หลังเมื่อวันเสาร์ที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 และในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดและประกาศไทม์ไลน์การเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คนอย่างเป็นทางการ
จึงทำให้ถือว่าตอนนี้เข้าสู่การนับหนึ่งกระบวนการได้มาซึ่ง สว.อย่างเป็นทางการ
โดยไทม์ไลน์ที่ กกต.เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ จะเดินไปตามนี้
- 13 พ.ค.67 ประกาศการสมัครรับเลือก สว.
- 9 มิ.ย.67 การเลือก สว.ระดับอำเภอ
- 16 มิ.ย.67 การเลือก สว.ระดับจังหวัด
- 26 มิ.ย.67 การเลือก สว.ระดับประเทศ
- 2 ก.ค.67 ประกาศผลการเลือก สว.
เมื่อกระบวนการเลือก สว.เริ่มนับหนึ่งต่อจากนี้ ก็ทำให้ การเลือก สว.จะอยู่ในความสนใจของโหมดการเมืองนับจากนี้ ไปจนถึงวันที่ กกต.รับรองผลการเลือก สว.
ที่ตามกฎหมายก็เปิดช่องให้ กกต.สามารถขยับวันประกาศผลการเลือก สว.ออกไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันที่ 2 ก.ค.เสมอไป โดยเฉพาะหากมีเรื่องร้องเรียน-มีข่าวปรากฏโดยทั่วไปว่าการเลือก สว.ครั้งนี้ โดยเฉพาะคนที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 200 ชื่อ มีปัญหาโดนร้องเรียนว่าได้รับเลือกเข้ามาโดยไม่ชอบ มีการซื้อเสียง หรือมีปัญหาขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม เป็นต้น
การเลือก สว.ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น เห็นได้ชัดว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการเลือก สว.ออกมาอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการวิเคราะห์ โฉมหน้า สว. ชุดใหม่ ซึ่งมีที่มาแบบนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลก จึงทำให้น่าสนใจมากว่า สว.ชุดใหม่ หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว จะมีคาแร็กเตอร์ทางการเมืองอย่างไร? จะมีความเป็นอิสระ ความเป็นกลางหรือไม่ และจะเล่นบทบาทสภาสูง ในการกลั่นกรองกฎหมาย-การเลือกกรรมการไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ รวมถึงบุคคลไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น ประธานศาลปกครองสูงสุด-ตุลาการศาลปกครองสูงสุด-อัยการสูงสุด-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ-กรรมการ กสทช.ได้ดีกว่า สว.ชุดที่ผ่านมาหรือไม่
อย่างมุมมองของนักวิชาการ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่วิพากษ์การเลือก สว.ครั้งนี้ว่า เป็นการเลือกที่ไม่ใช่การเลือก เป็นนวัตกรรมการเมือง ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบการเลือก สว.ได้อัปลักษณ์ที่สุดในระบบการเมืองโลก ที่เป็นการทำลายระบบประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ
...คือเรามองว่าการเลือกคือประชาธิปไตยแล้ว เป็นการมองแบบฉาบฉวยและผิวเผินเกินไป การเลือก สว.รอบนี้มันมีความซับซ้อนและมีลักษณะที่มี "วาระซ่อนเร้น-อำพราง" และที่สำคัญ "ทำลายหลักการประชาธิปไตยอย่างย่อยยับ" ทั้งที่มันมีการเลือก สว.
..การเลือก สว.ครั้งนี้ หากดูผิวเผินหลักการดี แต่หากไปดูรายละเอียดในเชิงรัฐศาสตร์ มันมีปัญหามาก มันไม่ยืนยันและไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมันมีวาระซ่อนเร้น เพราะหากทำวิธีการแบบนี้ คนส่วนหนึ่งจะหายไป ก็จะมีเฉพาะคนที่มีความพร้อม เช่น ความพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท
รศ.ดร.โอฬาร ระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ดีไซน์การเลือก สว.ออกมา ที่จะเอื้อให้กับบุคคล 3 ประเภท-3 จำพวก คือ 1.คนมีเงิน 2.คนที่มีชื่อเสียง ที่คนรู้จัก 3.คนที่มีเพื่อนหรือมีเครือข่ายเยอะ 3 กลุ่มดังกล่าวจะมีโอกาสมากที่สุด
การที่ประชาชนมองโดยทั่วไปว่า การเลือก สว.แบบนี้จะทำให้ได้เลือกตามสาขาอาชีพจึงไม่ใช่ เพราะคนที่มีสิทธิ์จะได้เลือกคือคนที่ต้องไปสมัคร ต้องไปจ่ายเงิน 2,500 บาทก่อนถึงจะมีสิทธิ์ได้เลือก สว. และกระบวนการเลือก ที่จากอำเภอไปจังหวัดและไปจบที่ระดับประเทศ โดยมีการให้เลือกกันเองในกลุ่มสาขาเดียวกัน แล้วสัดส่วนที่ได้ 1 ใน 5 ของกลุ่ม ก็ไปเลือกไขว้ ซึ่งการเลือกไขว้ มันก็มีปัญหา เพราะอย่างหากผมอยู่ในกลุ่มสถาบันการศึกษา กลุ่มนักวิชาการ-อาจารย์ คราวนี้ต้องไปเลือกไขว้ เราก็ไม่รู้แล้วว่าใครเป็นใคร ผมก็รู้แต่แค่ คนนี้ดัง คนนี้มีชื่อเสียง หรือคนนี้จ่ายมาแล้วสักห้าหมื่น อันนี้เป็นปัญหา คือมันซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น
โดยก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีการพูดถึงการจับตามองความพยายามของบางฝ่าย เช่น เครือข่ายนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่ต้องการสร้างฐานการเมืองในสภาสูง ด้วยการส่งเครือข่ายลงสมัคร สว.แล้วใช้วิธีกาบล็อกโหวตการเลือก สว.ตั้งแต่ระดับอำเภอไปจนถึงระดับจังหวัด เพื่อหวังให้ชื่อหลุดเข้ารอบสุดท้ายในระดับชาติ แล้วค่อยไปวัดดวงอีกที เพราะถึงรอบสุดท้าย ก็น่าจะบล็อกโหวตได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ก็มีมุมมองในเชิงวิเคราะห์ถึงโฉมหน้าของ สว.ชุดใหม่ 200 คน โดยเฉพาะจาก อดีต สว.เลือกตั้งปี 2543 บางคน ที่ตอนนี้ก็ยังมีบทบาทการเมืองอยู่ ที่มองว่า หากพรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองระดับชาติ ต้องการสร้าง ฐานการเมือง ในสภาสูง ต้องการมี สว.ไว้ในเครือข่ายการเมืองของตัวเองจริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงไปวางแผนตั้งแต่การเลือก สว.ระดับอำเภอ-จังหวัด อย่างที่มีกระแสข่าว เพราะต้องลุ้นหลายชั้น และอาจไม่เข้าเป้า แต่พรรคการเมือง-กลุ่มการเมืองที่ต้องการมี สว.ไว้ในมือ อาจใช้วิธีการเดียวกับตอนหลังการเลือกตั้ง สว. 2543 ที่เป็นการเลือก สว.โดยตรงทั่วประเทศ
ซึ่งเหตุการณ์ยุคนั้น สภาพก็คือ พอ สว.ชุดปี 2543 เข้าไปเป็น สว.สัก 6 เดือน ก็เริ่มจับกลุ่มก้อนการเมือง คนที่มีแนวคิด-บุคลิกภาพการเมือง-ดีเอ็นเอการเมืองเดียวกัน เรียกว่า คุยกันรู้เรื่อง มีการนัดพบสังสรรค์กันทุกสัปดาห์ และเริ่มมีการติดต่อพูดคุยกับพรรคการเมืองใหญ่เพื่อสร้างคอนเนกชัน และต้องการการอุปถัมภ์ทางการเมือง เช่น การดูแลรายเดือน-การช่วยเหลือเครือข่ายของ สว.ในด้านต่างๆ จนสุดท้ายก็มี สว.หลายสิบคนในยุคนั้นกลายเป็นฐานการเมืองให้กับพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2544 โดยเฉพาะการเลือกองค์กรอิสระ-ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายการเมืองยุคนั้นส่งคนเข้าไปยึดองค์กรอิสระไว้จำนวนมาก โดยใช้ สว.ที่เลี้ยงไว้ คอยโหวตตามโผที่ส่งไปให้ จนวุฒิสภายุคดังกล่าวถูกตั้งฉายาต่างๆ เช่น สภาผัวเมีย-สภาชิน เป็นต้น
จึงไม่แน่ ที่หลังการเลือก สว.รอบนี้เสร็จสิ้นลง สว.ชุดใหม่ คนไหนใจไม่แข็งพอ ถูกยั่วเย้าด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง หรือมีดีเอ็นเอการเมืองส่วนตัว ต้องการเป็น สว.ในเครือข่ายพรรคการเมือง-อยากมีคนอุปถัมภ์รายเดือนอยู่แล้ว ก็อาจถูก "ช้อนซื้อ-ซื้อตัว" หลังเข้าไปทำงานสักระยะก็ได้!!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี