วิบากกรรมตลอดปีเสือดุ 'บิ๊กตู่'ไปต่อหรือพอแค่นี้

หนทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะอยู่ครบวาระในสมัยสองเพื่อให้ครบ 4 ปี โดยเฉพาะปีสุดท้ายตลอดปี 2565 หรือปีเสือดุ จะอยู่รอดในเส้นทางอำนาจได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม    

เพราะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย อาทิ ฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจหลังพิษโควิด-19 และแก้ปัญหาปากท้องต่างๆ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลนี้จะต้องมีการกู้เงินออกมาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ 

พร้อมกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ดึงดูดต่างชาติเข้ามาจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งโครงการประชานิยมต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ และยังเป็นการหาคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนครบวาระในต้นปี 2566 

แต่สิ่งที่กังวลไม่แพ้กันคือสถานการณ์การเมืองทั้งศึกนอกและในที่ "บิ๊กตู่" จะฝ่ามรสุมต่างๆ ไปให้ได้   

เริ่มจากต้นปี 2565 จะต้องถูกท้าทายด้วยการเลือกตั้งซ่อมอย่างน้อย 3 พื้นที่ ประกอบด้วย เลือกตั้งเขต 1 จ.ชุมพร, เขต 6 จ.สงขลา และเขต 9 กทม. 

               พื้นที่เลือกตั้งซ่อมดังกล่าว สำหรับนายกฯ ถือเป็นการวัดกระแสว่าตัวเองยังฟีเวอร์หรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งปี 2562 สามารถพา ส.ส.มาให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างเป็นกอบเป็นกำ   

แย่งแต้มจากพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่าทำให้พรรคสีฟ้าสูญพันธุ์เลยทีเดียว   

ฉะนั้นกระแส "ลุงตู่" จะยังดีอยู่หรือไม่ ผลการเลือกตั้งซ่อมใน 3 พื้นที่จะเป็นคำตอบ ที่ยังโยงไปถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในกลางปี 65 หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งสนามใหญ่ในอนาคตว่าจะยังขายได้หรือไม่   

ยังมีเกมการเมืองในสภาก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะตลอดปี 2564 ประชาชนไม่ได้จดจำที่เนื้องาน แต่จำได้คือภาพ "สภาล่ม" จนสื่อมวลชนตั้งฉายาว่า "สภาอับปาง" การพิจารณากฎหมายต่างๆ ในสภาของรัฐบาลในปีหน้า อาทิ กฎหมายการเงิน กฎหมายเงินกู้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นต้น จะมีรายการสะดุดหรือไม่ 

หากกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ถูกคว่ำ ผลที่ตามมาคือ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก ขณะที่ประธานวิปรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นคนของ "บิ๊กตู่" ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก็ไม่ยอมรับ ไม่ทราบว่าจะช่วยอะไรหรือไม่ 

แต่ที่น่าหวาดเสียวกว่าคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติได้ช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นไป  

ลำพังเสียงจากฝ่ายค้านไม่สามารถทำอะไรได้ แต่สิ่งที่กังวลหนักกว่าคือ เสียง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้ความรับผิดชอบของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรค 

หลังจากในช่วงปี 2564 ร.อ.ธรรมนัสเคยคิดการใหญ่และปฏิบัติการเปลี่ยนตัวนายกฯ เกือบสำเร็จมาแล้วในการซักฟอกช่วงปี 2564  

แต่ขณะนั้นแผนแตก แกนนำ พปชร.หลายคนไม่เอาด้วย จึงทำให้ "บิ๊กตู่" แก้เกมและเอาตัวรอดไปได้  

กระทั่ง ร.อ.ธรรมนัส กลายเป็นกบฏ และถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค 

แต่จนแล้วจนรอด บัดนี้ "บิ๊กตู่" ในฐานะนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่มีอำนาจมหาศาล ยังไม่สามารถโน้มน้าวใจ "พี่ใหญ่" "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ให้จัดการและลดบทบาท "ผู้กอง" คนนี้ลงได้ จนเกิดเป็นหอกข้างแคร่ ที่ทำให้นายกฯ และขุนพลรัฐมนตรีข้างกายนอนไม่หลับ  

อีกทั้งยังส่งผลต่อความไม่แน่นอนว่า สุดท้าย พปชร.จะเสนอนายกฯ เป็นแคนดิเดตหนึ่งเดียวในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ หรือมีคู่เทียบ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสนอชื่อถึง 3 คน ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสก็ไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เพียงรายเดียว 

ดังนั้นในปี 2565 นายกฯ จะจัดการ ร.อ.ธรรมนัสอีกครั้ง และยึด พปชร.ได้หรือไม่ หลังก่อนหน้าทำไม่สำเร็จ ที่ขณะนี้บารมีกำลังเบ่งบานเป็นอย่างมาก  

หรือ "บิ๊กตู่" จะต้องออกไปตั้งพรรคสำรอง ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยากภายบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และทางเลือกสุดท้ายสยบยอม และทำตามเงื่อนไขและความต้องการของ พปชร.ที่ "ผู้กองมนัส" ผู้ถืออำนาจ  

นอกจากนี้ยังอีกประเด็นที่ต้องจับตาในเดือน ส.ค.2565 นายกฯ ก็จะถูกยื่นตีความเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี จะขัดรัฐธรรมนูญมีอุบัติเหตุการเมืองเกิดขึ้นหรือไม่   

หากผ่านไปได้ก็เชื่อว่านายกฯ จะอยู่ครบวาระ 4 ปีในสิ้นสุดในเดือน มี.ค.2566 ส่วนจะไปต่อในสมัย 3 หรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญ 

โดยเฉพาะความเสี่ยงทั้งสถานการณ์การเมืองต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก หรือ ส.ว.ที่เหลืออำนาจนายกฯ เพียง 1 ปี จากบทเฉพาะกาล 5 ปีที่กำลังจะหมดลง รวมทั้งเสียงตอบรับจากประชาชน จะยังตอบรับหรือไม่ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจบนผลประโยชน์ของส่วนรวม. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี