หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา
โดยคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 63 ชุดนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นั่งนายกรัฐมนตรี เพียงตำแหน่งเดียว และตั้งรัฐมนตรีป้ายแดง นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นรองนายกฯ และรมว. คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เป็นรมช.คลัง เพื่อทำภารกิจดรีมทีมครั้งสำคัญร่วมกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ในการเข็นโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้ไปถึงฝั่งฝันให้ได้
โดย นายพิชัย อยู่ในแวดวงการเงินมานาน และยังเป็นประธานบอร์ดกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 18 นอกจากนี้ยังเป็น กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และพ่วงตำแหน่งอื่นๆทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน อีกเพียบ ขณะที่ นายเผ่าภูมิ ถือเป็นมือดีด้านเศรษฐกิจอีกคน และเป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น ซึ่งการดึงทั้ง 2 คนมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ จึงถือว่าถูกฝาถูกตัวที่สุดแล้วในเวลานี้
ขณะที่ “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ที่เข้าวินถึง 3 เก้าอี้ มีทั้งหน้าใหม่อย่าง นายพิชิต ชื่นบาน และน.ส.จิราพร สินธุไพร และหน้าเก่า นายจักรพงษ์ แสงมณี ถูกโยกจาก รมช.ต่างประเทศ มาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อส่องงานในกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ทั้ง 3 รัฐมนตรีต้องแบ่งงานกันกำกับดูแล เช่น กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งงานจนกว่า ครม.จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ แต่คาดว่าในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย นายพิชิต จะเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งของ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ในโควตาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ นำทัพกินรวบ ดึง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร จากค่าย พปชร. นั่งรมช.เกษตรฯ ทำให้ นายอนุชา นาคาศัย อดีตรมช.เกษตรฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และนายไชยา พรหมา อดีตรมช.เกษตรฯ จากพรรคเพื่อไทย หลุดเก้าอี้ ทั้งนี้คาดว่าการมีแม่ทัพที่เป็น 2 รัฐมนตรีจากค่ายเดียวกัน จะทำให้การทำงานราบรื่นมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจ ที่มีการสับเปลี่ยนตำแหน่ง และควบตำแหน่งรองนายกฯ ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.คมนาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ จากโควตาพรรค รทสช. รวมถึงยังมีการสลับเก้าอี้ระหว่าง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นั่งเป็นรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แทน น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ที่ไปเป็นรมว.วัฒนธรรม แทน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสลับเก้าอี้ที่ถูกฝาถูกตัวอีกหนึ่งตำแหน่ง ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จากรองนายกรัฐมนตรี ไปเป็นรมว.สาธารณสุข
ส่วนตำแหน่งสุดท้ายที่เป็นประเด็นทำให้ นายเศรษฐา ไม่สบายใจ คือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ที่ถูกลดตำแหน่งรองนายกฯ เหลือเพียง รมว.การต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว ทำให้ นายปานปรีย์ ตัดสินใจยื่นใบลาออกทันที
ทำให้ “อดีตทูตปู” -นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ นั่งเป็นรมว.การต่างประเทศ คนใหม่ สำหรับอดีตทูตปู มีโปรไฟล์ประสบการณ์ด้านการต่างประเทศแน่นพอสมควร เป็นคนสนิทเคยทำงานกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นอดีตทูตหลายประเทศ เป็นที่รู้จักของบรรดาข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี
และเป็นอดีตทูตตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงปัจจุบันในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายมาริษ เป็นอดีตที่ปรึกษารองนายกฯ (นายปานปรีย์) และได้รับมอบหมายร่วมภารกิจไปต่างประเทศกับ นายเศรษฐา อยู่เป็นประจำ
ด้วยโปรไฟล์ ผลงาน และความใกล้ชิดกับ ครอบครัวเพื่อไทย จึงไม่แปลกที่จะได้รับความไว้วางใจให้มานั่งเก้าอี้สำคัญในครั้งนี้ เพราะงานด้านการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกงานที่นายกฯเศรษฐา เร่งเครื่องแรงมาตั้งแต่ต้น หากได้คนที่ไว้ใจมาร่วมงานก็มีแต่จะส่งผลดียิ่งๆขึ้นไป
ในด้านรัฐมนตรีที่หลุดโผ รอบนี้ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรมว.สาธารณสุข นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักฯ นายไชยา พรหมา อดีตรมช.เกษตรฯ และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ที่ขอลาออกเอง หลังได้รับแต่งตั้งเป็นรมว.การต่างประเทศ
ทั้งนี้หากดูหน้าตาของ ครม.ชุดใหม่ กับภารกิจที่ต้องสู้ต่อไป หลัง 7 เดือนที่ผ่านมาหลายนโยบายของรัฐบาลถูกมองยังไม่ถึงฝั่ง จากนี้ที่จะต้องเร่งเครื่องคงหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ที่สำคัญคือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ประชาชนตั้งความหวังไว้มาก หากล่ม เลือกตั้งรอบหน้าคะแนนเพื่อไทยอาจจะพังยับเอาได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการแก้หนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่ายและปรับโครงสร้างด้านพลังงาน สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว ลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ส่วนภารกิจนี้จะทำสำเร็จหรือไม่ คงต้องให้โอกาส ครม.ชุดใหม่ ที่คาดว่าปรับกัน ถูกฝาถูกตัว แล้ว ได้ลองพิสูจน์ฝีมือกันต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่