มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมโลก ตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ
โดยมีสาระสำคัญด้วยการ ลดค่าจดทะเบียนโอนจาก 2% และลดค่าจดทะเบียนจำนองจากเดิม 1% เหลืออย่างละ 0.01% ให้แก่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด คอนโดฯ ในราคาซื้อขายและประเมินราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ 10 เม.ย.-31 ธ.ค.67
สำหรับมาตรการนี้ผ่าน ครม.ไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ผ่านมา โดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดคัดค้าน เป็นไปตามข้อเรียกร้องและชงมาจากกลุ่มพ่อค้าขายบ้านรายใหญ่ พร้อมใจออกมาส่งเสียงให้ นายกรัฐมนตรี ออกมาตรการช่วยเหลือ เพราะมีบ้านค้างสต๊อกขายจำนวนมาก เหตุธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ แถมดอกเบี้ยยังแพง
นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และดรามาตามมาว่า มาตรการดังกล่าวส่อเข้าข่าย ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือ ขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflic of interest) หรือไม่ ตรงตามข้อห้ามรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง ในฐานะผู้ออกมาตรการนี้ ซึ่งก่อนหน้าเคยเป็น ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แม้ปัจจุบันในทางกฎหมายจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับบริษัทขายบ้านรายใหญ่ของประเทศแล้ว แต่ในทางพฤตินัยก็ต้องดูว่ามีอะไรเชื่อมโยงกันหรือไม่
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ หรือแบงค์ สส.กทม.พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งข้อสังเกตในชื่อเรื่อง "รู้ทันรัฐบาล กับมาตรการ #ลดค่าโอน แผนลับ ‘ประเคนภาษี’ ให้บริษัทอสังหาฯ แบบเนียนๆ" โดยมีรายละเอียดว่า สมมติ อสังหาฯ 1 ล้านบาท ค่าโอน 2% ปกติคนซื้อและคนขายจะจ่ายคนละ 1% แต่เมื่อมีการปรับลดเหลือ 0.01% ผู้ขาย และผู้ซื้อจะประหยัดไปคนละ 9,950 บาท ส่วนค่าจดจำนอง 1% ปกติผู้ซื้อเป็นคนจ่าย ถ้าลดเหลือ 0.01% ของวงเงินกู้ กรณีกู้ 100% ผู้ซื้อจะประหยัด 9,900 บาท กรณีคอนโดฯ ราคา 7 ล้านบาท และกู้ 100% ผู้ซื้อจะประหยัด 138,950 บาท ผู้ขายจะประหยัด 69,650 บาท ฟังแล้วดูเหมือนมาตรการนี้ช่วยผู้ซื้อมากกว่าผู้ขายใช่ไหมครับ? แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่
ถ้าไปดูโปรโมชั่นของบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่ แบรนด์ดังหลายเจ้าปกติเขาจะมีโปร “ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน” ให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว นั่นหมายความว่ามาตรการของรัฐบาล ผู้ซื้อจำนวนมากจะไม่ได้ประหยัดอะไรเพิ่ม แต่คนที่จะประหยัดเงินจริงๆ คือ “บริษัทอสังหาฯ” ที่ออกโปรโมชั่นฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน รวมแล้วเกือบ 3% ของมูลค่าอสังหาฯ หรือสูงถึง 208,600 บาทต่อยูนิต
แถมมาตรการดังกล่าวคือแคมเปญชวนเชื่อชั้นดีให้คนที่ไม่ทราบว่าปกติหลายบริษัทเขามีโปรฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน หันมาซื้อในช่วงนี้ เปิดทางให้บริษัทอสังหาฯ ได้ระบายสต๊อกแบบเนียนๆ
"นี่คือการเอาเงินภาษีไปคืนให้บริษัทอสังหาฯ แบบเนียนๆ และในเมื่อรัฐออกมาตรการนี้มา ผมขอให้ผู้ซื้อทุกคนรู้ทันรัฐบาล ต่อราคาเซลส์เพิ่มไปเลย 3% ครับ" สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าว
ขณะที่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สะท้อนว่าเป็นแนวนโยบายที่น่ากังวล ไปจนถึงเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลเศรษฐา ว่า ประเด็นแรกคือ ที่มาของการทบทวนมาตรการลดค่าธรรมเนียมรอบนี้ รัฐบาลอ้างว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา และ ข้อมูลจากภาคอสังหาฯ พบว่าบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทที่เหลือขายมีจำนวนไม่มาก
แต่บ้านราคา 3-7 ล้านบาทที่ยังเหลือขายมีจำนวนสูงถึง 46% หรือในอีกความหมายหนึ่ง บ้านค้างสต๊อกของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ราคา 3-7 ล้านบาทต่อหลัง ไม่ใช่ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหลัง ซึ่งข้อมูลนี้มาจากการแถลงข่าวของรัฐบาลเอง
"จะมีอะไรเหมาะเจาะไปกว่านี้ เพราะช่างเป็นเหตุบังเอิญที่ว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาก็ดันเคยเป็นอดีตผู้บริหารและเจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศไทย และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็จะกลายเป็นผู้ได้ประโยชน์จากมาตรการเช่นนี้ จึงขอตั้งคำถามตัวโตๆ กับมาตรการของรัฐบาลนี้ว่า เป็นมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ช่วยให้คนรายได้น้อยมีบ้าน หรือเพื่อกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ให้โละบ้านค้างสต๊อกให้หมด" สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าว
ด้าน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องเลิกหมกมุ่นและตีทุกมาตรการของรัฐบาลเป็นการเอื้อนายทุนได้แล้ว เพราะรัฐบาลมุ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างผลกระเทือนต่อการเติบโตเศรษฐกิจในวงกว้าง มิได้จำกัดเพียงรายเล็ก รายใหญ่ หรือนายทุนเจ้าใด
"รัฐบาลที่เก่ง ต้องมองให้ขาด และมุ่งสร้างการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ เพราะจะสร้างรายได้ใหม่ที่เพิ่มเติมกลับมาให้รัฐ แต่หากมัวแต่หวงแหนผลประโยชน์ระยะสั้น หรือเกรงว่าคนนั้นคนนี้จะได้ประโยชน์แบบที่ฝ่ายค้านตั้งแง่ มาตรการใดๆ คงไม่เกิด และประเทศคงเสียโอกาสอีกมากมาย" นายชนินทร์ สส.ฝั่งรัฐบาลกล่าว
ต้องจับตาดูว่า พรรคก้าวไกลจะขยายผลนโยบายนี้จะเอื้อประโยชน์ใคร และจะกลายเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย รวมถึงจะสะดุดสายตาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอิสระอื่นๆ หรือไม่ หรือเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจดังที่รัฐบาลตั้งใจไว้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’
ดุลอำนาจใหม่"ป.ป.ช." ในคอนโทรล 167 สว.สีน้ำเงิน
วันอังคารที่ 29 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้าย ก่อนปิดสมัยประชุม 30 ต.ค.