เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

ล่าสุดหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อ 27 มี.ค. “เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.การคลัง” ในฐานะประธานบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ออกมาสำทับอีกรอบ ว่ารัฐบาลเดินหน้าต่อ ไม่มีถอย และจะมีข่าวดีให้กับประชาชนที่รอคอยเงิน 10,000 บาทดังกล่าว ในการประชุมบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนัดสำคัญ 10 เม.ย.

อันเหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่า ผลประชุมดังกล่าว จะเป็นข่าวดีที่รัฐบาลให้กับประชาชนในช่วงหยุดยาวสงกรานต์

                    “วันที่ 10 เม.ย.ได้ข้อสรุปทั้งหมด และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือน เม.ย. ยืนยันกรอบไทม์ไลน์ตามที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง แถลงคือ ไตรมาสที่ 3 ลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน และไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน คอยฟังข่าวดีในวันที่ 10 เม.ย.” นายกฯ ระบุ

โดยผลการประชุมเมื่อ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา สรุปประเด็นสำคัญๆ ออกมา เช่น ที่ประชุมให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปดูเรื่อง แหล่งเงิน-ที่มาของงบประมาณ ในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะใช้รูปแบบใดได้อีกบ้าง นอกเหนือจากที่รัฐบาลเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้คือ จะมีการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินห้าแสนล้านบาทมาทำดิจิทัลวอลเล็ต นอกจากนี้ให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้ามาเสนอต่อที่ประชุมกรรมการ และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมไปสรุปการพัฒนาระบบเพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ เป็นต้น 

โดยทั้งหมดให้นำเสนอรายงาน-ข้อสรุปต่อที่ประชุมบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วันที่ 10 เม.ย.

เมื่อเป็นเช่นนี้ การประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 10 เม.ย. จึงเป็นการประชุมสำคัญที่จะทำให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนว่า เมื่อรัฐบาลประกาศเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตเต็มสูบ แล้วมติของที่ประชุมที่ให้เดินหน้าเรื่องนี้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไปในเดือนเดียวกัน สุดท้ายแล้วกรรมการบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตจะเห็นพ้องโดยเอกฉันท์หรือไม่ จะมีใครงดออกเสียง หรือใช้วิธีไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อเพลย์เซฟตัวเอง เพราะเกรงจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตหรือไม่ รวมถึงกระบวนการในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะออกมาอย่างไร

 ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกับการประชุมบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10 เม.ย.นี้

สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนับแต่พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายดังกล่าว ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อปี  2566 จนถึงปัจจุบัน

จะพบว่า ข้อทักท้วง-เสียงเตือน รวมถึงคำถามจากสังคม ที่มาจากฝ่ายต่างๆ จะอยู่ที่ 2 ปมใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็เคลียร์ไม่ได้กระจ่างชัด คือ

หนึ่ง-แหล่งที่มาของงบประมาณที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตจะมาจากแหล่งใด จะใช้วิธีการแบบไหน

สอง-ทำได้ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หรือไม่ ทำแล้วจะผิดกฎหมายหรือไม่  

ทั้ง 2 เรื่องนี้คือจุดที่ทำให้การเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลมีปัญหาติดๆ ขัดๆ

จนทำให้รัฐบาลต้องปรับกระบวนท่าใหม่ เช่น ลดคุณสมบัติคนที่จะได้เงินลงมา จากเดิมที่จะให้คนไทยทุกคน ที่อายุเกิน 16 ปี ได้คนละ 10,000 บาท เหมือนกันหมด แต่พอเจอปัญหาเรื่องงบประมาณ ก็เพิ่มเงื่อนไขเป็น ต้องมีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากไม่ถึง 500,000 บาท พร้อมกับที่คนในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยโหมสร้างกระแสเศรษฐกิจประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤต หากไม่มีการใช้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า ประชาชนเดือดร้อน เพื่อสร้างกระแสให้คนเห็นด้วยกับการแจกเงินดังกล่าว

หลังที่ผ่านมา รัฐบาลเจอแรงต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก ทั้งนักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์-อดีตข้าราชการประจำ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีเครดิตทางสังคมสูง เช่น วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงขั้นมีการทำจดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการ-นักเศรษฐศาสตร์-อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ ร่วม 100 คนเพื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว

ทำเอารัฐบาลเศรษฐาไปไม่เป็น เสียขบวนไปยกใหญ่

แล้วยิ่งมาเจอความเห็นขององค์กรอิสระ ทั้งจาก สำนักงานป.ป.ช. ที่ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงของนโยบายดังกล่าว รวมถึงความเห็นจาก คณะทำงานที่ศึกษานโยบายดังกล่าวของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่เสนอแนะว่ารัฐบาลต้องรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงความเห็นของกรรมการกฤษฎีกา หลังจากรัฐบาลทำหนังสือถามความเห็นไป

ทั้งหมดทำให้รัฐบาลเศรษฐา จากเดิมที่จะเร่งแจกเงินให้ได้ก่อนสงกรานต์หรือช้าสุด ภายในวันที่ 1 พ.ค. ถึงกับออกอาการชะงัก ถอนคันเร่งทันที เพราะเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้วกับโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  

แต่ดูเหมือนวันนี้รัฐบาลจะมั่นใจมากขึ้นว่ามีช่องทางที่ไปต่อได้ จึงทำให้ท่าทีของทั้งเศรษฐา-จุลพันธ์ เลยดูจะมั่นใจว่าเข็นต่อได้ หากปลดล็อก เสียงคัดค้านแต่ละปมได้ ซึ่งตรงนี้ก็เริ่มพอเห็นบ้างแล้ว ดูได้จากการที่ “ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง” ที่เป็นบอร์ดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตด้วย เปิดเผยถึง แหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการที่มีวงเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยขณะนี้มี 3 แนวทางที่เป็นไปได้

แนวทางแรกคือ การใช้เงินกู้เพื่อดำเนินโครงการอย่างเดียว ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการหารือกันมาก่อนหน้านี้ 

แนวทางที่สองคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายปกติเข้ามาทำดิจิทัลวอลเล็ต เพราะช่วงนี้รัฐบาลเองก็กำลังจัดทำรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2568 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โครงการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็สามารถที่จะดำเนินการได้ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนวงเงินในการจัดทำงบประมาณปี 2568 ซึ่งยอมรับว่า เงื่อนไขตรงนี้ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน แต่ขณะนี้มีทางเลือกในการใช้งบประมาณ 2568 เข้ามาใช้ในโครงการนี้เป็นทางเลือกเพิ่มเติม

แนวทางที่ 3 คือการใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากมีความเหมาะสม

โดย ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ทั้งหมดจะได้ความชัดเจนในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยจะมีการแถลงให้ประชาชนรับทราบรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง

ดูตามนี้ก็มีความเป็นไปได้ ที่แหล่งงบประมาณที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตหลายแสนล้านบาท อาจจะมาจากทางเลือกที่ 2 หรือ 3 ตามคำเปิดเผยของปลัดคลัง แต่จะใช่หรือไม่ หรือจะมีทางเลือกที่ 4 เกิดขึ้นอีก รอติดตามผลประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต 10 เม.ย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

แอคชั่นทันที! นายกฯมาเอง ลงพื้นที่ห้วยขวาง สั่งสอบป้ายโฆษณาขายพาสปอร์ต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สน.ห้วยขวาง ติดตามสอบถามข้องเท็จถึงกรณีที่พบมีการติดแผ่นป้ายโฆษณาซื้อขายหนังสือเดินทางและพาสปอร์ตที่แยกห้วยขวาง พบว่ามีการขึ้นป้ายดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2567 เนื้อหาเป็นข้อความเกี่ยวกับการรับจ้างทำหนังสือเดินทาง

'เศรษฐา' อย่าสับสน! โพลวัดผลงาน ไม่ใช่เรตติ้งนายกฯ

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อย่าสับสน !!! ระหว่างผลงาน กับการเลือกนายกฯ คนต่อไป

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)