ตลาดการเมือง ‘ปีเสือ’ ย้ายเข้า-ออกอลหม่าน

หากดูปฏิทินตามที่ เนติบริกร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยกางเอาไว้ว่า กระบวนการจัดทำกฎหมายลูก คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะเสร็จประมาณเดือนเมษายน 2565 

จากนั้นจะมีการทูลเกล้าฯ ถวาย กรอบระยะเวลา 90 วัน กฎหมายลูก 2 ฉบับที่สำคัญต่อการเลือกตั้งน่าจะประกาศใช้เดือนกรกฎาคม 2565  

หลังจากนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเจอกระแสกดดันให้ยุบสภา เพราะกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเสร็จสิ้น ทุกอย่างพร้อมสำหรับการเข้าคูหา ไม่มีอะไรที่รัฐบาลจะเตะถ่วงได้ 

หากเป็นเช่นนั้น ประตูเลือกตั้งจะเปิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนถือรีโมต มีอำนาจกดหรือไม่กดปุ่มยุบสภา เพราะรัฐบาลมีโควตาเต็มเทอมอยู่ในช่วงต้นปี 2566  

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นใน ‘ปีเสือ’ มีพอๆ กับไม่มี เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำหลายครั้งว่า หากไม่มีอุบัติเหตุอะไรจะอยู่ทำงานให้ประชาชนแบบเต็มเทอม 

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในรอบ 20 ปี เสร็จสิ้นไปเสียก่อน เพราะเป็นงานใหญ่ที่จะใช้สร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะโควิด-19  

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แต่ต้องการให้ผู้นำจากหลากหลายชาติเดินทางมาด้วยตัวเอง  

เป็นงานที่รัฐบาลต้องการดำเนินการให้สำเร็จก่อนจะลงจากอำนาจ ซึ่งการประชุมเอเปกนั้นกินระยะเวลายาวนานเป็นปี ดังนั้น ปี 2565 เสืออาจยังไม่ยอมหมอบ 

ยิ่งมีกระแสกดดัน ยิ่งไม่ได้ผล เพราะคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ยอมทำตามถือว่ายอมแพ้ เหมือนเวลามีการเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีที่มีข่าวพัวพันการทุจริต จะไม่ทำตามเด็ดขาด เพราะถ้าทำเท่ากับยอมรับว่าผิด  

อย่างไรก็ดี ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกดปุ่มหรือไม่กดปุ่มยุบสภาในปีเสือ แต่เสียงปี่กล่องเลือกตั้งในปี 2565 คงอึกทึกครึกโครมมากเป็นพิเศษกว่าปีวัวแน่ โดยเฉพาะบรรดาพรรคการเมืองทุกขนาด ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ ต้องใช้เวลาในปี 2565 เปิดตัว หาเสียง ตุนคะแนน เพื่อให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง  

พรรคการเมืองเหล่านี้จะเตรียมตัวเองให้พร้อม เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะมาไม้ไหน ช่วงเวลาที่รัฐบาลพร้อม คิดว่า ตัวเองได้เปรียบ อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีสำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ได้ จึงต้องอยู่ในโหมดสแตนบายด์รอ  

เพราะยี่ห้อ 3 ป. เรื่องลับ ลวง พราง ขึ้นชื่อลือชามาแต่ไหนแต่ไร หากลงสนามไปทั้งที่รู้ว่าแพ้ การเลือกตั้งไม่เกิดแน่นอนในช่วงเวลานั้น 

ในปีเสือนี้สิ่งที่ต้องจับตา และคงเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี คงหนีไม่พ้น ตลาดนักการเมือง ที่เริ่มเห็นการโยกย้ายสำมะโนครัวกันตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้ตัวเองไปอยู่สถานะที่ดีกว่าในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า  

โดยเฉพาะบรรดาพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่คงมีสมาชิกมากหน้าหลายตาพาเหรดกันเข้าไปซบ ในฐานะที่ได้เปรียบในกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค  

ดูอย่างพรรคเพื่อไทยในปลายปี 2564 ที่ผ่านมา บรรดาสมาชิกเก่าๆ ที่ย้ายรังออกไปเพื่อความอยู่รอดในกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวครั้งก่อน บ้างออกไปตั้งพรรคใหม่เรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย 

ดูแล้วบิ๊กเนม และอดีตสมาชิก คงจะทยอยกลับกันมาอีกเยอะ เพราะพรรคเพื่อไทยได้เปรียบในกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เคยกวาด ส.ส.เข้าสภาได้ 200-300 คนมาแล้ว  

ยิ่งมีการเปิดตัว ‘นายหญิงเล็ก’ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวในไส้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีดีเอ็นเอ ตระกูลชิน แบบนี้ กระแสในภาคเหนือและอีสานพุ่งขึ้นไม่หยุด  

จะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยกลายเป็นเนื้อหอมอย่างมาก หลังกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบไปถึงฝั่งฝัน ไม่ถูกคว่ำหรือถูกหักหลังโดยสภา แต่มีการประกาศใช้แล้ว  

ประตูพรรคและหัวบันไดของเพื่อไทยคงไม่แห้งแน่ๆ  

ส่วนพรรคใหญ่อีกพรรคอย่างพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่พรรคอื่นๆ เตรียมทีมคืบหน้าไปมาก แต่ดูเหมือนพวกเขาจะยังติดหล่มวังวนความขัดแย้งอยู่ โดยเฉพาะปัญหาระหว่าง บิ๊กตู่ กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่วันนี้ยังทำสงครามจิตวิทยาใส่กันไม่เลิก 

แม้เป็นพรรคขนาดใหญ่ และยังกุมอำนาจ แต่ข่าวคราว ส.ส.ย้ายพรรคกลับถิ่นเก่ายังเล็ดรอดออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น 2 ส.ส.ชัยภูมิ ทั้งนายสมฤทธิ์ แทนทรัพย์ และนายเชิงชาย ชาลีรินทร์ ที่ตกเป็นข่าวจะเก็บข้าวเก็บของย้ายออกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย โดยช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไอเดียร์-น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ อดีตโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ลูกสาวนายสัมฤทธิ์ เพิ่งจะไปเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย 

รวมถึง 2 พ่อลูกช่างเหลา ทั้งนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวัฒนา ช่างเหล่า ส.ส.ขอนแก่น ที่ถูกโยงว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย หลังลูกชายอีกคนคือ นายพิทักษ์ชน ช่างเหลา ไปเปิดตัวเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเช่นเดียวกัน  

นอกจากนี้ ยังปรากฏข่าว ส.ส.อีสานหลายคน ที่เคยอยู่พรรคเพื่อไทย วางแพลนออกจากพรรคหลังสัญญาณเลือกตั้งชัดเจนกว่านี้ เพราะมองว่ากระแสของพรรคพลังประชารัฐนั้นไปต่อลำบาก หากเอากระแส บิ๊กตู่ ไปสู้ในพื้นที่อีสานและภาคเหนือ คงจะเหนื่อยเลือดตาแทบกระเด็น  

แต่กระนั้น มีแกนนำพรรคพลังประชารัฐระดับคีย์แมนระบุว่า พวกเขาไม่ได้ขวัญอ่อนกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะวันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะรีบโยกย้ายสำมะโนครัวการเมือง โดยหมายเหตุตัวโตๆ ไว้ว่า อย่าไว้วางใจการเมือง พวกที่แอบไปสังฆกรรมกับพรรคอื่นแล้ว หรือพวกที่เปิดตัวว่าไปแล้ว วันข้างหน้าอาจจะกลับลำแจ้นมาซบพรรคพลังประชารัฐอีกคำรบก็ได้ 

ไม่มีผู้มีอำนาจที่ไหนรู้ตัวว่าแพ้แล้วจะจัดเลือกตั้งให้ตัวเองแพ้ แต่ยังมีตัวแปรทางการเมืองหลายอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาอนาคตได้ อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติเมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว  

ทุกคนยังย้ายเข้าย้ายออกได้ ก่อนการลงสมัครรับเลือกตั้ง 90 วัน นี่คือ ช่องที่เปิดอ้าไว้ 

อีกทั้ง กระสุนดินดำ ที่ซ่องสุมไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรายหนึ่งถึงกับพูดว่า หากใครได้รู้ว่ามีมากมายขนาดไหน อาจจะรีบเบิ่งกลับมาหน้าตั้ง  

เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐจะต้องจัดการปัญหาภายในของตัวเองให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส ที่การดำรงอยู่ของเขาถูกมองว่าเป็นอุปสรรคอย่างมาก 

หาก ร.อ.ธรรมนัสยังอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ย่อมเคี้ยวข้าวไม่อร่อย ยากจะจับมือร่วมสู้ศึกเลือกตั้งได้ เช่นเดียวกับแกนนำของพรรคอีกหลายๆ คน  

ต่อให้ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะโอบอุ้มขนาดไหน แต่หลายคนเชื่อว่า สุดท้ายแล้วยากจะกอดไว้ได้ และต้องยอม บิ๊กตู่ ในที่สุด  

เพราะหากพรรคพลังประชารัฐจะเดินในสนามเลือกตั้ง โดยไม่ชู บิ๊กตู่ ก็ลำบาก เพราะชื่อนี้ยังคงขายได้ในพื้นที่ภาคใต้และ กทม. ตรงกันข้าม หากมีเพียง พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัส อย่างไรก็ไปไม่ได้ เนื่องจากแฟนคลับฝั่งนี้ค่อนข้างยี้กับ 2 ชื่อนี้ 

ฉะนั้น ถึงวันหนึ่ง ร.อ.ธรรมนัสก็ต้องหลบฉากออกไป หรือร้ายแรงสุดคือ เดินจากไป ซึ่งแน่นอนว่า การสะสางเรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้นในปีเสือแน่ ปล่อยคาราคาซังถึงการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะพรรคพลังประชารัฐจะไม่มีเวลาเตรียมตัวจัดทัพอะไรเลย 

ทุกวันนี้ บิ๊กตู่ เองก็ใช้จิตวิทยากดดันทางอ้อมไม่น้อย โดยเฉพาะข่าวคราวพรรคสำรอง พรรคสแตนด์บายที่เกิดขึ้นเพียบ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยสร้างสรรค์ของ เสี่ยตั๊น-ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่พร้อมเป็นนั่งร้านให้ ตลอดจนพรรคของ 4 กุมาร ของ นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน อดีตผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังทอดไมตรีที่ดีต่อ บิ๊กตู่ อยู่  

แล้วปี 2565 นี้ พรรคเหล่านี้จะทยอยเปิดตัวกันคึกคัก ย่อมต้องถูกจับเชื่อมโยงแน่ 

2 พรรคใหญ่ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกมองว่าจะเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าจึงน่าจะเป็นพรรคที่มีความเคลื่อนไหวโครมครามมากที่สุด  

ขณะที่พรรคใหม่ๆ ที่เริ่มติดหู อย่าง พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคกล้า ของนายกรณ์ จาติกวณิช แม้กระแสตอบรับจะดี แต่ถึงนาทีสุดท้ายยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร จะมีสมาชิกพรรคเข้าๆ ออกๆ เพราะต้านทานกระแสพรรคใหญ่ได้หรือไม่  

จะเป็นปีที่ตลาดการเมืองวุ่นวายที่สุดปีหนึ่ง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี