แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป
เพราะมีทั้งนายใหญ่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ทั้ง 2 คนถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังและเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง
ขณะเดียวกันในการทำงานของรัฐบาลที่มีห้วงเวลา 4 ปี ทำให้นายกฯ นิดต้องติดสปีดสร้างผลงานให้ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย” อยู่ในใจของประชาชนให้ได้ ซึ่งตอนนี้ก็เร่งเดินหน้าหลายด้าน แต่ก็ยังถูกจับผิดและถูกจับจ้องจาก “ฝ่ายค้าน” ว่ายังไม่เห็นอะไรที่จะมีผลออกมาเป็นรูปธรรมได้ในเร็ววัน
ทั้งนี้ หากเช็กกระแสของ นายกฯ เศรษฐา จากการเข้ามาบริหารประเทศครบ 7 เดือน ยังไม่มีอะไรที่หวือหวาจนประชาชนร้องว้าว และแม้นายกฯ นิดจะปรับตัวกับงานทางการเมืองและการเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าในช่วงแรกก็ตาม แต่ในห้วงเวลานี้ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่อง และจะมากขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐบาลยังไม่มีผลงานเป็นที่ปรากฏ
และเมื่อประมวลสิ่งที่รัฐบาลนายเศรษฐาต้องเผชิญตลอดห้วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา และยังคงต้องอยู่กับแรงกดดันรอบด้านนี้ต่อไป นั่นคือการแบกความหวังของประชาชน ด้านแรกเรื่องการทำงานและผลงานรัฐบาล ที่นายกฯ นิดเร่ง “ดึงดูดการลงทุน” หวังสร้างเม็ดเงินให้ประเทศระยะยาวได้ในอนาคต แม้จะบินไปเปิดประตูประเทศไทยที่ต่างแดนมาแล้วถึง 14 ประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน เพื่อพูดคุยเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติ หวังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แนบแน่น และยังเร่งเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ หรือ FTA แต่กลับถูกมองไปต่างแดน แต่ไร้ผลงาน ไปต่างประเทศถี่ไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปกับการเดินทาง และไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม
และสำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลประโคมลดทั้งค่าไฟฟ้า ลดราคาพลังงาน และช่วยลดค่าครองชีพผ่านนโยบายด้านต่างๆ พร้อมโปรยยาหอมระหว่างลงพื้นที่จะเทงบประมาณผ่านโครงการไปสู่ประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอการอนุมัติงบประมาณ รวมถึงปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว แต่ก็เหมือนยังไปได้ไม่สุดทาง จนมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนอยู่เป็นระยะ
และอีกเรื่องที่ยังแก้ไม่ขาดและมีแรงกดดันจากประชาชน คือเรื่องปัญหาไฟป่า หมอกควัน และค่าฝุ่น PM2.5 ที่นายกฯ ลงไปดูในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วหลายหน แต่ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้จนเป็นที่พอใจ ล่าสุดได้ออก 9 มาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่มีการละเว้นสำหรับคนที่เผาป่า การตัดสิทธิ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่เผาพื้นที่ตนเอง ยกระดับเจรจาประเทศเพื่อนบ้าน ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดชุดเคลื่อนที่ดูแลประชาชนตามบ้าน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องรอดูผล หากหนนี้ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนอีก รับรองว่าเจอแรงบีบที่หนักขึ้นแน่นอน
ขณะเดียวกันโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ประชาชนทั้งประเทศรอคอย ที่ถึงแม้จะมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวไทม์ไลน์ที่ชัดเจนแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามต่างๆ ตามมาอีกมากมาย และเชื่อว่าตราบใดที่เงินยังไม่เข้ากระเป๋าประชาชน ก็ยังเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายว่ารัฐบาลจะทำได้สุดทางจริง ตามที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงหรือไม่
และนอกจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังมีปัญหาที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่สวมหมวกประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ด้วย ต้องเจอศึกหนักของวงการสีกากีในช่วงที่ผ่านมา เรียกว่าเข้ามาบริหารประเทศก็เจอปมที่ต้องกุมขมับของ 2 บิ๊กตำรวจ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ลุกลามบานปลายจนบ้านจันทร์ส่องหล้าต้องส่งสัญญาณให้นายกฯ นิดเซ็นคำสั่งให้ 2 บิ๊กตำรวจเข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีก่อน และยังต้องเร่งกู้ศรัทธาของประชาชนกลับคืนมา ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้นายกฯ เศรษฐามีเหงื่อตกกันบ้าง
ขณะเดียวกันยังเจอกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สะพัดตั้งแต่ยังทำงานไม่ครบปี และยังมีโควตาของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐที่เหลืออยู่ ซึ่งจากกระแสดังกล่าวแม้ไม่สามารถเขย่าบัลลังก์ผู้นำได้ เพราะเจ้าตัวยืนยันหนักแน่นจะไม่มีการปรับ ครม.ในช่วงนี้ เพื่อให้บรรดารัฐมนตรีได้ทำงานเพื่อประชาชนอย่างมีสมาธิได้เต็มที่ แต่ก็คงมีสะท้านกันบ้างในพรรคร่วม
อย่างไรก็ตาม จากหลายสถานการณ์ที่นายเศรษฐาต้องเผชิญในช่วง 7 เดือน และยังเหลือเวลาให้ได้พิสูจน์ฝีมืออีก 3 ปีครึ่ง หากรัฐบาลอยู่ครบเทอม โดยนายกฯ นิดประกาศไว้แล้วว่า เวลาที่เหลือจะมุมานะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และหวังผลที่จะตามมาคือ ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในครั้งหน้าให้ได้!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่