หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อยู่ในสภาพชะงักงัน ไม่สามารถเดินหน้า”ดิจิทัลวอลเล็ต”ให้เป็นไปตามไทม์ไลน์เดิมที่เคยวางไว้คือ จะแจกเงินประชาชนคนละหนึ่งหมื่นบาท ได้ภายในวันที่ 1 พ.ค. 2567
ซึ่งแผนเดิมคือจะออกเป็นกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินมาแจกประชาชนโดยเฉพาะร่วมๆ ห้าแสนล้านบาท
แต่เมื่อเจอแรงสกัดอย่างหนักหน่วง จากหลายฝ่ายที่ออกมาส่งเสียง คัดค้าน-ท้วงติงไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอาทิเช่น นักวิชาการ -นักเศรษฐศาสตร์ -อดีตผู้เกี่ยวข้องในวงการการเงินการธนาคารเช่น สองอดีตผู้ว่าการธปท. นายวิรไท สันติประภพ และนางธาริสา วัฒนเกษ รวมถึงความเห็นอย่างเป็นทางการ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ส่งเอกสารข้อทักท้วงถึงรัฐบาลโดยตรง โดยแสดงเป็นห่วงในเรื่องหากมีการออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาทมาแจกประชาชน จะเป็นวิธีการที่สร้างความเสี่ยงหลายด้านเช่นความเสี่ยงด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่อาจเปิดช่องให้มีการทุจริตฯ เป็นต้น
รวมถึง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ก็มีการตั้งคณะทำงานมาศึกษาเรื่องดังกล่าว ผลการศึกษาทางสตง.ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐ หากรัฐบาลจะใช้วิธีการออกกฎหมายกู้เงินมาแจกประชาชน และเสนอแนะว่าหากรัฐบาลจะทำ ก็ควรใช้งบประมาณจากกฎหมายงบประมาณปกติจะเหมาะสมกว่า
ทั้งหมดเลยทำให้ เศรษฐา และกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เลยถอยร่นไม่เป็นขบวน ไม่กล้าเดินหน้าลุย เพราะเกรงจะเกิดปัญหาข้อกฎหมาย ถึงขั้นอาจมีปัญหาเรื่องคดีความตามมาโดยเฉพาะเรื่อง การทำผิดพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ และหากดันทุรังเข็นต่อไป โดยไม่ปิดช่องโหว่ สุดท้าย ก็อาจสะดุดได้ ถ้ามีคนไปร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าจะมีการออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน
แต่เมื่อเรื่องนี้คือนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย ที่มีเดิมพันสูง เพราะหากรัฐบาลเพื่อไทย โยนผ้าขาวกลางคัน ไม่ทำต่อ จะทำให้เสียเครดิตการเมือง เสี่ยงที่การเลือกตั้งรอบหน้า เรื่องนี้จะทำให้เป็นจุดโจมตีทางการเมืองของพรรคการเมืองคู่แข่งได้ ทำนอง ขายฝัน-หลอกประชาชน สุดท้ายทำไม่ได้จริง
ทำให้ รัฐบาลเพื่อไทย ต้องดันให้สุดทางเดิน คือทำให้ประชาชนเห็นไว้ก่อนว่าพยายามแล้ว แต่หากไปต่อไม่ได้ ก็ค่อยโยนว่าโดนสกัดกั้น จากบางฝ่ายที่ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เข้าใจสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยที่มีปัญหา จึงต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และโยนว่าที่โดนสกัดเพราะไม่อยากให้เพื่อไทยได้คะแนน แต่หากดิจิทัลวอลเล็ต เดินต่อไปได้ โดยหาถนนเส้นใหม่ เพื่อไปให้ถึงปลายทาง หลังเส้นทางเดิมติดขัดไปต่อยาก ซึ่งถ้าทำสำเร็จ เพื่อไทยก็เชื่อว่า ถ้าประชาชนทั้งประเทศได้เงินเข้ากระเป๋าคนละหนึ่งหมื่นบาท ก็จะทำให้รัฐบาลเพื่อไทย ได้คะแนนนิยมสูง จนเพิ่มเรตติ้งให้กับรัฐบาล
จึงไม่แปลก ที่รัฐบาลเศรษฐา พยายามเข็นดิจิทัลวอลเล็ตออกมาให้ได้ เพราะมองว่ายังมีช่องทางไปได้อยู่ ทำให้ เศรษฐาในฐานะรมว.คลัง จึงให้กระทรวงการคลังไปหาวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การออกกฎหมายกู้เงินฯ
จนในที่สุด ก็ได้ข้อสรุป จนเกิดเป็นการแถลงใหญ่เมื่อวันพุธที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา อันเป็นข้อสรุปที่เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ฯ ที่มีสาระสำคัญหลักๆ
เช่น”แหล่งที่มาของงบประมาณที่ใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งถือเป็น ปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐบาล ที่ไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้เลยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากหากจะทำดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท แต่สุดท้าย ก็ได้ข้อสรุป ตามคำแถลงของ”ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง -บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต”ที่บอกว่า งบที่ใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ตจะมาจาก3 ส่วน
คือ 1.งบประมาณปี 68 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้มีการขยายกรอบวงเงินในปี 68 เรียบร้อย
2.จากการดำเนินการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านกลไกมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68
3.มาจากการบริหารจัดการเงินงบประมาณของปี 67 ของรัฐบาลเอง จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะพิจารณาว่า งบรายจ่ายอันไหนปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลาง อาจจะมีการนำมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ
และอีกประเด็นที่สำคัญคือ “ผู้ได้รับสิทธิ์-กลุ่มเป้าหมาย” เคาะออกมาแล้วว่าจะมีด้วยกันประมาณ 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์คือ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษีและมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
โดยประชาชนและร้านค้าสามารถลงทะเบียน เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เช่นกัน
ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่า จากที่จะมีประชาชนได้สิทธิดังกล่าวร่วม 50 ล้านคน ทำให้เมื่อดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้ว จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบร่วม 5 แสนล้านบาทจะทำให้ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 1.2 - 1.8
แน่นอนว่า หลังจากนี้ ก็จะมีคนออกมาให้ความเห็น- วิพากษ์วิจารณ์ถึงรายละเอียดตามที่รัฐบาลแถลงไปเมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เช่นเรื่องเกี่ยวกับร้านค้าที่จะได้เข้าร่วมโครงการ เป็นต้น
ซึ่งหากทุกอย่างเดินไปตามนี้ ไม่มีอะไรสะดุด อย่างน้อย ก็พอทำให้เห็นทิศทางได้ว่ามีโอกาสสูงที่ คนไทยหลายสิบล้านคน จะได้ดิจิทัลวอลเล็ตคนละหนึ่งหมื่นบาทกันถ้วนหน้า
ส่วนผลระยะยาวทางการเมือง จะทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลเพื่อไทย กระเตื้องขึ้นหรือไม่ คงต้องรอวัดกันหลัง เริ่มมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตกันทั้งประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน