พท.กระชับอำนาจ‘ก.คลัง’ ‘กฤษฎา’ถูกลดบทบาททำคิดไขก๊อก

แบ่งงานกันเรียบร้อย สำหรับ ครม.เศรษฐา 1/1 หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีมติจัดสรรกันใหม่

หลักๆ คือ รองนายกรัฐมนตรี และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

รองนายกฯ ลำดับที่ 1 ยังเป็น เสี่ยอ้วน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์คนเดิม รองนายกฯ ลำดับที่ 2 เป็นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ที่มานั่งแทนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่โยกไปเป็น รมว.สาธารณสุข

รองนายกฯ ลำดับที่ 3 เป็นนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง รองนายกฯ ลำดับที่ 4 คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย รองนายกฯ ลำดับที่ 5 คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองนายกฯ ลำดับที่ 6 คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน        เปรียบกับ ครม.เศรษฐา 1 ที่เปลี่ยนแปลงคือ นายสุริยะมาแทนนายสมศักดิ์ และนายพิชัยมาแทนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร เท่านั้น นอกนั้นเหมือนเดิมหมด เรียงลำดับตามปริมาณ สส.ของพรรคต้นสังกัด

ลำดับเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ตัวบุคคล แต่ที่เปลี่ยนแปลงมากคือ กระทรวงที่รองนายกฯ แต่ละคนได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ซึ่งครั้งนี้มีการเกลี่ยกันใหม่จำนวนมาก

นายพิชัย ที่เข้ามาใหม่ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมาเป็นหัวหอกด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาล ได้กำกับดูแลเพียงกระทรวงการคลังที่ตัวเองเป็นเจ้ากระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงบประมาณ

ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจกระจัดกระจายไปอยู่ที่นายภูมิธรรมและนายสุริยะมากกว่า ซึ่งเป็นการแบ่งตามยุทธศาสตร์ และกลุ่มก๊วน   

โดยนายภูมิธรรมได้กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ที่ตัวเองเป็นเจ้ากระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โควตาพรรคพลังประชารัฐ ที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยินดีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกฯ ต่างพรรค แต่สนิทสนมกันมากกว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโควตาพรรคเพื่อไทย

ส่วน นายสุริยะ ตัวบิ๊กเบิ้มมากกว่าตอนนายสมศักดิ์เป็นรองนายกฯ โดยได้กำกับดูแลกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองนั่งควบอยู่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกระทรวงวัฒนธรรม ที่นายปานปรีย์เคยคุม กระทรวงสาธารณสุขที่นายสมศักดิ์เคยคุม และตอนนี้ไปนั่งเป็นเจ้ากระทรวงเอง ซึ่งเป็นนักการเมืองในกลุ่มเดียวกัน

ฝั่งกระทรวงเศรษฐกิจที่เหลือ กระจายอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งกระทรวงแรงงาน ที่อยู่กับพรรคภูมิใจไทย และกระทรวงพลังงาน ที่อยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ

ฉะนั้น จึงไม่มีรองนายกฯ ที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ขณะที่นายพิชัยเองถ้าดูจากหน่วยงานภายใต้การดูแล เหมือนถูกดึงมาช่วยเรื่องการลงทุนการค้ากับต่างประเทศ

และในตัวกระทรวงการคลังเอง แม้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะถอยออกมา แต่หน่วยงานที่เคยดูแลถูกผ่องถ่ายไปที่ รมช.การคลังมากกว่า รมว.การคลัง โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง จากพรรคเพื่อไทย ได้ดู 3 กรมที่ดูแลเรื่องจัดเก็บรายได้ ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต ที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.การคลัง จากพรรครวมไทยสร้างชาติเคยดู แต่ถูกดึงไป

ขณะเดียวกัน จากสถานะ รมช.การคลังลำดับ 1 ใน ครม.เศรษฐา 1 ของนายกฤษฎา ภายหลังการปรับเปลี่ยนกรมกองใหม่ นายกฤษฎา เหมือนถูกลดบทบาทอย่างมาก เพราะกรมสำคัญที่เคยดู ถูกดึงไปให้ รมช.การคลังจากพรรคเพื่อไทยแทบทั้งหมด จนทำให้นายกฤษฎาถึงขั้นจะลาออก แต่นายเศรษฐายับยั้ง ขอให้ทบทวน 1 คืน

ซึ่งในราย นายกฤษฎา ถือว่าน่าสนใจว่าเหตุใดจึงกล้าลดเนื้องานขนาดนี้ เพราะแม้จะเป็นโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่ถือเป็นสายตรงของนายทุนใหญ่พรรค ที่มีบทบาทสำคัญในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ขณะที่ก่อนหน้าจะปรับ ครม. เคยมีกระแสข่าวออกมาเหมือนกันว่า พรรคเพื่อไทยต้องการคุมกระทรวงการคลังแบบเบ็ดเสร็จแบบไม่มีพรรคร่วม แต่สุดท้ายนายกฤษฎายังอยู่ เพียงแต่ถูกดึงกรมสำคัญจากอกไปหมด

ว่ากันตามตรง เหมือนให้อยู่แบบทนได้ทนไป ซึ่งต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

นอกจากมิติเศรษฐกิจ ในมิติด้านความมั่นคงก็น่าสนใจเช่นกัน กระทรวงกลาโหม ที่ ครม.เศรษฐา 1 ไม่มีรองนายกฯ กำกับดูแล ครั้งนี้มีการมอบหมายให้เสี่ยอ้วนกำกับดูแล และยังเอาสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เคยอยู่กับนายสมศักดิ์ ไปให้รับผิดชอบด้วย

เหตุนี้จึงทำให้เสี่ยอ้วนเหมือนเป็นรองนายกฯ ด้านความมั่นคงกลายๆ

อย่างไรก็ดี เรื่องกระทรวงกลาโหมที่มอบหมายให้เสี่ยอ้วนดูครั้งนี้ มันทำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้คำนึงหรือกังวลเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพมากนักเหมือนในอดีต เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ผู้นำจากพรรคเพื่อไทยหลายคนพยายามจะควบ รมว.กลาโหม เพื่อหวังอยู่ใกล้ชิดกองทัพ ป้องปรามการถูกรัฐประหาร แต่สุดท้ายมันก็เปล่าประโยชน์

อีกทั้งยุคนี้กองทัพกับรัฐบาลชุดนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเอง ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องส่งคีย์แมนไปคุมหรือคอยล้วงลูก จึงได้เห็นพลเรือนอย่างนายสุทิน คลังแสง เข้าไปเป็นเจ้ากระทรวง

ในส่วน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 3 คน มีการแบ่งงานแบบมีเป้าประสงค์ นายพิชิต ชื่นบาน เหมือนดูแลเรื่องกฎ ประกาศ และระเบียบราชการทั่วไปให้กับนายกฯ โดยกำกับดูแลสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ขณะที่ น.ส.จิราพร สินธุไพร เหมือนเอามาดูแลเรื่องสื่อโดยเฉพาะ โดยกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกองทุนหมู่บ้าน

ด้าน นายจักรพงษ์ แสงมณี สายตรงนายเศรษฐา แม้งานไม่มาก แต่ดูภารกิจสำคัญ โดยกำกับดูแลสำนักงบประมาณ ภาพใหญ่อาจจะเป็นนายพิชัย ในฐานะรองนายกฯ แต่ในรายละเอียดอยู่ในการดูแลของนายจักรพงษ์ ซึ่งเหมือนถูกส่งมาเป็นหูเป็นตา และจัดแจงเรื่องงบประมาณต่างๆ

ภาพรวมการแบ่งงานครั้งนี้ ถ้าดูการวางคนตามกระทรวง และการแบ่งกรมให้รัฐมนตรีในสังกัดตัวเอง ดูเหมือนการกระชับแหล่งขุมทรัพย์สำคัญให้อยู่ในอำนาจการบริหารจัดการของตัวเองทั้งหมด มากกว่าเลือกตามความถนัดและความสามารถ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ภูมิธรรม' อ้างเมียนมายังไม่ปล่อยตัว 4 ลูกเรือไทย อยู่ในกระบวนการ เชื่อได้กลับเร็วๆนี้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปล่อยตัว 4 ลูกเรือประมงไทย จากเดิมที่มีกำหนดจะปล่อยตัววันนี้ ว่า

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

'ภูมิธรรม' สั่ง ศปช. ถอดบทเรียนน้ำท่วมดินถล่มเชียงราย ทำแผนแม่บทเสนอนายกฯ

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะ ผอ.ศปช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ