ศึก“วางคน-วางเกม”รับมือ สะท้อนผ่านวอรูม“เมียนมา”

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจาก นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ  ตามมาด้วย นาย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ

 ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ต่างประเทศ และ มหาดไทย รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ไม่มีชื่อ รมว.กระทรวงกลาโหม ที่ชื่อ “สุทิน คลังแสง”อยู่ในกลไกสำคัญนี้

โดยมีการวิเคราะห์ไปต่างๆ นาๆ  และ นำไปผูกโยงกับเหตุการณ์ ที่ “สุทิน”ไม่ได้รับเชิญให้อยู่ในวงประชุมสำคัญๆ ในเรื่องความมั่นคงหลายครั้งเมื่อมี “นายกฯ เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะ สอดคล้อง กระแสการปรับครม.ที่ชื่อของ “สุทิน”หลุดเก้าอี้ และ นายกรัฐมนตรีจะมาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม  ยิ่งฉายภาพ “เคมีไม่ตรงกัน” ระหว่าง นายกฯ อดีตพ่อค้าขายบ้าน คุมความมั่นคง กับ รมว.กลาโหมคุมเหล่าทัพ อดีตครูบ้านนอก

แต่หากดูรายชื่อทั้งหมดแล้วต้องยอมรับว่าถึงไม่มีชื่อ“สุทิน”ก็ไม่ได้พิลึกพิลั่นเกินไปนัก  เมื่อ “ธง”ของรัฐบาลพุ่งไปที่ฉากทัศน์ของสถานการณ์วันข้างหน้า หากการสถานการณ์ต้องเดินเข้าสู่การตั้งโต๊ะเจรจากันเพื่อนำไปสู่สันติภาพ กรอบคิดของรัฐบาลชุดนี้ต้องการกำหนดให้ “กระทรวงการต่างประเทศ”เป็นแม่งานหลัก

ซึ่งต่างจากกรอบคิดของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งมีทหารเป็นผู้นำฯ ตั้งแต่ในอดีต จนมาถึงยุค “รัฐบาลลุง” ที่เชื่อในรากฐานความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร จะทำให้การพูดคุยเจรจามีความลื่นไหล ไม่ติดขัด

ดังนั้น จึงได้ผลักดันให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็น “พระเอก” โดยมีกองทัพ-ทหารเป็นฉากหลังในการขับเคลื่อนงานทั้งทางเปิดเผย และ ทางลับ เป็นโมเดลการทำงานแบบคู่ขนานที่มาบรรจบกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุความขัดแย้งในเรื่องแนวทางการทำงานระหว่างรัฐบาลและกองทัพ เหมือนตอน“ทักษิณ ชินวัตร ”ตอนเป็นนายกฯ เคยหลุดปากเรื่อง “โอเวอร์รีแอค”เมื่อกองทัพปฏิบัติการสหยุดยั้งแหล่งผลิตยาบ้าที่ต้นทาง

 ในครั้งนี้ รัฐบาลจึงเริ่มที่การจัดตั้ง “ระเบียงมนุษยธรรม” ชายแดนไทย-เมียนมา  ส่งผ่านข้าวสาร อาหารแห้ง หรือยารักษาโรค โดยสภากาชาดไทยไปยังสภากาชาดเมียนมา มีพื้นที่ที่ตั้งเป็นศูนย์รับการช่วยเหลือในรัฐกระเหรี่ยง  พร้อมใช้ กลไกของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management : AHA Centre) เข้าร่วมสังเกตการณ์ เป็นการสนองตอบต่อฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนบรรลุข้อตกลงร่วมกันไปแล้ว

ขณะที่กองทัพทั้ง ระดับกองกำลังป้องกันชายแดยที่มีมาตรการแน่ชัดในการกำหนด “กฎการปะทะ” ทางบก และ  ทางอากาศ โดย ทบ. มีการกำหนดไว้แล้ว และ ทอ. เพิ่งเสนอเป็นลายลักษณ์อักษร และออกเป็นระเบียบกระทรวงกลาโหม มี รมว.กลาโหม ลงนามเห็นชอบโดยมี รมว.กลาโหม ที่ชื่อ “สุทิน”ลงนาม  ไปเมื่อไม่นานมานี้

แต่ในระดับของสายสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับกองกำลังชนกลุ่มน้อย   ต้องถือว่าฝ่ายทหารเว้นระยะห่างไปนาน ก่อนหน้านี้ ไทยเลิกนโยบาย “รัฐกันชน”ไปแล้ว   และ ไม่ได้สนับสนุน แบบทุ่มหนักเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ “การข่าว” ด้านนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นคืนสภาพ เพื่อรองรับภูมิทัศน์การเมืองของเพื่อนบ้านที่ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัวอย่างแน่นอน 

จึงไม่แปลกที่จะมีหลายหน่วยจัดชุดในการสร้างเครือข่ายใหม่ เพื่อปูทางไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ปักธงไว้ แล้วแต่ใครเห็นช่องที่เข้าไปแตะมือเชื่อมต่อเครือข่ายฝ่ายต้านให้เหนียวแน่น  ซึ่งยังเป็นลักษณะของการ “จรยุทธ์” เข้าไปแบบ “จัดตั้ง” ปิดลับอยู่  เพื่อรองรับการเจรจาในอนาคต

แต่ใจความหลักจะต้องให้ “น้ำหนัก” กับกระทรวงการต่างประเทศ ที่วันนี้ “เศรษฐา” ส่งให้ “ปานปรีย์” รับไปเต็มตัว  แม้ก่อนหน้านี้จะละล้าละลัง เพราะ “ปานปรีย์” ไม่ใช่เด็กในคาถาของตัวเอง แต่เป็นสายตรง”นายใหญ่-บ้านจันทร์”เช่นเดียวกับ “สุทิน คลังแสง” ซึ่งทำผลงานในการปราศรัยหาเสียง และการอภิปรายในสภาฯ เข้าตา “นายใหญ่” และอยู่ในโควตาอีสาน ที่จะมานั่งเก้าอี้ รมต.

เพียงแต่ รมว.กลาโหม เป็นตำแหน่งสุดท้าย “ที่ไม่มีใครเลือก” จากเกมชิงตำแหน่งในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคร่วม ทำให้เก้าอี้รมว.กลาโหม ถูกโยนไปโยนมา จากพรรคพลังประชารัฐที่ “ลุงป้อม” เดินเกมเป็นนายกฯ แต่ผิดพลาด เลยจะล็อกเก้าอี้ไว้ให้ “น้องป๊อด” แต่ “ผู้กองฯ “ ธรรมนัส พรหมเผ่า  ขอกระทรวงเกษตรฯ เอาไว้ และปล่อย กลาโหม ไปให้เพื่อไทย จากการเบิ้ลกลับ “ดีลนอกกระดาน” ระหว่าง “ทักษิณ” ที่ไปคุยกับ “บิ๊กน้อย”พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้มานั่งกลาโหม กลายเป็นรอยปริร้าว  จนทำให้ “พี่ป้อม-น้องน้อย” ตึงๆ กันไปพักใหญ่  

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลาโหมเป็นเก้าอี้สุดท้ายในโควตา“เพื่อไทย”แต่ปรากฏว่าไม่มีใครอยากมาเป็นเนื่องจากเป็น “ของร้อน” ต้องเป็นหนังหน้าไฟรับมือกับฝ่ายค้านที่ตรวจสอบอำนาจทหารอย่างเข้มข้น  ขณะที่งบฯ ก็บักโกรก โดนเฉือนจนเหลือแต่กระดูก แนวโน้มจึงน่าจะไม่ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง แต่ “สุทิน”ก็ยกมือขอรับไว้เอง เพราะไม่มีกระทรวงอื่นให้เลือกแล้ว

เมื่ออยู่ในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็ถูกจำกัดบทบาทใน “เกมอำนาจ” ข้ามสายการบังคับบัญชา ยิงตรงสั่งการโดยตรงไปที่กองทัพ เพราะ “สุทิน” ไม่ใช่สายของตัวเอง แต่เป็นสายตรงของ “นายใหญ่” ซึ่งแน่นอนว่า นายกฯเศรษฐา ก็คงไม่ต้องการให้ใครมาเป็น “กล้ามเนื้อนอกบังคับ” และในช่วงต้นๆ อาจมองว่า”สุทิน”ไม่เชี่ยวชาญเรื่องทหาร ต้องไปขอเวลาหาคำตอบ  จึงไปพึ่งบริการ “บิ๊กเล็ก”พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม น้องรักบิ๊กตู่ ที่เติบโตมาทางสายยุทธการ ถามอะไรมาก็ตอบได้ทุกเรื่อง

และใช้สายสัมพันธ์ที่รู้จักกับ “บิ๊กออฟ “พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นการส่วนตัวมาก่อน ในการพูดคุยสั่งการ ไม่ผ่านไปทาง รมว.กลาโหม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการบริหารงานแบบซีอีโอ   แถมยังมีข่าวว่าใช้บริการฟาสแทร็กไปยังกองทัพภาคที่ 3 ในการขับเคลื่อนงานชายแดน  เพราะแม่ทัพภาคเป็นเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกับ พล.อ.ทรงวิทย์

จนเม้าธ์กันให้แซ่ดเรื่องการ “ข้ามหัว” จนระยะหลัง “เศรษฐา” ก็เริ่มทำความเข้าใจเรื่องสายการบังคับบัญชา และคุยกับ “บิ๊กต่อ”พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.มากขึ้นในหลายเรื่องเพราะ ผบ.ทบ.คุมสายการบังคับบัญชาหน่วยคุมกำลังทั่วประเทศ  ที่สำคัญคือ เป็นผู้คุมกำลังปฏิวัติ ไม่ใช่ ผบ.ทหารสูงสุด

แต่ในสมการด้านความมั่นคงนี้ก็ไม่มี “สุทิน”อยู่ดี !!

จึงต้องติดตามต่อไปว่า “โผครม.เศรษฐา 2” จะมีทางเลือกอย่างไร ในการวางตัวคนดูงานด้านความมั่นคง เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ผกผันในภูมิภาค และ ประเทศเพื่อนบ้าน  พร้อมทั้งกระชับอำนาจนายกฯ ตามกฎหมายให้แข็งแกร่ง หรือจะเลือกนิ่งๆ ไม่ขยับตำแหน่งรมว.กระทรวงกลาโหมเพื่อลดแรงเสียดทานจากทุกทางในเวลาที่เหลืออยู่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี