คณะก้าวหน้า-ธนาธรปักธง "สว.สีส้ม" แชร์เก้าอี้สภาสูง

การเมืองช่วงเดือนพฤษภาคม วาระสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือ การได้มาซึ่ง วุฒิสภา-สภาสูง ชุดใหม่ ที่จะมาแทนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา ชุดใหม่ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.....ชุดใหม่ และทำให้หลังจากนี้ คาดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พ.ค. และประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พ.ค.-กำหนดวันเลือก สว.ระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิ.ย.-กำหนดวันเลือก สว.ระดับจังหวัด ในวันที่ 16 มิ.ย. และกำหนดวันเลือก สว. ระดับประเทศ 26 มิ.ย. และคาดว่าจะประกาศผลการเลือก สว.วันที่ 2 ก.ค.

ทำให้ขณะนี้ก็เข้าสู่ช่วงกำลังจะเริ่มต้นเตรียมคัดเลือก สว.ชุดใหม่ ที่จะมาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพที่เลือกกันเอง และเลือกไขว้ ที่จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือเริ่มจากระดับอำเภอ ตามมาด้วยระดับจังหวัด และสุดท้ายที่เลือกระดับประเทศ ภายใต้กติกาที่สลับซับซ้อน เป็นที่แรกและที่เดียวในโลก

ทำให้หลายฝ่ายจึงคาดการณ์กันว่า หลังการคัดเลือกจบลง ก็คงมีการร้องเรียนต่างๆ ตามมามากมาย ทั้งในระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ 

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า กติกาดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือกีดกันไม่ให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วมกระบวนการนี้หรือไม่ หรือเป็นกลไกเอื้อให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเลือกคนของตัวเองมาลงรับสมัคร เพื่อเลือกกันเองหรือไม่?

การตั้งคำถามดังกล่าวข้างต้นคือ คำถามหลักที่ฝ่าย คณะก้าวหน้า นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า-อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดตัวรณรงค์ให้คนไปลงสมัครคัดเลือกเป็น สว.กันเยอะๆ และมีการเดินสายไปหลายจังหวัดแล้วในช่วงที่ผ่านมา แต่ธนาธรได้มีการแถลงเปิดตัวแคมเปญรณรงค์เชิญชวนคนลงสมัคร สว.ประชาชน อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา

บนเสียงวิจารณ์อีกมุมว่า การเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้า-ธนาธร ที่เชื่อมโยงกับ พรรคก้าวไกลแบบแนบสนิทในการรณรงค์ให้คนไปสมัคร สว.กันให้มากๆ สุดท้ายแล้ว สว.จะกลายเป็น ฐานการเมือง ใหม่ในสภาสูงที่คณะก้าวหน้า-ธนาธร-พรรคก้าวไกล กำลังสร้างขึ้นมาใช่หรือไม่? 

ธนาธร” ระบุไว้ตอนแถลงข่าวว่า "ถ้าเราอยากให้การเมืองกลับมาเป็นปกติ อยากให้การเมืองอยู่ในวิถีประชาธิปไตย ประชาชนเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา วิธีทางเดียวที่ฟื้นฟูกลับมาได้ คือทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ทั้งตำรวจ, อัยการ, ศาล, ราชทัณฑ์ และองค์กรอิสระต่างๆ กลับมายืนอยู่บนความยุติธรรม ตั้งมั่นบนความเป็นธรรม นี่คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศไทยฟื้นฟูประชาธิปไตย และคนไทยอยู่ด้วยกันอย่างสมานฉันท์ได้"

แม้นายธนาธรจะรู้ดีอยู่แก่ใจว่า นี่อาจเป็น ข้อเรียกร้องที่สูงมาก ก็ตามที แต่ก็ยังตั้งเป้าว่า ต้องการ สว.อิสระของประชาชนอย่างน้อย 70 คน หรือ 1 ใน 3 จากเสียงของ สว.ทั้งหมดเพื่อเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐสภา

เพราะในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกในกลางปีนี้ผ่านมาได้ ก็จะทำให้ต้องมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งจะต้องได้เสียง สว.เห็นชอบด้วย ในวาระแรกขั้นรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ประมาณ 67 คน และในการโหวตวาระ 3 ก็ต้องมี สว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เช่นกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงจะเกิดขึ้นได้  

แต่เนื่องจากนายธนาธรเห็นว่า ระบบการคัดเลือก สว.ที่ดีไซน์ออกมา ไม่สามารถทำให้ คนเก่ง ดี เด่น ดังในอาชีพ เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ แต่ตำแหน่งนี้จะตกไปอยู่กับคนที่มีพรรคพวก เป็นการ ‘ลากตั้ง’ แทนเหมือนกับ สว.ชุดปัจจุบัน ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้มีข้อครหาตลอดการดำรงตำแหน่งว่า คือผลพวงของ ‘การสืบทอดอำนาจรัฐประหาร’ หรือเป็น ‘นั่งร้านเผด็จการ‘

โดยธนาธรอ้างว่า "แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ระบอบประยุทธ์ก็ยังอยู่กับเราในรูปแบบของรัฐธรรมนูญปี 60 แม้คุณประยุทธ์ไม่อยู่แล้ว แต่ตัวระบบระเบียบที่เขาก่อร่างสร้างตัวโดยคณะรัฐประหารยังอยู่กับพวกเรา"

และนอกจาก สว.ชุดใหม่ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเปิดประตูไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้ว สว.ชุดใหม่ที่มีวาระการปฏิบัติหน้าที่ 5 ปี นับจากปี 2567 ก็ยังมีอำนาจหน้าที่-ภารกิจสำคัญอีกหลายเรื่องรออยู่ โดยเฉพาะการลงมติ ให้ความเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บุคคลไปดำรงตำแหน่งในกรรมการองค์กรอิสระ-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นๆ เช่น ศาลปกครองสูงสุด-สำนักงานอัยการสูงสุดกับการให้เห็นชอบอัยการสูงสุด หรือกรรมการ กสทช. เป็นต้น

โดยตำแหน่งสำคัญๆ ที่รอให้ สว.ชุดใหม่เข้าไปโหวต ก็มีเช่น “ประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่หลังก่อนหน้านี้ สว.ชุดปัจจุบันเพิ่งโหวตคว่ำ ไม่ให้ วิษณุ วรัญญู ขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ แทน วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ เป็นต้น หรือในส่วนขององค์กรอิสระ ก็เช่น การต้องให้ความเห็นชอบกรรมการ ป.ป.ช.อย่างน้อยก็ 4 คน ที่จะหมดวาระในปีนี้ เช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ, วิทยา อาคมพิทักษ์ เป็นต้น

ดังนั้นหากฝ่ายไหนกุมเสียงในสภาสูงไว้ได้ ก็จะเป็นฐานการเมืองที่สำคัญ ซึ่งฝ่ายคณะก้าวหน้า-ธนาธร ก็คงคิดเรื่องนี้อยู่ในใจบ้าง เช่นกัน ใช่หรือไม่?.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี