สถานการณ์ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ขณะนี้หลังกองกำลังผสม นำโดยกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) ยึดฐานทหารพม่าได้ 3 ฐาน และในฐานบัญชาการมีการมอบตัวซึ่งกองกำลังผสมสามารถควบคุมเมืองเมียวดีได้ 90% แต่ยังมีที่ค้างอยู่ 1 ฐาน คือ ค่ายผาซอง ห่างจากแนวชายแดนไทยประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บก.พัน.ร.275, กองพันปืนใหญ่ที่ 310 และ บก.พล.ร.เบา 44 ส่วนหน้า ซึ่งในค่ายผาซองมีกำลังพลอยู่ประมาณ 400 คน แนวโน้มสถานการณ์จะนำไปสู่การเสียพื้นที่ และสูญเสียอำนาจในการปกครอง
กลุ่มต่อต้านเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้อยู่ แต่ตลอดช่วงเช้าถึงบ่ายวานนี้ ฝ่ายทหารเมียนมาในค่ายนี้ยังไม่ตอบรับ เนื่องจากเป็นที่ตั้งสำคัญ และมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงคือ ผบ.พล.ร.เบา 44 อยู่ด้วย แต่คาดว่าฝ่ายทหารเมียนมาไม่สามารถส่งกำลังมาเพิ่มเติม หรือให้การสนับสนุนได้ อาจจะต้องรอดูผลการต่อรองในที่สุด
จากจุดเริ่มของพันธมิตรกลุ่มต่อต้าน 3 กลุ่มหลักภายใต้ชื่อ กลุ่มภราดรภาพ ที่มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง ตะอาง อาระกัน ในการใช้กำลังเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ ในเมียนมาซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงในการสู้รบ อีกทั้งมีตัวแปรสำคัญคือมีประชาชนเข้าร่วมในกองกำลัง รวมทั้งกลุ่มย่อยอื่นๆ ด้วย
ฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้จากกลุ่มต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นธรรมชาติทางทหารต่อเรื่องขวัญกำลังใจ เมื่อเห็นว่าฐานที่มั่นอื่นๆ ถูกโจมตีและสูญเสีย และมีกำลังพลที่ยอมจำนนและหนีทัพเป็นจำนวนมาก รวมถึงอาวุธฝ่ายทหารเมียนมาถูกยึดไปอยู่ในการครอบครองของกลุ่มต่อต้าน ส่งผลให้เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพให้ฝ่ายรุก ทำตลอด 6 เดือนที่ผ่านมากลุ่มต่อต้านจึงได้รับชัยชนะอย่างเห็นได้ชัด
ย้อนกลับมาที่เมือง “เมียวดี” ซึ่งถือเป็น เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ ยุทธวิธีการรบเป็นไปในลักษณะการชิงเมือง ซึ่งมีนัยทางด้านสงครามและเรื่องการค้า ผลประโยชน์ปนๆ กันอยู่ เนื่องจากเมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการค้า ที่ตั้งของธุรกิจสีเทาจากจีนเข้ามาปักหลักสร้างอาณาจักร รวมถึงมีการลงทุนสร้างหมู่บ้านจัดสรรขึ้นมาในพื้นที่กว้างขวาง ทำให้มีเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในนี้จำนวนไม่น้อย ทหารเมียนมาจึงต้องพยายามปกป้องเมืองเมียวดีเอาไว้
ที่สำคัญ มี “หม่อง ชิต ตู่” อดีตแกนนำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ถอนตัวจากรัฐบาลเมียนมา แต่ตอนนี้ตั้งตัวเป็นคนกลางดูแลไม่ให้เมือง “เมียวดี” เป็นสนามรบ เนื่องจากกลุ่มของ “หม่อง ชิต ตู่” มีผลประโยชน์จากการค้าขายในเมืองเมียวดี ขณะเดียวกันผลประโยชน์ของจีนก็ให้ “หม่อง ชิต ตู่” ดูแลด้วย
สำหรับผลกระทบต่อไทย ต้องยอมรับว่าเมืองเมียวดีรับสินค้าจากฝั่งไทยจำนวนมาก ผู้ประกอบการไทยค้าขายกับเมียนมาหลายสิบปีก็จะเกิดความระส่ำระสายพอสมควร แต่ปัจจุบันก็ยังเห็นว่ามีการเปิดทำมาค้าขายอยู่เป็นปกติ เพราะ “หม่อง ชิต ตู่” เป็นผู้คุมเกม และประสานงานเพื่อไม่ให้เกิดการสู้รบที่หนักไปกว่านี้
สถานการณ์ในภาพรวมเชื่อว่าผู้นำเมียนมารู้ดีว่ากองทัพของตนเองเสียหลักไปมาก คนที่เข้ามาประสานงานในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือฝ่ายจีน โดยการเชิญทุกฝ่ายที่สู้รบ รวมถึงฝ่ายรัฐบาลเมียนมาไปคุยกันที่เมืองคุนหมิง 4 ครั้ง และที่ปักกิ่ง 1 ครั้ง เพื่อพยายามดูแลสถานการณ์ในเมียนมาไม่ให้เกิดความรุนแรงมากไปกว่านี้ เพราะผลประโยชน์ของจีนมีทั้งก๊าซ น้ำมัน ท่าเรือน้ำลึก การลงทุนต่างๆ มีมูลค่ามหาศาล
มีการคาดการณ์ในอนาคตว่า หากฝ่ายกะเหรี่ยงหรือกลุ่มต่อต้านสามารถยึดเมืองเมียวดีไว้ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิด 2 ประการคือ ฝ่ายเมียนมาสามารถเจรจากับกลุ่มกะเหรี่ยงได้ มีการแบ่งภาษีกัน ก็จะทำให้การค้าขายสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และหากฝ่ายเมียนมาใช้ความรุนแรงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในแหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ ก็จะเกิดผลกระทบกับประเทศไทย คือ น่าจะมีผู้อพยพหนีข้ามมาเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน มองว่า ผลกระทบกับไทยอย่างแรกคือผู้หนีภัยจากการสู้รบ อย่าลืมว่าสถานการณ์ในบริเวณชายแดนประเทศเมียนมาไม่ได้เพิ่งเกิด ปัจจุบันมีผู้ตกค้างอยู่ในประเทศเราถึง 9 หมื่นคนที่อยู่ใน 7 ศูนย์อพยพ ต้องใช้งบประมาณในการดูแลพอสมควร ดังนั้นเราต้องเข้มแข็ง และมีความชัดเจนในการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างมีขอบเขต ภายใต้หลักการที่เรายังต้องทำต่อไป ส่วนแนวโน้มสถานการณ์จะไปทางไหนเชื่อว่า ทางเมียนมาคงไม่ได้ล่มสลายภายในปีเดียว แต่จะค่อยๆ ทรุดลง
พลเอกนิพัทธ์มองว่า ครั้งนี้กองทัพเมียนมาสูญเสียมาก กลุ่มต่อต้านสามารถตีรุกคืบได้หลายเมือง ยิ่งทำให้กลุ่มกองกำลังต่างๆ ฮึกเหิมและห้าวหาญมากขึ้น ซึ่งกองทัพเมียนมารู้ดีว่าเขาเสียหลักไปมากเหมือนกัน เมื่อถามถึงแนวคิดในการใช้กำลังทางอากาศเข้ายึดพื้นที่คืนในเมืองเมียววดีนั้น พลเอกนิพัทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเขาใช้สูตรนี้ในการตอบโต้ฝ่ายต่อต้าน แต่สำหรับเมืองเมียวดีนั้นเชื่อว่าจะไม่ใช้แนวทางนี้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจและมีตัวประสานเป็นการนำกลุ่มที่ดูแลผลประโยชน์ตรงนี้อยู่ จึงเชื่อว่าจะใช้การต่อรองกันเป็นหลัก
ในส่วนของไทย ในการเป็นตัวกลางเจรจานั้น พลเอกนิพัทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการจะไปบอกให้ทุกฝ่ายหยุดการสู้รบ เพราะสงครามในเมียนมาเป็นเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มที่ต้องการเป็นรัฐอิสระ บทบาทหลักน่าจะอยู่ที่จีน และญี่ปุ่น รวมถึงอินเดีย ที่ช่วยด้านการพัฒนา โดยเฉพาะจีนแสดงบทบาทมาตั้งแต่ต้นและมีความใกล้ชิดกับทางเมียนมา ซึ่งคงต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไป
ขณะที่ นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ที่กองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูได้ยึดเมืองเมียวดี ตรงข้ามแม่สอด และในขณะนี้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามข้ามแดนมาแล้วบางส่วนนั้น ในเรื่องนี้คณะ กมธ.ต่างประเทศได้เคยมีข้อเสนอแนะถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ข้อ ซึ่งยังใช้ได้ทุกข้อ ดังนี้ รีบตั้งกลไกติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด, มีแผนรองรับผู้อพยพหนีภัยสงครามและผลกระทบการสู้รบในเมียนมา, ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ครอบคลุมทั้งคนเมียนมาและชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลจากการสู้รบ, ผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาโดยผ่านกลไก "ทรอยก้าพลัส" ไทยควรเป็นหัวหอกเชิญประธานอาเซียน จีน อินเดีย เข้ามาผลักดันการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตรงเป้าที่สุดและได้จังหวะเวลาที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ดิ้นหนัก! 'โรม' ชี้ 'พรรคประชาชนพม่า' เป็นเฟกนิวส์ ลั่นรักษาผลประโยชน์คนไทยมาตลอด
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน จัดแถลง Policy Watch ในเรื่องประเทศไทยควรทำอย่างไรกับปัญหาเมียนมา
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย