ความเคลื่อนไหวในแวดวงกองทัพตลอดปี 2564 เหมือนจะนิ่งๆ ไม่ค่อยมีประเด็นหวือหวามากนัก อาจเป็นเพราะบทบาทของผู้บัญชาการเหล่าทัพเลี่ยงที่จะให้ความเห็น หรือตอบเรื่องการเมือง และใช้ทีมงานโฆษกในการชี้แจงในประเด็นที่ถูกโจมตี พาดพิง ส่วนข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอจะเป็นลักษณะของการประชาสัมพันธ์กิจกรรมและงานของหน่วย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีประเด็นร้อนให้พูดถึงเลย อย่างน้อยๆ ก็พอแกะออกได้ 5 ประเด็น ที่น่าจะมีภาคต่อในปี 2565
1.ลุ้น ทร.ดัน “เรือดำน้ำ” ลำที่ 2-3
ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กองทัพเรือ “สวมหัวใจสิงห์”เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีนรุ่น S26T ลำที่ 2-3 ฝ่ากระแสวิกฤตด้านงบประมาณจากสถานการณ์โควิด ทร.ให้เหตุผลถึงการทำหน้าที่เตรียมความพร้อมด้านกำลังรบทางน้ำในทุกมิติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงต้องเสนอโครงการไปตามแผน พร้อมบริหารจัดการงบตั้งต้นด้วยเม็ดเงินไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผูกพันงบในระยะยาวเพื่อรอให้สถานการณ์ด้านงบประมาณดีขึ้น แต่ในที่สุดถูกกระแสสังคมโจมตีไม่ยั้ง
ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงจังหวะที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถูกวิจารณ์หนักเรื่องการรับมือกับโควิด-19 และบริหารจัดการวัคซีน ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องแถลงถอนโครงการก่อน ที่ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือในช่วงนั้น ต้องไปถอนการเสนองบในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ
มีการวิเคราะห์ว่า ทร.ไม่น่าจะฟื้นคืนชีพเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ได้อีกแล้ว เพราะกลายเป็นสัญลักษณ์ของการผลาญงบประมาณ ประกอบกับ ทร.ถูกจับตามองเรื่องการจัดหาอาวุธจากจีนบางโครงการไม่ค่อยสมเหตุผล กลายเป็นปัญหาการบริหารจัดการงบระยะยาว ผสมกับเกมของชาติมหาอำนาจในภูมิภาคนี้กำลัง “เผชิญหน้า” กันหนักหน่วง ส่งผลให้โครงการเดินไปได้ยาก คนไทยคงได้แค่ยลโฉมเรือลำแรกที่กำลังต่อ และคาดว่าจะส่งมอบให้ ทร.ไทยในต้นปี 2567
ส่วนงานนี้สายอาวุธจีนฝันสลายหรือเปล่า...รอชมอีกไม่นาน!
2.เครื่องบิน F-35 ของ ทอ.เอื้อมถึงไหม?
ปิดท้ายด้วยข่าวใหญ่ในแวดวงอาวุธ หลัง “บิ๊กป้อง” พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ประกาศเดินเครื่องเสนองบปี 2566 จัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ที่นับว่าเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยแห่งยุค ด้วยองค์ประกอบของเทคโนโลยีล่องหน หรือ Stealth พร้อมเปิดดีลกับ Lockheed Martin บริษัทผู้ผลิตในเรื่องราคาที่ลดลงครึ่งต่อครึ่งจากช่วงที่เปิดตัว จน ผบ.ทอ.ที่มีนามเรียกขานว่า Snowy ถึงกับออกปากว่า “เป็นราคาที่เราเอื้อมถึง”
แนวทางในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ภายใต้งบของ ทอ.ที่มีอย่างจำกัดไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็น F35 ที่มักถูกเรียกว่า “เครื่องเทพ” ในสายเครื่องบินรบ ยิ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าเป็นไปได้ เมื่อมองเปรียบเทียบการจัดลำดับความสำคัญกับเครื่องบินลำเลียงที่ต้องซ่อมบำรุง รักษาชั่วโมงบินให้ใช้ได้ก่อนที่จะมีเครื่องใหม่เข้าประจำการอย่างเร่งด่วนแล้ว F35 จึงไกลจากความเป็นจริง
แต่ใครจะรู้ว่า จังหวะเวลา ยุทธศาสตร์ การเมือง มหาอำนาจ และปัจจัยอื่นๆ ที่มองไม่เห็น จะมีผลให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้จริงอย่างที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างหรือไม่
แต่ที่แน่นอนคือ ในวงการอาวุธ และ ผู้สนใจเครื่องบินรบ ในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ ต่างแลกเปลี่ยนความเห็น-ข้อมูล สืบค้นข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะขายให้ไทยในราคาดังกล่าวได้จริงหรือไม่ แล้วคำว่า “เครื่องเปล่า” นั้นมีอะไรที่เป็นส่วนที่ติดตั้งในเครื่องบ้าง อย่างน้อยสังคมจะได้รับรู้ และฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน รวมถึง ทอ.ที่โยนหินถามทางตามจังหวะเวลาที่จัดวางไว้แล้ว จะเดินหน้าชี้แจงรายละเอียดต่อสังคมอย่างไรต่อไป
ติดตามชมในช่วงการเสนองบปี 2566 เร็วๆ นี้
3.โผทหาร “กลางปี-ปลายปี”มีปรอทแตก
จับตาไปที่ “โผนายพล” กลางปี ปกติในแวดวงกองทัพแล้วเป็นช่วงขยับปรับย้ายเล็กน้อย ตอบแทนผู้ที่จะเกษียณปลายปีได้เลื่อนยศ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องให้ต้องติดตามกันเลยเสียทีเดียว โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพเรือ (ทร.) จับตามองกันตาไม่กะพริบ ในการจัดทัพของ “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) คนปัจจุบันที่เพิ่งตกเป็นข่าวโกนหัว “ธำรงวินัย” ตัวเองจากคลิป “ทหารกร่างอ้างเบื้องสูง”
นโยบายของ “บิ๊กเฒ่า” เด่นชัดเรื่องการปกป้องและเทิดทูนสถาบัน แม้จะดูนิ่งๆ แต่ก็เด็ดขาด ทำให้หลายคนมองว่า โผเดือน เม.ย.นี้ อาจมีปรากฏการณ์จัดระเบียบใหม่ในแถว “บิ๊กทหาร” หลังจากปฏิบัติการของอดีตผู้บังคับบัญชา ถูกมองว่าดีดหลายคนกระเด็นกระดอนไปหลายที่ สร้างบาดแผลร้าวลึกใน “ทัพน้ำ” มาหลายปี
ทำให้เกิดข่าว “สมการ” ข้ามห้วยเพื่อวางคนไว้ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ปลายปี หลัง “บิ๊กเฒ่า”เกษียณอายุราชการ โดยมีชื่อของ “บิ๊กจอร์ช” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ รองเสธ.ทหาร เตรียมทหารรุ่น 22 (เกษียณ 2566) จะข้ามกลับมา ทร.ดังกระหึ่ม เพียงแต่รอดูว่าจะลงตำแหน่งหลัก หรือตำแหน่งลอย แต่หากเป็นตำแหน่งหลักและอยู่ในระนาบ 5 เสือ ทร. คงกระหึ่มไม่น้อย
ภาพรวม “โผนายพล” ปลายปีจะปรับเปลี่ยนระดับ “บิ๊กไฟว์” ถึง 3 คน คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทร.และ ผบ.ทอ.ที่คนเก่าเกษียณ หากไม่มีอะไรพลิกผัน ชื่อของ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ รองปลัดฯ น้องรัก “บิ๊กป้อม” คงได้ขึ้นเป็นปลัดในที่สุด ส่วนตำแหน่ง ผบ.ทร.คงต้องรอดูการปรับย้ายในช่วงกลางปีผ่านไป ก็จะเริ่มเห็นเค้าลาง “แคนดิเดต” ที่ฉายภาพชัดเจนขึ้น สำหรับ ทอ. เรียกได้ว่าน่าจับตามองที่สุด ส่องคุณสมบัติแล้วเข้าข่ายได้รับการเสนอถึง 5 คน แต่โครงการ F35 น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาคนมาสานต่อรับไม้ หากโครงการนี้ผ่านสภาฯ ไปได้แบบสุด “เซอร์ไพรส์”
แต่ขึ้นชื่อว่า “โผทหาร” แล้วก็เปรียบเหมือนหนังชีวิต เพราะมักมีเรื่องหักมุมให้ใจหายใจคว่ำอยู่เสมอ
4.“แชร์-รีทวีต” หลังตู้คอนเทรนเนอร์
กองทัพบกในยุค “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ถูกมองว่า “ปิดประตู” แน่นหนา ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ดำรงภารกิจสนับสนุนรัฐบาลตามหน้าที่ มีระยะห่างที่พอเหมาะกับ นายกฯ และรัฐบาล ป้องกันการถูกลากโยงไปเกี่ยวข้องกับการเมือง
ทำให้ตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผบ.ทบ.จึงเว้นว่างการให้สัมภาษณ์ยาวนาน ครั้งล่าสุดให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 เรื่องการป้องกันสกัดกั้นผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิด กม.ช่วงระบาดโควิด-19 ยิ่งในช่วงม็อบ 3 นิ้วพีกสุด-จนแผ่วลง กองทัพคงอยู่ในที่ตั้งแบบ “นิ่งสนิท” ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ตร. โดยมี คฝ.เป็นแนวป้องกันกลุ่มฮาร์ดคอร์ ที่ทะเลาะกับ “ตู้คอนเทรนเนอร์” ที่เจ้าหน้าที่นำมาปิดทางม็อบที่จะเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักนายกฯ ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) อันถือเป็นเขตพระราชฐาน
กล่าวอ้างกันว่า แม้ “ทหาร” ไม่ออกหน้า แต่ก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านการข่าว ภายใต้ศูนย์บัญชาการที่เกาะติดม็อบที่ชื่อว่า “พระราม 5 ข.” ถึงขนาดมีกระแสข่าวว่า เป็นต้นตอไอเดีย “ตู้คอนเทรนเนอร์” และทีมหาหลักฐานการใช้ความรุนแรงของกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายระหว่างการชุมนุม เพื่อส่งผ่านไปยัง “เพจอวตาร” แพร่ภาพในมุมของฝ่ายความมั่นคง เกิดเป็น “เจ๊จุกคลองสาม” และสารพัดเพจที่ปรับวิธีการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่ “เฟกนิวส์” ไอโอแบบเก่าที่ฝ่ายค้านไปขุดมาแฉกลางสภาฯ แล้วโป๊ะแตกมาแล้ว
หากแต่เป็น “การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์” ด้วยการให้หน่วยงาน-ชุมชนออนไลน์ที่มีแนวคิดเดียวกันช่วยกันแชร์เพจเหล่านี้ รวมไปถึงเพจทางการ และสื่อหลัก กลายเป็นปรากฏการณ์แชร์และรีทวีตรัวๆ ตอกย้ำการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุม เพื่อคานกับข้อมูลของฝ่ายม็อบที่มีความสามารถในการเผยแพร่ข่าวสารในโลกออนไลน์ได้ตรงเป้า-โดนใจแฟนคลับมากกว่า
ส่วนปีนี้ที่สนามต่อสู้กำลังเดินเข้าสู่การเมืองในระบบเลือกตั้ง การต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนคงน่าจะน้อยลง กองทัพคงดำรงความมุ่งหมายอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ เหมือนเดิม
5.ภารกิจเพื่อ “นาย” ใช้บริการ “เสธ.”
ข่าวร้อนปรอทแตกปีใหม่ คงเป็นคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรอง ผอ.รมน. ที่พูดเรื่องทหารกับการเลือกตั้ง ที่มองว่า “ทหาร” ยังจำเป็นที่พรรคการเมืองยังต้องใช้บริการ “สำหรับประเทศไทย ทหารยังมีบทบาทสำคัญอยู่ เพราะมีแทบทุกจังหวัด ใกล้ชิดประชาชน แล้วทหารก็มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ยังเป็นฐานเสียงอย่างดี ส่วนงานใต้ดินก็ต้องอาจจะมี”
สอดคล้องกับประเด็นร้อนที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ออกมาแฉเรื่อง เสธ.ต. ส่งลูกน้องลงพื้นที่เข้าแทรกแซงเลือกตั้งซ่อม จ.ชุมพร จนกองทัพบกต้องแถลงว่าจะสอบข้อเท็จจริง ในขณะที่ แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีกำลังพลในสังกัดกองทัพภาคที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้อง
จนเป็นข่าวในภายหลังว่า “เสธ.ต.” มีตัวตนจริง เป็นทหารม้าสังกัดกองทัพภาคที่ 2 และแถมเป็นทหาร 2 นาย ที่อักษรย่อ ต.เต่าทั้งคู่ ที่คนในกองทัพภาคที่ 2 รู้ดีว่าเป็นลูกน้อง “นายเก่า” ที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล และทำภารกิจนี้มาในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป จนกระทั่งเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งท้องถิ่น
แต่ภารกิจที่ “ชุมพร” อาจเป็นสายสัมพันธ์ในระดับของ “ขาใหญ่” ในขอนแก่น ที่สนิทกับเพื่อนของ เสธ.ชื่อดัง นายทหารนอกราชการที่ประกาศคว้าชัยชนะยึดเก้าอี้ที่ จ.ชุมพร
ตอกย้ำว่า ทหารสาย เสธ.ยังไม่ตาย-ทหารแก่นักบู๊ยังต้องมีไว้ใช้บริการ เพียงเสธ.เหล่านี้นั่งพับเพียบคุมอำนาจ เงินและปืน อยู่เงียบๆ รอสัญญาณลงพื้นที่จัดทัพหลังหนุนการเลือกตั้ง
เป็นโจทย์ใหญ่ของปีนี้ที่ “ผบ.เหล่าทัพ” ต้องจับตามองและระมัดระวัง “ลูกแถว” ไม่ให้ออกนอกลู่!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?
ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี