“อุ๊งอิ๊ง”เล่นใหญ่เกินเบอร์ ไล่ทุบ"แบงก์ชาติ"กระแสตีกลับ สงครามเย็น พท.-ธปท.จบยาก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาดาหน้าปกป้อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการใหญ่ หลังโดนวิจารณ์-ถล่มเละ กรณี อุ๊งอิ๊ง เล่นใหญ่เกินเบอร์ ใช้เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเมื่อ 3 พ.ค. อ่านโพยตามสคริปต์ที่คนเขียนมาให้ ด้วยการ อัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า

“ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

จนทำให้ กระแสตีกลับ-ทัวร์ลง อุ๊งอิ๊งอย่างหนัก เพราะมองว่าอุ๊งอิ๊งที่ยืนอ่านสคริปต์ดังกล่าว ไม่ได้รู้เรื่องเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เอาเรื่องปัญหาหนี้มาพูดแบบเหมารวม ทั้งที่ต้องแยกกันระหว่างหนี้สาธารณะกับหนี้ครัวเรือน รวมถึงดูจากสิ่งที่อุ๊งอิ๊งพูดแล้ว น่าจะเป็นคนที่ไม่มีความเข้าใจในเรื่องข้อกฎหมายและหลักความเป็นอิสระของ ธปท.ในฐานะธนาคารกลางของประเทศ

เสียงวิจารณ์ที่ดังอื้ออึง ทำเอาอุ๊งอิ๊งเสียทรงไปครั้งใหญ่ จากการผิดคิว เล่นใหญ่เกินเบอร์ แทนที่จะเป็นเวทีที่เรียกเรตติง สร้างภาพลักษณ์ความเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคแกนนำรัฐบาล แต่กลับเสียแต้มยับเยิน

 ยิ่งถ้าเอาประวัติการศึกษา-ประวัติการทำงานของอุ๊งอิ๊งไปเทียบกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยิ่งเทียบไม่ติด ห่างชั้นกันแบบฟ้ากับเหว

ถือเป็นอีกเวทีการเมือง ที่อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทยพลาดเต็มๆ

  ดังนั้น แม้ต่อให้ “เศรษฐา-ภูมิธรรม”จะดาหน้าออกมาอุ้ม แพทองธาร ลูกสาวนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร ทำนองว่า เป็นการแสดงความเห็นที่สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นการบีบธปท.

โดยเฉพาะภูมิธรรมที่ย้ำว่า แบงก์ชาติไม่ใช่ องค์กรที่แตะต้องไม่ได้ แต่ดูแล้วการพยายามออกมาปกป้องของ เศรษฐา-ภูมิธรรม ไม่ได้ช่วยกอบกู้เครดิตการเมืองของอุ๊งอิ๊งให้ดีขึ้นได้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ท่าทีของคนในรัฐบาลเพื่อไทยที่ออกมาทิ่มแทง-ควงหมัดใส่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท.มีให้เห็นมาเรื่อยๆ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐาในช่วงเป็นนายกฯ ควบ รมว.การคลัง ที่ไล่ทุบ ธปท.อย่างหนัก-กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.การคลัง-เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยเป็นเลขานุการ รมว.การคลัง จนตอนนี้เป็น รมช.การคลัง-พิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.พลังงานจนมาถึงตอนนี้ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร และภูมิธรรม บิ๊กเพื่อไทย

ส่วน พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่เคยมีประสบการณ์เป็นบอร์ด ธปท.มาก่อน และมีความเข้าใจเรื่องบัญชีการเงินเป็นอย่างดี จนเคยเป็นนายกสมาคมผู้สอบบัญชีแห่งประเทศไทยมาแล้ว และต่อจากนี้จะต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติโดยตรง จะร่วมวง “ขย่ม-เขย่าผู้ว่าฯ ธปท.” ด้วยหรือไม่ ต้องรอดูหลังจากนี้

กระนั้นประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว เชื่อได้ว่า

“สงครามเย็น” ระหว่างคนในรัฐบาลเพื่อไทยกับเศรษฐพุฒิ-ผู้ว่าฯ ธปท.

คงมีให้เห็นต่อจากนี้เรื่อยๆ ตราบใดที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยังคงมีท่าทีไม่ตอบรับสัญญาณที่ฝ่ายการเมืองส่งออกมา โดยเฉพาะการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงผ่อนคลายเรื่องเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ

 เชื่อได้ว่า หาก ธปท.-กนง.ไม่ทำตามธงที่ฝ่ายการเมืองส่งมา สงครามเย็นระหว่างฝ่ายการเมืองVSธปท. ย่อมมีต่อไปเรื่อยๆ

ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลเพื่อไทย โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ก็เคยมีปัญหาเรื่องแนวคิด-นโยบาย ไม่ตรงกับผู้บริหาร ธปท.มาให้เห็นหลายต่อหลายครั้ง

อย่างสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงที่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น รมว.การคลัง ก็เคยกดดันให้ ธปท.ที่ตอนนั้นผู้ว่าฯ ธปท.คือ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ลดดอกเบี้ยนโยบายและทำให้เงินบาทอ่อนค่า โดยฝ่ายการเมืองอ้างว่าเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ-การส่งออก แต่สัญญาณที่ส่งไปไม่ได้รับการสนองตอบ

 ทำเอา กิตติรัตน์-ขุนคลัง ไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่าคิดจะปลดผู้ว่าฯ ธปท.ออกจากตำแหน่งทุกวัน

 หรือแม้แต่สมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ตอนนั้น สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.การคลัง ก็เคยมีข่าวว่า มีปัญหาเรื่องแนวคิดการทำงานที่ไม่ตรงกับ ธาริสา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.ในเรื่องการใช้เงินจากกองทุนสำรองฯ

และหากย้อนไปไกลกว่านั้นในช่วงปี 2544 ยุครัฐบาลไทยรักไทย สมัยทักษิณเป็นนายกฯ และมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรมว.การคลัง ก็เคยปลด ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล จากเก้าอี้ผู้ว่าฯ ธปท.มาแล้ว จากปัญหาแนวคิดเชิงนโยบายหลายเรื่องไม่ตรงกัน เช่น นโยบายค่าเงินบาท-เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเรื่องดอกเบี้ย

โดยหากย้อนมองประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายการเมือง คือ รมว.การคลัง กับผู้ว่าฯ ธปท.พบว่ามีให้เห็นหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่มีการตั้ง ธปท.ขึ้นในปี พ.ศ.2485

อย่างเช่น ยุค “รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ที่มี ขุนคลังคู่ใจคือ “สมหมาย ฮุนตระกูล” หรือ "ปู่สมหมาย" ที่สร้างผลงานเอกอุในยุคนั้น คือการลดค่าเงินบาท ที่ตอนแรกคนด่ากันทั้งเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้ประเทศไทยพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ

ยุคนั้น “สมหมาย” มีปัญหาการทำงานชนิดขัดแย้งกันหนักกับ “นุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าฯ ธปท.” จนสมหมายปลดนุกูลออกจากผู้ว่าฯ ธปท. จนต่อมา “นุกูล” เขียนจดหมายในวันสุดท้ายของการทำงาน ที่มีเนื้อหาตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของผู้ว่าฯ ธปท.และธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง  

“ผมหวังอย่างยิ่งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผม คงจะไม่เป็นการสร้างแบบอย่างที่ไม่ดี ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต แบบอย่างที่ไม่ดีนั่นก็คือ ผู้ว่าการนั้นจะต้องยอมอยู่ภายใต้การครอบงำ เป็นที่พอใจของนักการเมืองถึงจะอยู่ได้

เมื่อใดก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยปราศจากอิสรภาพในการดำเนินนโยบายต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

เมื่อใดก็ตาม ผู้ว่าการจะต้องคอยเอาอกเอาใจนักการเมือง จึงจะอยู่ในตำแหน่งได้

เมื่อนั้นศักดิ์ศรีของธนาคารชาติจะไม่มีเหลือ

ทำนบกลั้นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ จะพังทลายไปอีกทำนบหนึ่ง” (อ้างอิงจากภาคนิพนธ์ เรื่อง ระดับความเป็นอิสระของธนาคารกลางและปัจจัยที่ส่งผล-กรณีศึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนายสุพริศร์ สุวรรณิก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

อย่างไรก็ตาม เรื่อง การปลดผู้ว่าฯ ธปท. ในยุคปัจจุบัน ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะในยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการแก้ไข-ยกร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ขึ้นมาใหม่เกือบทั้งฉบับ

อันเป็นกฎหมายที่ทำให้ ธปท.มีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้นจากฝ่ายการเมือง ทำให้การบริหารงานในด้านต่างๆ ของ ธปท.โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 โดยเฉพาะการให้อำนาจ รมว.การคลังเพียงแค่ การกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ ธปท. ที่ไม่ใช่การบังคับบัญชา ธปท.และผู้ว่าฯ ธปท.เหมือนก่อนหน้านั้น

ที่สำคัญ มีการแก้ไขกฎหมาย เรื่อง การปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ จากเดิมการปลดผู้ว่าฯ ธปท.หรือการให้พ้นจากตำแหน่ง เป็นไปตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ธปท. 2485 คือ พระมหากษัตริย์ทรงถอดถอนตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี

แต่กฎหมาย ธปท.ฉบับปัจจุบัน การปลดผู้ว่าฯธ ปท.ทำได้ยากมาก เพราะมีการเขียนไว้ใน พ.ร.บ.ธปท.มาตรา 28/19 ระบุว่า การให้ผู้ว่าฯ ธปท.พ้นจากตำแหน่ง ในลักษณะการให้พ้นจากตำแหน่งหรือ "ปลดออก" นั้น จะทำได้ 2 กรณีคือ

(4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่

(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง

เมื่อดูตามกฎหมายแบบนี้ ดังนั้นกองเชียร์ เศรษฐพุฒิ-ผู้ว่าฯ ธปท. ก็สบายใจได้ว่า โอกาสที่ จะกลายเป็นผู้ว่าฯ ธปท.ที่ถูกฝ่ายการเมืองปลดจากตำแหน่งเป็นคนที่ 5 ต่อจาก โชติ คุณะเกษม-นุกูล ประจวบเหมาะ-กำจร สถิรกุล-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล น่าจะทำได้ยาก เพราะกฎหมายสร้างเกาะคุ้มกันไว้แน่นหนา

หลังก่อนหน้านี้ไปกล่าวเปิดใจระหว่างพิธีรับมอบทองคำแท่งเข้าคลังแผ่นดิน เมื่อ 30  เมษายนที่ผ่านมา กับวรรคทอง

“รัฐบาลมาแล้วไป ผู้ว่าฯ ก็มาแล้วก็ไป แต่สถาบัน องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทยต้องอยู่ และต้องอยู่อย่างเข้มแข็ง"

เพราะหาก ธปท.-ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยึดมั่นในหลักการทำงาน ที่จะต้องทำให้ ธปท.ในฐานะธนาคารกลาง ต้องเป็นเสาหลักในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ยอมให้การเมืองเข้าแทรกแซง ด้วยการรับสัญญาณหรือคำสั่งให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ถูกต้องและจะเกิดผลเสียกับประเทศชาติ ก็เชื่อว่าประชาชนพร้อมจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้

ถ้าหาก ผู้ว่าฯ ธปท.ไม่ถอดใจไปเสียก่อน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย