โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ
จากนโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันที กลายเป็นนโยบายเร่งไม่ขึ้นที่ไม่รู้จะเริ่มได้เมื่อไหร่
รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เจอสารพัดอุปสรรคตั้งแต่ออกสตาร์ทโครงการ เริ่มตั้งแต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศร่วม 100 คนลงชื่อคัดค้าน ต่อเนื่องมาถึงข้อท้วงติงทางกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทั้ง พ.ร.บ.เงินตรา ฯลฯ มาจนถึงข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล ที่แม้ประกาศว่าพร้อมจะสนับสนุน แต่ทุกพรรคมีหมายเหตุตัวโตด้วยกันทั้งสิ้นว่า ต้องถูกกฎหมาย
สารพัดขวากหนาม สารพัดแนวต้าน แต่ด้วยปัจจัยที่ถอยไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายเรือธงที่ใช้ในการหาเสียง ไม่ต่างจากนโยบายจำนำข้าวครั้งที่แล้ว รัฐบาลจึงยอมกลืนเลือด ลดเงื่อนไขเป็นไม่ได้แจกทุกคน มาเป็นกำหนดสเปกคนที่จะได้ใหม่
แต่ขนาดลดสเปก ไม่ได้แจกทุกคน ก็ยังเจอปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย โดยเฉพาะคำว่า ‘วิกฤต-เร่งด่วน’ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่รัฐบาลไม่สามารถปลดล็อกได้
หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ทั้งกระทรวงการคลัง ทั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นบวกในการดำเนินโครงการ แต่กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือหน่วยงานเดียวที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ไม่สามารถเอาชนะและทำให้เห็นคล้อยตามได้ว่าเศรษฐกิจมันวิกฤตแล้ว
ขนาดองคาพยพในรัฐบาลพยายามเล่นสงครามจิตวิทยาทุกครั้งก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อให้ลดอัตราดอกเบี้ย แต่จนแล้วจนรอด เหมือนรัฐบาลเตะบอลอัดใส่กำแพง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีนายเศรษฐาเป็นประธาน ประชุมเรื่องนี้กัน แต่สิ่งที่ได้ไม่ใช่ความคืบหน้า หากแต่เป็นการซื้อเวลา ด้วยการให้คณะกรรมการกลับไปรวบรวมข้อเท็จจริง และศึกษาเรื่องต่างๆ อีก 30 วัน จนบัดนี้ครบกำหนดแล้ว
กระทั่งอยู่ๆ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ออกมาแถลงความคืบหน้า พร้อมกับไทม์ไลน์ที่ชัดเจนมากขึ้น
เป็นการแถลงที่ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต เป็นการชิงจังหวะเปิดไทม์ไลน์เพื่อดึงความสนใจจากสงครามน้ำลายของ สว.ในเวทีซักฟอกเมื่อวันจันทร์ ซึ่งพุ่งเป้าอัดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท
แต่อย่างไรก็ดี ไทม์ไลน์ของนายจุลพันธ์ที่กางออกมา ถือว่า เป็นครั้งที่มีความชัดเจนมากที่สุดครั้งหนึ่ง นั่นคือ วันที่ 27 มี.ค. จะมีการรายงานให้คณะกรรมการชุดต่างๆ ได้หารือกัน เพื่อนำข้อสรุปทั้งหมดส่งให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่มีนายเศรษฐาเป็นประธานในวันที่ 10 เม.ย.
โดยวันที่ 10 เม.ย. คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่จะสรุปข้อมูลทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อเดินหน้าโครงการ
ขณะที่ไตรมาส 3 ปีนี้คาดว่า หลัง ก.ค. จะมีการเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้า และภายในไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าหลังเดือน ต.ค. จะเติมเงิน 1 หมื่นบาทไปสู่ประชาชน
“รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการนี้อย่างแน่นอน จะทำให้เงินถึงมือประชาชนภายในไตรมาส 4 ปีนี้แน่ โดยยังยืนยันเงื่อนไข เดิมกรอบที่ 50 ล้านราย” นายจุลพันธ์ระบุ
ถือเป็นการแสดงความมั่นใจและกางไทม์ไลน์ที่ชัดมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการระบุว่าจะเติมเงินให้ประชาชนในไตรมาสที่ 4 เลย
ขณะที่องคาพยพอื่นๆ ในรัฐบาลก็แสดงความมั่นใจเช่นกัน อย่างเช่น นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และทนายความตระกูลชินวัตร ที่ออกมายืนยันว่ารัฐบาลมีทีเด็ดในการบริหารจัดการการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้ทำได้แน่นอน และการดำเนินการเป็นไปโดยชอบตามกฎหมาย
ความมั่นใจที่เกิดขึ้นถูกจับจ้องว่าเป็นเพราะเรื่องนี้ได้รับสัญญาณไฟเขียวแล้วหรือไม่
เพราะถ้าจะให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สร้างความนิยมเพื่อนำไปต่อสู้กับพรรคก้าวไกล ก็จำเป็นต้องให้อาวุธไปสร้างผลงาน ซึ่งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มันมีผลต่อรังวัดของพรรคเพื่อไทยในกรณีทำได้หรือไม่ได้ทำ
เมื่อจะใช้ก็ต้องให้โอกาสทำ!
เพียงแต่ได้ทำมาก หรือทำน้อย ต้องติดตามในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งจะมีข้อสรุปออกมาจากคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่
ทั้งเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ทั้งเรื่องผู้ที่จะได้รับ ซึ่งมีโอกาสสูงว่าจะเป็นเงื่อนไขจากครั้งล่าสุดที่ได้ราวๆ 50 ล้านคน และไม่น่าลดไปแจกให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางเหมือนข้อแนะนำของ ป.ป.ช.ที่ถอยจากธงแรกมากเกินไป
หากรัฐบาลคิดว่าไม่สามารถทำได้แล้ว และทำได้แค่ซื้อเวลาไปวันๆ เหมือนก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ไม่น่าจะหลุดไทม์ไลน์ออกมาชัดเจนแบบนี้เพื่อมัดตัวเอง
ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในวันที่ 10 เม.ย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
จับตา นายกฯอิ๊งค์ นั่งบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ เคาะแก้หนี้ - แจกเงินหมื่นรอบใหม่
"คลัง" เตรียมชงบอร์ดนโยบายฯ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจใหญ่ 19 พ.ย.นี้ เดินหน้า "แก้หนี้-อุ้มอสังหาฯ-มาตรการภาษี-ดิจิทัลวอลเล็ต" ปูพรมกระตุ้นตั้งแต่ปลายปีนี้- จนถึงปีหน้า
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า