เคาต์ดาวน์สว.5ปีอำลาเก้าอี้ จับตาเลือกตะลุมบอนรอบใหม่

เคาต์ดาวน์สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ บางคนบอกลากันทีชุดลากตั้ง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ให้กำเนิด และมาพร้อมกับอำนาจพิเศษที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

สัปดาห์นี้เวลาเวียนบรรจบครบ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล ฉะนั้น สว.จึงจำต้องโบกมืออำลาเก้าอี้ ทั้งๆ ที่หลายคนยังอยากอยู่ในวงโคจรอำนาจนี้ก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ปิดช่องเสียทีเดียว ที่ทราบอย่างน้อยหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ ยังเปิดช่องว่างให้ไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อได้ 

สำหรับ สว.ชุดใหม่นั้น ความคืบหน้าล่าสุดก็ต้องรอนับหนึ่งภายหลังที่ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระ แล้วจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือก สว. ให้ดำเนินการเลือก สว. และจัดทำร่างแผนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยล่าสุดวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอแล้ว

กำหนดการมีดังนี้ วันที่ 13 พ.ค.2567 ประกาศกำหนดรับสมัคร วันที่ 9 มิ.ย.2567 เลือก สว.ระดับอำเภอ วันที่ 16 มิ.ย.2567 เลือก สว.ระดับจังหวัด วันที่ 26 มิ.ย.2567 เลือก สว.ประเทศ และวันที่ 2 ก.ค.2567 ประกาศผลรับรองการเลือก สว.

 ส่วนขั้นตอนวิธีการนั้นเรียกว่ายุ่งยากพอสมควร แต่ถ้าสรุปสั้นๆ คือ การเลือกในระดับอำเภอและจังหวัด ผู้สมัครจะเลือกในกลุ่มอาชีพกันเอง ส่วนการเลือกในระดับประเทศจะเป็นการเลือกไขว้กันระหว่างกลุ่มอาชีพ เพื่อป้องกันการฮั้วกันเอง

ทว่า มีข่าวไม่สู้ดีนักเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีข่าวลือหนาหูว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะอยู่เบื้องหลัง จ้างคนลงสมัครเพื่อจะได้กินรวบสภาสูงเป็นพวกของตัวเอง และสั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจปรารถนา 

ทีนี้งานหนักจึงตกเป็นของ กกต. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ดูเหมือนหลายฝ่ายจะไม่เชื่อมั่น กกต.ชุดนี้ เพราะทำงานล่าช้า ขนาดการเลือกตั้ง สส. ที่มีเรื่องร้องเรียนการทุจริต ป่านนี้ยังจัดการไม่เท่าไหร่ ฉะนั้นจึงกังวลว่าการจัดเลือกตั้ง สว. จะเป็นลูกผีลูกคนหรือไม่

ในแวดวงการเมืองประเมินไปถึงขนาดว่าจะเกิดการทุจริต ฮั้วกันของพรรคการเมืองที่ส่งคนของตัวเองลง และเมื่อเลือกตั้งจะมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก จน กกต.อาจต้องใช้เวลาหลายเดือนมากๆ จึงจะประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ได้ แล้วปล่อยให้ สว.ชุดปัจจุบันรักษาการไปเรื่อยๆ

บางคนคิดหนักถึงขนาดว่า ผู้มีอำนาจจะเปิดเกมยื้อให้ สว.ชุดรักษาการเป็นคนโหวตนายกฯ คนใหม่!!! 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปอ่านคำให้สัมภาษณ์ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี และปรมาจารย์ด้านกฎหมาย เมื่อกลางปี 66 ชี้ชัดว่า ในระหว่างที่มีการคัดสรร สว.ชุดใหม่นั้น สว.ชุดเก่าจะต้องรักษาการต่อไป แต่ไม่สามารถมีส่วนในการเลือกนายกฯ ได้ในช่วงรักษาการนี้ เพราะการเลือกนายกฯ เขาล็อกเอาไว้ 5 ปี พอครบ 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค.67 ก็หมดไป ซึ่ง สว.ชุดปัจจุบันก็หมดไปด้วย สว.ที่อยู่ เขาให้อยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ตามมาตรา 272 ไม่ใช่การเลือกนายกฯ

ดังนั้น เรื่องนี้จึงน่าจะจบเพียงเท่านี้ ไม่ควรเป็นประเด็น หรือมีใครต้องตะแบงอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กกต.ยังออกกฎ กติกา วิธีการแนะนำตัวของการเลือก สว. แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่า กฎ กติกา ไม่เคลียร์ ไม่ชัดเจน ทำให้ “ผู้ประสงค์จะลงสมัคร สว.” ทั้งหลายที่เป็นอิสระ ไม่มีแบ็ก เกร็งไปตามๆ กัน เพราะกลัวจะทำผิดกฎของ กกต.

โดยเฉพาะกรณีที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พูดถึงความแตกต่างระหว่างการแนะนำกับการหาเสียง เรียกว่า งงในงง จนตอนนี้ผู้ประสงค์จะลงสมัครเลือกที่จะยุติดำเนินการใดๆ หลังมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ฯ

สิ่งที่น่าจับตาจากนี้คือ ความเคลื่อนไหวในนามคณะก้าวหน้า ที่มี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นประธาน ตอนนี้ลงพื้นที่ปลุกประชาชนอย่างหนัก เชิญชวนให้มาลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. เพื่อสกัดแผนร้ายของบางคนที่คิดจะคอนโทรลสภาสูง หากมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมสมัคร วิธีการใช้เงินอุดก็จะใช้ไม่ได้ผลทันที

แต่ก็มีอีกมุมมองเห็นว่าการรณรงค์เที่ยวนี้ของ “ธนาธร” ไม่ได้ใสๆ แต่มีวาระซ่อนเร้น ปลุกลูกข่ายด้อมส้มที่มีแนวคิดทางการเมืองแนวทางเดียวกัน เข้าไปมีที่นั่งให้มากที่สุดในวุฒิสภา เพื่อปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง

ในส่วนของ เลขาธิการ กกต. ระบุไว้ว่า การให้ความรู้ การเชิญชวนลงสมัครโดยทั่วไปแล้วหยุดแค่ให้ความรู้หรือเชิญชวน ลักษณะนี้โดยตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว แต่อาจเป็นเหตุให้เป็นความผิดอื่นได้ เมื่อได้ดำเนินการต่อเนื่องจากการให้ความรู้หรือการเชิญชวน อาทิ การตั้งกลุ่มเพื่อติดต่อกัน ไม่ว่าในช่องทางใดๆ เช่น การตั้งกลุ่มไลน์ และมีการแลกคะแนนกัน ขอคะแนนกัน การฮั้วกัน เป็นต้น และการสร้างกลุ่ม แต่มีการแนะนำตัว ไม่เป็นไปตามวิธีแนะนำตัวที่ระเบียบกำหนด เช่น การเสนอนโยบาย เป็นต้น

สเต็ปจากนี้ นอกจากบรรยากาศชิงไหวชิงพริบตะลุมบอนนี้แล้ว ที่ต้องลุ้นคือ กกต.จะประกาศรับรอง สว.ได้รวดเร็วเพียงใด จะประกาศรับรองก่อนแล้วค่อยสอยทีหลังเหมือนการเลือกตั้ง สส.หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อบงการ ลูกตามสั่ง

“พ่อบงการ ลูกตามสั่ง” ผ่าน “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” คงไม่เกินเลยความเป็นจริง เพราะเมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มีคำบัญชาผ่านเวทีต่างๆ รัฐบาลชุดนี้ก็สนองนโยบายทันที โดยไม่สนใจว่ารัฐบาลจะขาดความน่าเชื่อถือ และยำเกรงต่อกฎหมายมิให้คนนอกเข้ามาครอบงำแต่อย่างใด”.

กกต. เตือนข้อพึงระวังหาเสียงและยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง อบจ.

สำนักงานคณะกรรมการ​การ​เลือกตั้ง​ (กกต.) ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อพึงระวังในการหาเสียง การรายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้

ทักษิณไฟสุมขอน ‘รทสช.’ เขย่าบัลลังก์ ‘พีระพัง’

“สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” มอตโตขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จนถึงปัจจุบัน จากพรรคน้องใหม่ตอนนี้ทำงานมากว่า 3 ปีแล้ว โดยการนำของ “ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค กุมทัพ 36 สส.ในปัจจุบัน

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”

“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย