กองทัพโดดเดี่ยวในวงล้อม การเมืองไล่บี้ ผ่านปฏิรูป-แก้กม.

มีความเห็นและปฏิกิริยาทางการเมืองตามมา หลังมีการออกมาเปิดเผยจาก “จำนงค์ ไชยมงคล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกลาโหม (สุทิน คลังแสง) รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์” ที่เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา รับทราบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ...

โดยประเด็นที่ได้รับความสนใจและตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตามมาก็คือ การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นกฎหมายซึ่งออกมาในยุคพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า

“ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลัง ทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ”

เรื่องนี้ทำให้มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมา เช่น สาย ทหารแก่ไม่มีวันตาย - Old soldiers never die อย่าง พลเอกบุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย อดีตประธานมูลนิธิศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหาร อดีตประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ย้ำชัดๆ ว่า

การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ทหารทำปฏิวัติได้เร็วขึ้น และให้เหตุผลประกอบว่า “การกล่าวหา ต้องมีการสอบสวนสืบสวนให้ชัดเจน ไม่งั้นก็เป็นเผด็จการ ขนาดเผด็จการทางทหารเขายังไม่กล้าทำเลย หากเผด็จการพลเรือนกล้าทำ ก็เรียบร้อย ก็ไปเร็ว ไปเร็วกว่าที่เขาคิด คุณจะรู้ได้ยังไงว่านายทหารเขาจะปฏิวัติหรือไม่ปฏิวัติ นายกฯ จะเอาอะไรมาตัดสินใจ ถ้าไม่มีการสืบสวนสอบสวนให้มันชัดเจน มันไม่ได้หรอก มันยิ่งกว่าอำนาจเผด็จการทางทหารเสียอีก”

โดย เสธ.อ้าย บอกอีกว่า หากรัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าเสนอแก้กฎหมายดังกล่าว "จะถูกปฏิวัติเร็วกว่าที่เขาคิดไว้ เขาจะถูกปฏิวัติเร็วกว่าที่คาดไว้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ มันไม่ถูกต้องมันเป็นเรื่องเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันจะเกิดการกลั่นแกล้งกันง่ายขึ้น ถ้าเขาเห็นนายทหารคนไหนมีทีท่าว่าจะขึ้นมามีอำนาจก็แกล้งเอาลงเสีย แล้วมันจะอยู่กันได้อย่างไร มันจะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งกันง่ายขึ้น" 

ทั้งนี้ พลเอกบุญเลิศ หรือเสธ.อ้าย เคยเป็นอดีตประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองกลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นและสนิทกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ให้ทัศนะเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยในหลักการ แต่ควรแก้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่แค่ผิว เพราะเป้าหมายสูงสุดคือ ต้องทำให้กองทัพไม่อยู่ในฐานะรัฐอิสระ หรือรัฐซ้อนรัฐ และอำนาจการตัดสินใจของกองทัพจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลพลเรือน แต่ที่นายสุทินเสนอเป็นเพียงการแก้แค่องค์ประกอบเท่านั้น ยังไม่ถึงแก่น

ขณะที่ พลโทพงศกร รอดชมภู หรือเสธ.โหน่ง แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบันเป็นคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและทบทวนกฎหมายด้านความมั่นคงในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า ในความเป็นจริง หากทหารจะยึดอำนาจ เขาไม่มีทางให้ฝ่ายการเมืองรู้ นายกฯ ที่ไหนจะไปรู้ว่าทหารจะมายึดอำนาจตัวเอง ไม่มีทางรู้ได้ อย่างหาก ผบ.ทบ.มีการประกาศกฎอัยการศึก ตัว ผบ.ทบ.ก็จะอ้างว่า ออกกฎอัยการศึกเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะเป็นอำนาจของ ผบ.ทบ. แล้วจะไปทำอะไรได้

 พลโทพงศกร ย้ำอีกว่า ที่สำคัญหากนายกฯ จะไปจัดการเขา (ให้พักราชการ) ตัวทหารเขาก็อ้างได้ว่า ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็จะไปฟ้องศาลปกครองขึ้นมา ถ้าทำตามที่เสนอมา มันก็มีความเสี่ยงอยู่ แม้กฎหมายที่ใช้ (การฟ้องศาลปกครอง) จะแยกระหว่างทหารกับข้าราชการพลเรือน แต่ทหารก็ร้องเรียนช่องทางอื่นได้ แต่ยังไงก็ดีกว่าไม่มี เพียงแต่ในทางปฏิบัติดูแล้วเป็นไปได้ยาก แต่ก็ดีจะได้มีไว้ปรามๆ ไว้

อย่างไรก็ตาม พลโทพงศกร เสนอว่า การป้องกันการทำรัฐประหารต้องทำผ่านการปฏิรูปกองทัพ-การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้การทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก เพราะตอนนี้คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและทบทวนกฎหมายด้านความมั่นคงในคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กำลังจะทำข้อสรุปให้มีการแก้ไขกฎหมายด้านความมั่นคงหลายฉบับ เช่น การออกกฎอัยการศึก ก็จะแก้กฎหมายเป็นว่า ไม่ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพประกาศกฎอัยการศึก ยกเว้นเฉพาะตอนช่วงประเทศเกิดศึกสงคราม หรือการแก้ไขกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร อาทิเช่น ให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพตั้งผู้บังคับการกรมกับผู้พันไม่ได้ ตั้งได้แค่แม่ทัพ เช่น ผบ.ทบ.ก็ตั้งได้แค่ 2 ระดับลงมา คือพลเอกกับพลโท ที่ก็คือ รอง ผบ.ทบ.กับแม่ทัพภาค แล้ว ผบ.พล ก็ไปตั้งผู้บังคับการกรม (ผู้การ) แล้วผู้การก็ไปตั้งผู้พัน หากทำแบบนี้แม้จะยังมีการวิ่งเต้นกันได้อยู่ แต่ก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเวลาแต่งตั้งหรือพิจารณาให้ความดีความชอบ ก็ไม่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาดู ก็ให้คนที่จะได้รับการพิจารณา เสนอ portfolio ขึ้นมา แล้วให้มีคณะกรรมการมาพิจารณา แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไปตามลำดับ ถ้าทำแบบนี้ได้จะเป็นการแก้ไขปัญหากองทัพได้แบบเด็ดขาดถาวรผ่านการปฏิรูปกองทัพ จะทำให้ระบบอุปถัมภ์ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าปรับมาใช้แบบนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ โดยไม่ให้ผู้นำเหล่าทัพแต่งตั้งระดับผู้พัน จนไม่สามารถนำมาเป็นลูกน้องของตัวเองได้ ให้ผ่านไปจากนี้สัก 5-6 ปี มันก็แก้ปัญหาเรื่องการทำรัฐประหารได้แบบถาวร

ที่น่าสนใจ พลโทพงศกร เล่าให้ฟังถึงเรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า เรื่องนี้ “กองทัพบก” ในยุค บิ๊กต่อ-พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ เป็น ผบ.ทบ. มีการขยับพอสมควร เพราะมีการตั้งคณะทำงานมาศึกษา-รับฟังข้อเสนอแนะการปฏิรูปกองทัพ โดยมีคณะทำงานของกองทัพบกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งหัวเรือใหญ่คือ เจ้ากรมยุทธการทหารบก และทีมงานที่ส่วนใหญ่เป็นระดับพันเอกพิเศษ เพราะกองทัพก็อยากรู้แนวคิดว่าฝ่ายการเมืองต้องการให้มีการปฏิรูปกองทัพอย่างไร

“เนื้อหาการปฏิรูปกองทัพหลักๆ ที่คุยและเสนอไปให้กับคณะทำงานของกองทัพบกก็มีเช่น หลักการเรื่องพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ-การปฏิรูประบบการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร-การให้ใช้ระบบคณะเสนาธิการร่วม โดยให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รมว.กลาโหมในเวลาปกติ แต่หากในช่วงสงครามให้นายกรัฐมนตรีเป็น รมว.กลาโหม เป็นต้น คาดว่าจะคุยกันอีก 2-3 รอบก็เสร็จ ก็จะเสนอเป็นข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพ ส่งให้เสนาธิการทหารบก, กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมตามลำดับต่อไป”  

ความเคลื่อนไหวทั้งจากฝ่ายการเมืองในกระทรวงกลาโหมและฝ่ายกรรมาธิการของสภาฯ ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักการเมืองพรรคก้าวไกล ที่ไม่ค่อยลงรอยกับกองทัพมาตลอด โดยทั้งหมดข้างต้นต่างพยายามรุกไล่กองทัพด้วยการเสนอแก้กฎหมายจัดระเบียบราชการกลาโหม-การเสนอให้มีการรื้อ และแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงแบบแพ็กเกจหลายฉบับ รวมถึงการเตรียมเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปกองทัพต่อกองทัพบก

สถานการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กองทัพกำลังอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวในวงล้อม ที่แต่ละเหล่าทัพก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์และเร่งแก้ไขจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนจากตั้งรับให้กลายเป็นเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยกองทัพได้รับผลกระทบน้อยที่สุด.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567