'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

“รัฐบาลยังไม่เห็นความจำเป็นในการเพิ่มเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อเป็นโซ่ข้อกลางคุมทหาร-ตำรวจ เพราะในที่สุดจะเป็นการเปิดทางให้ตั้งฐานอำนาจใหม่แยกส่วน เพิ่มตั๋วเข้ามาจนเกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย”

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล นั่นก็คือ การเข้ามานั่งในตำแหน่ง รมว.การคลังของ พิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรม

ถือเป็นการ “เปิดไพ่” ใบสำคัญในการส่งคนที่ ทักษิณ ชินวัตร หรือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความไว้วางใจเข้ามาแก้เกมนโยบายเรือธงอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ดูเหมือนจะไม่ราบรื่นในเรื่องข้อกฎหมายต่อการใช้เม็ดเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ หรือ ธ.ก.ส.

รวมถึงการปรับกลยุทธ์ในการ “หาเงิน-ใช้เงิน” วางแผนการบัญชีของรัฐบาลเพื่อให้สนองตอบต่อเป้าหมายคะแนนนิยมของพรรคการเมือง

ปัจจุบัน “พิชัย” อายุ 75 ปี ถือเป็นรุ่นใหญ่ในวงการ จบการศึกษาบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจ Master of Business Administration, Indiana University of Pennsylvania, USA ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

คร่ำหวอดในองค์กรเบอร์ต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจพลังงาน ในตำแหน่งประธาน หรือคณะกรรมการฯ เป็นทั้งมือทำงาน และมีความสามารถในการบริหารความสัมพันธ์ของทุกภาคส่วนได้อย่างมีศิลปะ และเป็น วงใน ตัวจริงของรัฐบาลชุดนี้

จึงถือเป็น “ตัวละคร” หนึ่งที่ต้องจับตามอง และเป็นความคาดหวังของรัฐบาล เพราะเมื่อมี รมว.การคลังทำงานเต็มเวลา ไม่ปล่อยให้ รมช.การคลัง เป็นหนังหน้าไฟชี้แจงอยู่เพียงผู้เดียว จึงน่าจะทำให้ภาพรวมการทำงานดีขึ้น

นอกจากนั้นยังมีการเสริมทีมด้วยการตั้ง เผ่าภูมิ โรจนกุล นักการเมืองรุ่นใหม่ เข้ามาเป็น รมช.การคลังอีก 1 คน ร่วมกับ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลังที่รับบทหนักในยกแรก และ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.การคลัง ในสัดส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้กระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีทั้งสิ้นรวม 4 คน

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลมีการสลับเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกันตามสัดส่วนโควตา โดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เจรจากับเพื่อไทยเพื่อขอคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้มีชื่อนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ มาเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตามโควตาที่ว่างอยู่ แทนนายไผ่ ลิกค์ ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ

ทางด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ จะถูกปรับออก โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น ที่จะได้เข้าไปเป็น รมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นโควตาที่พรรคพลังประชารัฐส่งต่อมาให้เพื่อไทยจากการแลกกับตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ

ในขณะที่ อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย ยังคงนั่งเป็น รมช.พาณิชย์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รั้งตำแหน่ง รมว.คมนาคม คุมกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอของรัฐบาลในภาพรวม เหลือแค่ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.พลังงาน ที่ยังเป็นของพรรครวมไทยสร้างชาติ

สูตรการเลือกคนในการทำงานสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าอยู่ใน “วงจำกัด” และไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับ “ซาร์เศรษฐกิจ” ที่ศึกษา เชี่ยวชาญ ทำงานในสายการคลัง-การเงิน เหมือนจารีตของรัฐบาลในอดีต แต่เป็นคนที่ “คุมได้” และต้องมีความสามารถในการมองภาพผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียของทุกภาคส่วนได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

แต่จุดอ่อนสำคัญคือผู้เชี่ยวชาญ “กฎหมาย” ที่รัฐบาลไม่มี “ตัวจริง-เสียงจริงในการเข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว การตัดสินใจหรือขั้นตอนต่างๆ จึงมักเกิดข้อติดขัด และเปิดช่องให้เกิดการตีความและฟ้องร้องได้ในอนาคต

ซึ่งเชื่อได้ว่า หากอำนาจของรัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการปรับ ครม.ครั้งต่อไป การสยายปีกเข้าไปคุมกระทรวงเศรษฐกิจจะเริ่มเบ็ดเสร็จ รวมไปถึงการดึงมือกฎหมายที่สามารถช่วยผลักดันเรื่องต่างๆ ได้อย่างไม่ติดขัดได้จริง ก็จะเป็นไปตามโรดแมปของผู้มีอำนาจ ในการวางแผนที่ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า

หันมาดูส่วนงานด้านความมั่นคง แม้จะมีการวิเคราะห์ของคีย์แมนของพรรคว่าไม่ควร “วางใจ” กองทัพ และปล่อยให้ “สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม คุมทหารเพียงลำพัง เพราะอาจถูกหลอกหรือถูกกลืนเหมือนเช่นที่ “สองพี่น้องชินวัตร” เคยเจอในอดีตมาแล้ว

แต่เมื่อวันนี้ “ทักษิณ” ได้กลับประเทศไทย และกำลังเดินหน้าพาน้องสาวกลับบ้าน ก็น่าจะรู้ดีว่าจะวางสัมพันธ์กับกองทัพอย่างไร และจะวางน้ำหนักในการถ่วงดุลประมาณไหนให้เกิดความเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ไม่เสียคะแนนจากมวลชนที่ต้องการให้จำกัดอำนาจทหารไม่ให้แทรกแซงการเมือง

สูตรของ “ทักษิณ” อาจจะแตกต่างจาก “ยิ่งลักษณ์” ในการบริหารจัดการ ดังนั้น กระแสข่าวนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม กับการปล่อยให้ “บิ๊กทิน” นั่งเก้าอี้ต่อไป จึงเป็นเรื่องของห้วงเวลาและความละเอียดอ่อนของกลไกภายใน ที่ต้องชั่งน้ำหนักเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด

ในเมื่อวันนี้ยังไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่นายกฯ จะกระชับอำนาจคุมกองทัพเอง แค่ตรวจแฟลตสวัสดิการเหล่าทัพ พร้อมปล่อยงบในการสร้างอาคารสวัสดิการให้ทหารชั้นผู้น้อย ก็วิน-วิน ระหว่างพ่อค้าขายบ้านกับความต้องการดูแลกำลังพลชั้นผู้น้อยของกองทัพ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ขณะที่การวางตัว “สุทิน” ไว้ก่อน จึงเหมือนเป็น “บัฟเฟอร์โซน” ในการกันกระแทกได้ดีกว่า เพราะนโยบายในการปฏิรูปกองทัพและงบประมาณ ต้องหาคนที่ประนีประนอม และพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็น

ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปกองทัพ การหาจุดตรงกลางในเรื่องการแปรรูปธุรกิจเชิงพาณิชย์ การลดจำนวนนายพล การเดินหน้าลดทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ในแต่ละปี เพื่อเดินหน้าเข้าสู่นโยบายเป็นทหารโดยสมัครใจ

รวมไปถึงร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่แม้จะริเริ่มจากฝ่ายการเมือง แต่คณะกรรมการฯ ที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวก็มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ มีความรู้ ความสามารถในด้านนโยบายและแผน รวมถึงยุทธการ

การเพิ่มอำนาจการเมืองจึงเป็นแค่สัดส่วนของบอร์ดระดับนโยบายคือ สภากลาโหม โดยให้ รมต.เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มจาก 3 คนเป็น 5 คน ไม่ใช่การลดบอร์ด 7 เสือกลาโหม ที่จะพิจารณาแต่งตั้งทหารชั้นนายพล แต่ไปกำหนดในคุณสมบัติที่กลั่นกรองตัวบุคคลเอาไว้เพื่อให้ดูเป็นกฎเหล็กขึ้น

ส่วนประเด็นการสกัดกั้นการรัฐประหาร ก็ให้อำนาจนายกฯ และ ครม.ให้พักราชการ ในกรณีที่ผู้บังคับหน่วยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจะกระทำการดังกล่าวนั้น จึงเป็นเรื่องของเจตจำนงทางการเมือง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้คุมกำลังปฏิวัติก็คือ ผบ.ทบ. การปลดจากตำแหน่งจึงเป็นพระราชอำนาจ

ดังนั้น ข้อเท็จจริงในการลดความเสี่ยงของการปฏิวัติ ก็คือการไม่สร้างเงื่อนไขหรือปัจจัยที่จะเป็นการยื่นดาบให้ทหารยึดอำนาจ

นอกจากนั้น ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ในหมวดของเรื่องความสงบเรียบร้อยภายใน กิจกรรมที่เกี่ยวกับการรณรงค์อันเกี่ยวเนื่องกับทัศนคติการสร้างการรับรู้ของคนในชาติ การประชาสัมพันธ์การทำหน้าที่ของตัวเอง ถือว่าไม่อยู่ในกรอบการจัดสรรเงิน จึงมีการปรับลดทั้งหมด เช่นเดียวกับงบบุคลากร ซึ่งทุกเหล่าทัพปรับลดลง ก็เป็นไปตามแผนในการลดกำลังพลอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ การจัดซื้ออาวุธจะทำในส่วนที่มีความชัดเจนและมีความพร้อมที่จะชี้แจงในทุกประเด็น โดยเฉพาะ “บิ๊กโปรเจกต์” จะเห็นได้ว่ามีการสลับเหล่าทัพหมุนเวียนกันไปในแต่ละปี โดยจะใช้คำว่า งบบวม-งบโป่งพอง เข้ามาอธิบาย แต่นัยของการจัดทำงบ 67-68 มีปัจจัยเรื่องการเฉือนเงินจากทุกกระทรวงไปกองใน “งบกลาง” เพื่อไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง ประเด็นร้อนสุดคงมีเรื่องภายในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อชายแดนไทย โดยเฉพาะประชาชนที่จะเดินทางข้ามฝั่งเข้ามาบ้านเรา แต่ความสลับซับซ้อนของปัญหาในเมียนมายังยากที่จะสรุปผลลัพธ์ จึงเป็น ไทม์ไลน์ ของการติดตามสถานการณ์ และทดสอบความพร้อมของหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นแม่งาน 

ที่สำคัญรัฐบาลยังไม่เห็นความจำเป็นในการเพิ่มเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อเป็นโซ่ข้อกลางคุมทหาร-ตำรวจ เพราะในที่สุดจะเป็นการเปิดทางให้ตั้งฐานอำนาจใหม่แยกส่วน เพิ่มตั๋วเข้ามาจนเกิดความยุ่งยาก วุ่นวาย ดังนั้น การให้นายกฯ คุมงานความมั่นคงไปก่อนจึงไม่ได้หนักหนาจนรับมือไม่ไหว แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง แต่ก็ยังเอาอยู่

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯ กับกองทัพ ขณะนี้คือการจัดระดับความสัมพันธ์ของอำนาจ และเข้าใจสายการบังคับบัญชา ในสถานะของผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาปรับปรุงกองทัพ ตามที่นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงต่อสภา

และก็เป็นไปตามที่ “สุทิน” ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” ก่อนสงกรานต์ ท่ามกลางกระแสข่าวตกเก้าอี้ รมว.กลาโหม โดยระบุว่า "ทักษิณ" ให้คำแนะนำและเทคนิคเรื่องการทำงานในตำแหน่ง รมว.กลาโหมพลเรือน ที่เป็นผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งต่างก็รู้ดี เนื่องจากผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาเหมือนกัน

สูตรการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ที่ออกมา จึงเป็นบททดสอบแนวคิดการจัดสัดส่วนการบริหารเพื่อกลั่นผลงานการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม เพราะมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในวันข้างหน้า พร้อมไปกับการกำหนดจังหวะก้าวด้านความมั่นคงอย่างระมัดระวัง

แต่จะแปลงผลลัพธ์เป็นคะแนนนิยมเพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองแบบใสๆ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หรือไม่ ...คงต้องรอชม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย