางที่เศรษฐา-พิชิตแพ้คดี ก็จะถือเป็นคำวินิจฉัยที่จะถูกพูดถึงเยอะในทางหลัก

"พระราชอำนาจ-กฎหมายมหาชน-การเมืองไทย"

เพราะนายพิชิตได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาเป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่ถ้าศาล รธน.ชี้ว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี ก็เชื่อว่าจะทำให้ศาล รธน.ตกเป็นที่พูดถึงอย่างมากถึงการมีคำตัดสินหลังมีพระบรมโองการฯ โดยเฉพาะเรื่อง "พระราชอำนาจ"

 ขณะที่ในทางการเมือง ถ้าผลออกมา "ไม่เป็นคุณ" กับเศรษฐา-พิชิต ก็จะทำให้กลายเป็น

บรรทัดฐานการเมืองและกฎหมาย เรื่อง การตั้งรัฐมนตรี

ต่อไปอีกหลายสิบปี ที่จะทำให้นายกฯ ต้องระมัดระวังในการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ รมต.ที่ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบ ไม่ให้ซ้ำรอยกรณีพิชิตขึ้นมาอีก ไม่เช่นนั้นก็หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ได้ง่ายๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า