“จุดยืนทางการเมืองของแกนนำพรรคเพื่อไทยดังกล่าว ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดตัวเองให้ต้องถูกทวงถามจากสังคมตลอดไป หากไม่ทำตามสัญญาก็จะถูกตราหน้าว่า ตระบัดสัตย์ เหมือนตอนจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว”
การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ หรือ บุ้ง ทะลุวัง จากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ สะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยยังฝังลึกในหลายมิติ
ฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองกับ บุ้ง ทะลุวัง ก็โทษว่าต้นเหตุเนื่องจากกฎหมาย มาตรา 112 ที่ไม่เป็นธรรม และไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นศาลระหว่างการสู้คดี ทำให้เธอต้องอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม
ส่วนฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามก็มองว่า บุ้งทำผิดเงื่อนไขประกันเอง ศาลจึงไม่ให้ประกันตัว เป็นเยาวชนที่ตกเหยื่อทางการเมือง ถูกปลุกปั่น ยุยงจากผู้ใหญ่ให้เกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง และเคลื่อนไหวแบบสุดโต่ง
ทั้งนี้ จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ บุ้ง ทะลุวัง ทำให้ถูกดำเนินคดีรวมถึง 7 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ถึง 2 คดี จากเหตุกิจกรรมทำโพล “ขบวนเสด็จฯ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่" โดยคดีทั้งสองยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น
ก่อนหน้าการเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุกบุ้ง ในคดีละเมิดอำนาจศาล 1 เดือน และสั่งถอนประกันในคดีมาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 จากการเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค.2566
หลังเข้าเรือนจำวันถัดมา (วันที่ 27 ม.ค.2567) บุ้งประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และจะต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างทางการเมือง รวมแล้วอดอาหาร 109 วัน
สำหรับ คดีละเมิดอำนาจศาล เกิดจากกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอประกันตัว “โฟล์ค สหรัฐ” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2566
การเสียชีวิตของบุ้งยังได้รับความสนในจากนานาชาติด้วย ทูตจากประเทศประชาธิปไตยที่ประจำในประเทศไทย ต่างก็ออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
สื่อต่างชาติก็รายงานว่า บุ้ง เนติพร เป็นนักโทษการเมืองในไทยรายแรกที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง และเป็นรายที่สองที่เสียชีวิตขณะถูกจองจำด้วยคดี ม.112 ต่อจาก อำพล ตั้งนพกุล หรือ "อากง" ที่เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555
บางคนมองว่าการถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับการประกันตัวในคดีอาญาที่ศาลยังไม่ตัดสิน ทำให้ตัวแทนจากประเทศไทยหมดหวังตำแหน่งใน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นานาชาติจะเลือกในเดือน ต.ค.ปีนี้
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ต้องหาทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวซ้ำซาก และยังก่อความวุ่นวายบริเวณหน้าศาล จึงเป็นดุลยพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่จะสั่งถอนประกันตัวก็ได้ และมีผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ได้รับการประกันตัวไปก็หลายคน
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เสนอทางออกว่า ให้คณะรัฐมนตรีมีมตินโยบายที่ชัดเจน ประสานอัยการเพื่อรับมตินโยบายไปพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ หรือหารือกับฝ่ายตุลาการเองได้ในเรื่องสิทธิการประกันตัว โดยไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจตุลาการ
ทางด้าน กลุ่มทะลุฟ้า และ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองด้วย
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องรับไปพิจารณา ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สส.ปี 2566 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน สองแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคเพื่อไทยไว้ชัดเจน
โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า "เราไม่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราต้องมาคุยกันในสภา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะขอความเมตตาต่อศาล ว่ามีน้องๆ และผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายคนที่ติดอยู่ในนั้น ขอให้มีการปล่อยตัว และต้องมีการแก้ไขระเบียบ ต้องกำหนดว่าใครเป็นคนฟ้อง อัตราโทษเราไม่สนับสนุนเอามาใช้เป็นเกมการเมือง เราต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขรัฐ"
ด้าน นายเศรษฐา กล่าวว่า "ถ้าเราเป็นรัฐบาลก็ต้องดูการประกันตัว เพื่อต่อสู้ได้อย่างเป็นธรรม แต่คู่ขนานกันไป คนรุ่นใหม่กังวลมาก แต่ปัญหา ม.112 อาจถูกลดทอน แต่พวกเขาไม่สบายใจก็ต้องมีการเปิดพื้นที่รับฟัง"
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า "นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีความทางการเมืองจากเหตุความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่าง ต้องได้รับการประกันตัวและได้รับการพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม"
เช่นเดียวกับ นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด อดีต รมว.ยุติธรรม และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ก็เคยพูดไว้ว่า "หากประสบการณ์ที่รับราชการ จนถึงอัยการสูงสุด จะพอมีคุณค่า ก็ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิด เห็นต่างกับรัฐบาล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูหลักนิติรัฐ นิติธรรม"
จุดยืนทางการเมืองของแกนนำพรรคเพื่อไทยดังกล่าว ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ผูกมัดตัวเองให้ต้องถูกทวงถามจากสังคมตลอดไป หากไม่ทำตามสัญญาก็จะถูกตราหน้าว่า ตระบัดสัตย์ เหมือนตอนจัดตั้ง รัฐบาลข้ามขั้ว
นอกจากนี้ กรณีผู้ต้องหาคดี ม.112 และคดีทางการเมือง ถูกมองว่าได้รับการปฏิบัติแบบ สองมาตรฐาน ขณะที่บางคนมีอภิสิทธิ์ชน ได้รับการดูแลอย่างดีในราชทัณฑ์ หรือได้รับการปล่อยตัว
โดยเฉพาะ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกศาลพิพากษาคดีทุจริต จำคุกรวม 8 ปี ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี เป็นนักโทษเด็ดขาดชาย แต่ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว ได้รับการพักโทษ เดินทางไปไหนได้เหมือนคนทั่วไป
ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า ภายหลัง น.ส.เนติพรเสียชีวิต ขณะนี้ยังมีผู้ต้องขังการเมืองอีก 43 คน เป็น ม.112 ถึง 25 คน ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี 27 คน ยังรอคอยสิทธิประกันตัว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ไม่เพียงคดีทางการเมือง แต่ประชาชนทั่วไปตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง เดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ประชาชนถูกยัดข้อหา เป็นแพะมากมาย แต่คนมีเงิน มีอำนาจ ซื้อกระบวนการยุติธรรมได้ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่กลายเป็นผู้ต้องหารับส่วยสินบน หรือ ผู้ร้าย เสียเอง
ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการผลักดันการปฏิรูปตำรวจ ต้นทางกระบวนการยุติธรรม อย่างมีความหวัง แต่ในที่สุดกลับถูกแปลงสารบิดเบือนกลายเป็น ปฏิลวง ตบตาประชาชน จึงเหมือนซุกขยะไว้ใต้พรม หรือ ระเบิดเวลา!
ในรัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่เห็นแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายกฯ เศรษฐา บอกว่า ไม่ชอบคำว่า ปฏิรูป แต่จะพัฒนาไปด้วยกัน จึงไม่มีหลักประกันว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะได้รับการปฏิรูปในยุคนี้หรือใม่?
ทางด้าน นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาคดีการเมืองตามข้อเรียกร้องของ กลุ่มทะลุฟ้า ดังนี้ 1.ตรวจสอบการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2.ดำเนินการใดๆ ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิประกันตัว
3.ชะลอการดำเนินคดีการจับกุม คุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม สั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และ 4.เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยรวมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุแห่งคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ... ได้เสนอต่อรัฐสภา และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว
สำหรับเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง มีข้อเสนอมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดย คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้เสนอรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปลายปี 2558 แต่กลับเก็บใส่ลิ้นชัก เนื่องจาก "อยากอยู่ยาว!"
เมื่อปลายปี 2565 นพ.ระวี มาศฉมาดล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่น ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยมีหลักการเช่นเดียวกับ กก.ปรองดอง ชุดนายเอนก คือให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและจากการแสดงออกทางการเมือง ยกเว้นคดีทุจิตคอร์รัปชัน คดีอาญาที่่ร้ายแรง และคดี ม.112
โดยเชื่อว่าจะส่งผลต่อการสร้างเสริมสังคมสันติสุข ลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ เพื่อให้สังคมไทยและประเทศชาติกลับมาสู่ความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี
ขณะที่พรรคก้าวไกลได้เสนอให้นิรโทษกรรมคดี ม.112 ควบรวมไปด้วย ทำให้เรื่องนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองยังหาข้อยุติไม่ได้ โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่า คดี ม.112 ไม่ใช่คดีทางการเมือง และถือเป็น พระบรมราชวินิจฉัย
ความขัดแย้งทางการเมืองหากนับตั้งแต่การรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ยืดเยื้อมาเกือบ 20 ปี จึงยังไม่มีสัญญาณว่าจะคลี่คลายลง และในวาระครบรอบ 32 ปี เหตุการณ์พฤษภา ’35 ทุกฝ่ายไม่ต้องการให้การเรียกร้องประชาธิปไตยต้องมาสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีก
แนวทางการต่อสู้ของ บุ้ง ทะลุวัง แม้ถูกมองว่าสุดโต่ง แต่ก็มีแนวร่วมจำนวนมากที่มีจุดยืนทางการเมืองเดียวกันและพร้อมสานต่อเจตนารมณ์ ส่วนฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้าม หากใช้วิธีการสุดโต่งเช่นเดียวกัน โดยไล่ขยี้อีกฝ่ายให้จนมุม จะกลายเป็นการตอกลิ่มขยายความขัดแย้งให้ร้าวลึกกว่าเดิม
จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ จะส่งสัญญาณแก้ไข คลี่คลายสถานการณ์อย่างไร?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หัวหน้าอิ๊งค์’ เตรียมเปิดตัว ผู้สมัคร นายก อบจ. 6 จังหวัด ในนาม ‘พท.’ 24 ธ.ค.นี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) เตรียมแถลงเปิดตัว ผู้สมัคร นายก อบจ. 6 จังหวัด
47 เก้าอี้นายกฯอบจ. บ้านใหญ่ ลุ้นเข้าวิน-กินเรียบ!
คิกออฟ นับหนึ่งตั้งแต่จันทร์ที่ 23 ธ.ค.ที่เป็นวันแรกของการรับสมัครบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. 47 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงที่ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด
‘พท.’ เปิดตัว ‘สลักจฤฎดิ์’ ลง นายก อบจ.เชียงราย โชว์เปิดวิดีโอ ‘ทักษิณ’ หนุนเต็มที่
พรรคเพื่อไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและสมาชิก อบจ.เชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
พรรคส้มดาวกระจาย สู้ศึกอบจ. ‘พิธา’ ชน ‘ทักษิณ’ ตรง ‘ประตูท่าแพ-ตลาดวโรรส’ จันทร์นี้
พรรคประชาชน(ปชน.)เตรียมตัวส่งผู้สมัครนายก อบจ.ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 23 ธ.ค. โดยส่งระดับแกนนำและผู้ช่วยหาเสียงที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณลงประกบตามพื้นที่ต่างๆ
‘แม้ว’ ไล่ทุบ- ‘ภูมิใจไทย’ ไม่หมู ‘แดง-น้ำเงิน’ ทนอยู่แบบตบจูบ
นาทีนี้ศึกฝ่ายค้าน-รัฐบาลยังไม่เดือดเท่ากับศึกรัฐบาลด้วยกันเอง แรงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการขบเหลี่ยมของพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2
เข้าใจตรงกันนะ 'ณัฐวุฒิ' ยืนยัน 'พรรคเพื่อไทย' อยู่คนละก๊กกับ 'พรรคส้ม'
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่าอันนี้ไม่ใช่แล้วครับ ข่าวลงผิดแล้ว